WORLD WAR Z 20 มิถุนายนนี้ ทุกโรงภาพยนตร์

ในวันธรรมดาวันหนึ่ง เจอร์รี่ เลนและครอบครัว พบว่าการเดินทางบนท้องถนนที่เคยเงียบสงบของพวกเขา ต้องเผชิญหน้ากับการจราจรติดขัดกลางเมือง เลนที่ในอดีตเคยเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนขององค์การสหประชาชาติ รู้สึกว่านี่ไม่ใช่รถติดธรรมดา และเมื่อมีเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจบินอยู่ร่อนอยู่เหนือท้องฟ้า และมีมอเตอร์ไซค์ของตำรวจวิ่งไปมาอยู่เบื้องล่าง ทั้งเมืองต้องเผชิญกับเหตุโกลาหล

บางสิ่งบางอย่างกำลังเป็นเหตุให้ผู้คนทำร้ายกันอย่างรุนแรง มันคือเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายได้ผ่านการโดนกัดเพียงครั้งเดียว และเปลี่ยนมนุษย์ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่จดจำอดีตไม่ได้ ไม่มีความรู้สึกรับรู้ ไม่มีความคิด และดุร้าย เพื่อนบ้านหันมาทำร้ายเพื่อนบ้าน คนแปลกหน้าที่มีน้ำใจช่วยเหลือจู่ๆ ก็กลายเป็นศัตรูตัวร้าย ต้นกำเนิดของไวรัสชนิดนี้ยังไม่ทราบที่มา และจำนวนคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน จนกลายเป็นโรคระบาดไปทั่วโลก เมื่อผู้ติดเชื้อมีชัยเหนือกองทัพของโลก และทำให้หลายรัฐบาลต้องล่มสลาย เลนถูกสถานการณ์บีบให้ต้องหวนกลับไปใช้ชีวิตแบบเก่าที่เต็มไปด้วยอันตราย เพื่อรับประกันความปลอดภัยของครอบครัวของเขา และเป็นผู้นำการค้นหาที่มาของโรคระบาดทั่วโลก อันจะเป็นหนทางที่จะหยุดการแพร่ระบาดที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดได้

พาราเม้าต์ พิคเจอร์ส และสกายแดนซ์ โปรดักชั่น ภูมิใจเสนอ ผลงานความร่วมมือกับ เฮมิสเฟียร์ มีเดีย แค็ปปิตอล และจีเค ฟิล์มส์, ผลงานการสร้างของ แพลนบี เอนเตอร์เทนเม้นต์/ 2DUX2 ภาพยนตร์ของ มาร์ค ฟอร์สเตอร์ เรื่อง “World War Z.” ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดจำหน่ายทั่วโลกโดย พาราเม้าต์ พิคเจอร์ส คอร์ปอเรชั่น บริษัทในเครือViacom, Inc.

 

จากหน้ากระดาษสู่จอภาพยนตร์:

“World War Z” เริ่มต้นด้วยการเป็นนิยายสยองขวัญที่กล่าวถึงช่วงเวลาหลังโลกต้องพบหายนะ ผลงานของ แม็กซ์ บรูกส์ ที่มีชื่อว่า World War Z: An Oral History of the Zombie War ที่ถูกเขียนขึ้นในรูปแบบการเล่าเรื่องของบุคคลแต่ละคนที่ประสพกับเหตุการณ์นี้ด้วยตนเอง ผู้อำนวยการสร้าง แบรด พิตต์, ดีดี้ การ์ดเนอร์ และเจเรมี่ ไคลเนอร์ ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ยังอยู่ในแท่นพิมพ์ พวกเขาและทุกคนที่บริษัท แพลนบี เอนเตอร์เทนเม้นต์ ต่างติดใจนิยายเรื่องนี้มาก

“ห้าปีผ่านไป ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับซอมบี้เลย ตอนนี้ ผมกลับมองว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญเลยครับ” พิตต์เล่า “หนังสือของแม็กซ์นำเสนอเรื่องราวของซอมบี้ว่าเป็นโรคระบาดไปทั่วโลก เป็นการแพร่กระจายในแบบที่เหมือนเราเคยเห็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอย่าง ซาร์ส สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมันแพร่ระบาดไปเหมือนไฟลามทุ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยเห็นว่าสำคัญในชีวิตประจำวันของเรากลับกลายเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อโครงสร้างอำนาจและบรรทัดฐานของสังคมถูกทำลายไปจนหมด เราจะเอาชีวิตรอดได้ยังไง”

“มันสะท้อนให้เราเห็นสิ่งที่ตรงกับประเด็นปัญหาและเหมือนเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า แม้ว่ามันจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับซอมบี้ หรืออาจเป็นเพราะมันเป็นหนังสือเกี่ยวกับซอมบี้ เราก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่าอะไรที่ทำให้มันดูน่าติดตามแบบนี้” การ์ดเนอร์เล่า

ขอบเขตที่กว้างขวางของเรื่องนี้ยังทำให้ไคลเนอร์ ผู้คุ้นเคยดีกับหนังสือของบรูกส์ รู้สึกทึ่ง ขณะที่ได้อ่านหนังสือที่คู่กันอย่างเรื่อง The Zombie Survival Guide

“สัดส่วนต่างๆของโลก การคาบเกี่ยวกันของซอมบี้ การเมือง และสถาบันต่างๆ ทำให้เรารู้สึกทึ่ง และยังเพิ่มองค์ประกอบที่ทั้งเท่และมีความร่วมสมัย ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ไม่ธรรมดาลงไปในเรื่องราวของซอมบี้” ไคลเนอร์กล่าว

อย่างไรก็ดี วิธีการเล่าเรื่องที่เป็นเหมือนการให้การของหลายบุคคล ใช่ว่าจะแปลงมาเป็นบทภาพยนตร์ได้ง่ายๆ ในที่สุด ทีมผู้สร้างเลือกที่จะเล่าเรื่องราวนี้ผ่านตัวละครเอกเพียงตัวเดียว ซึ่งตรงกันข้ามกับการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครมากมาย แต่ยังคงพยายามที่จะรักษาหัวใจของธีมต่างๆ และประเด็นของพลอตเรื่องที่เคยทำให้พวกเขาติดอกติดใจเอาไว้

“เห็นได้ชัดมากเลยว่าโครงสร้างของหนังสือเล่มนี้จะต้องเป็นความท้าทายในการดัดแปลงบทอย่างแน่นอน เราพยายามติดตามการเล่าเรื่องราวของหนังสือ แต่เราพบว่าความตึงเครียดทางอารมณ์ดราม่านั้นหายไป อย่างน้อยก็ในแง่ของงานภาพยนตร์ เราจำต้องย้อนกลับไปถึงตอนที่เกิดเชื้อซอมบี้แพร่ระบาด และทำให้มันกลายเป็นจุดใจกลางของภาพยนตร์ เราทำงานกันอย่างหนักเพื่อจะเล่าเรื่องนี้ออกมาให้สมจริง ดังนั้นมันจึงให้ความรู้สึกว่าเรื่องราวนี้สามารถเกิดขึ้นกับพวกเราในปัจจุบันได้ เกิดขึ้นกับผู้คนที่เรารู้จัก และขณะที่โครงสร้างเรื่องต่างออกไป ฉันหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะกระตุ้นความรู้สึกที่เราเคยมีเมื่อเราได้อ่านหนังสือของแม็กซ์เรื่องนี้” การ์ดเนอร์บอก

ขณะที่ยังคงทำงานเรื่องบทอยู่นั้น ทางทีมผู้สร้างตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะทาบทามผู้กำกับ และพวกเขาเลือก มาร์ค ฟอร์สเตอร์

“มาร์คเห็นพ้องกับพวกเราว่าเขาทุ่มเทที่จะวางเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้เอาไว้ในโลกจริงๆ และยังคงรักษาความเป็นไปได้ของเรื่องนี้เอาไว้” การ์ดเนอร์เล่า

“ผมนับถือมาร์คในฐานะผู้กำกับที่สร้างภาพยนตร์ที่แตกต่างกันหลายแนว แต่ยังคงมีลักษณะร่วมกันในการนำเสนอประเด็นปัญหาหลักๆ ของมนุษย์ อย่างเช่น ครอบครัว ความรัก การสูญเสีย ผมว่าเขานำเอาลักษณะที่เปี่ยมไปด้วยความเป็นมนุษย์แบบนี้มาใส่เอาไว้ในภาพยนตร์ของเรา และผมว่าการเปิดกว้างของเขา การที่เขาไม่มีทัศนคติในเรื่องข้อจำกัดของภาพยนตร์ซอมบี้ มันช่วยได้มากทีเดียว” ไคลเนอร์เล่าเสริม

แพลนบีเริ่มต้นด้วยการส่งหนังสือเรื่องนี้ไปให้ฟอร์สเตอร์ และเช่นเดียวกับพวกเขา ฟอร์สเตอร์ติดอกติดใจมากทีเดียว

“ผมคิดว่ามันเป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก และพูดถึงธีมต่างๆ ที่ผมสนใจจริงๆ” ฟอร์สเตอร์เล่า “ผมนั่งลงเพื่อคุยกับทีมของแพลนบี และเราเริ่มต้นคุยกันอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับว่าเราจะทำอะไรกับโปรเจ็กต์นี้ได้บ้าง ในตอนนั้นพวกเขาได้พัฒนาบทภาพยนตร์แล้ว ซึ่งพวกเขาได้นำมามอบให้ผม และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการพูดคุยของพวกเรา ซึ่งสุดท้ายก็นำมาสู่การเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้”

“หนังซอมบี้” กลายเป็นหนังที่มีแนวทางของตัวเอง และตอนนี้ มันกลับกลายเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยม ฟอร์สเตอร์เชื่อว่ามีเหตุผลสำคัญที่ทำให้หนังซอมบี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก และมีหนังซอมบี้ดีๆ มากมายหลายเรื่องที่ทำให้เขาเกิดความสนใจในโปรเจ็กต์นี้

“ผมพบว่าหนังซอมบี้ดูน่าหลงใหลในแง่ที่ว่าพวกมันเคยได้รับความนิยมอย่างสูงในยุค 70 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและระส่ำระสาย และตอนนี้ในเวลาที่พวกเราใช้ชีวิตอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงและความเคลือบแคลง ซอมบี้ได้รับความนิยม พวกมันเป็นเหมือนอุปมาอุปไมยที่ดี เป็นตัวแทนของจิตใต้สำนึก และสะท้อนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลก พวกเรามนุษย์ปุถุชนก็เหมือนไม่รู้สึกตัวในหลายระดับและในที่สุด เราเองก็ต้องตื่นขึ้นมา” ฟอร์สเตอร์กล่าว

“ผมไม่รู้จักคนที่ไม่เคยเห็นซอมบี้ ผมได้เห็นมันในโฆษณาอุปกรณ์เอาตัวรอดจากซอมบี้ในเดอะนิวยอร์กเกอร์ การเคลื่อนไหวประท้วง Occupy Wall Street ได้ปลุกตำนานเกี่ยวกับซอมบี้ขึ้นมากมาย และยังมีความสำเร็จอย่างสูงของ ‘The Walking Dead’ ซึ่งเป็นซีรีส์ที่มีเรตติ้งสูงสุดสำหรับรายการทางเคเบิลทีวี มันคือเส้นทางลาดที่พยายามจะมอบหมายอุปมาอุปไมยให้กับสิ่งที่ผมคิดว่าได้รับความนิยมอย่างสูง แต่ก็เห็นได้ชัดว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งของมันด้วย ภาษาของโลกซอมบี้เข้าใจได้มากขึ้นในปัจจุบัน ผมว่าเป็นเพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้น ผู้คนติดหนึบกับจอทีวีและจอคอมพิวเตอร์ และหูฟัง ในความรู้สึกที่ถือว่าพื้นๆ ที่สุด พวกเขาเดินไปรอบๆ เหมือนซอมบี้โดยไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบโต้กับมนุษย์คนอื่น สำหรับผมแล้ว อย่างน้อยโลกนี้ก็ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นที่ที่ไม่สลักสำคัญ ให้ความรู้สึกไม่มั่นคง ให้ความรู้สึกเหมือนมีคลื่นอารมณ์และพฤติกรรมลูกใหญ่ที่ถาโถมใส่พวกเรา และมันเกิดขึ้นเร็วขึ้นเรื่อยๆ แต่มันมีรากฐานเพราะความรักที่ผู้คนมีต่อเรื่องแนวนี้ สำหรับผม ‘World War Z’ มีความจริงจัง จริง และสนุก และเดินเรื่องตื่นเต้นไม่หยุด เป็นเรื่องแนวเอพิคที่ยิ่งใหญ่ น่ากลัว และผมหวังว่าในที่สุดแล้วมันจะเป็นเรื่องที่น่าพอใจ” การ์ดเนอร์บอก

อันที่จริง ส่วนประกอบที่เป็นเสน่ห์แรกเริ่มของโปรเจ็กต์นี้ในความคิดของพิตต์ ก็คือ ฉากแอ็กชั่นและการแข่งขันกับเวลาที่ทำให้หัวใจเต้น

“ซอมบี้พวกนั้นน่ากลัวมาก และผมเชื่อว่าหนังเรื่องนี้ก็ดูสนุกในหลายระดับด้วยกัน” พิตต์บอก “แต่โดยส่วนที่สำคัญ มันคือความสนุกในช่วงซัมเมอร์ และบอกตามตรง มันคือสิ่งที่ผมอยากทำออกมาเพื่อให้ลูกชายของผมได้สนุกไปกับมัน”

สุดท้ายแล้ว ฟอร์สเตอร์ยังลังเลที่จะจัดประเภทของ “World War Z” เอาไว้ว่าเป็น “หนังซอมบี้”

“มันไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับซอมบี้เท่านั้น แต่มันยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับหายนะของโลกที่บังเอิญถูกแพร่กระจายโดยซอมบี้” ฟอร์สเตอร์บอก

“มีการเทียบเคียงกันมากมายต่อสิ่งที่พวกเราต้องเจอในชีวิตประจำวันที่คล้ายกับใน ‘หนังซอมบี้’ แต่ความยอดเยี่ยมของหนังสือของแม็กซ์ ก็คือ เขาวางเรื่องเอาไว้ในกรอบเวลาที่สมจริง และภายในกรอบงานที่อิงอยู่กับความจริง นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมสนใจ ผมอยากสร้างหนังที่ให้ความรู้สึกจริง เพื่อให้คนดูรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้สามารถเกิดขึ้นได้กับพวกเราทุกคน เรื่องราวทั่วๆ ไปก็คืออะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ในเหตุการณ์ใดก็ได้ ในวันใดก็ได้ ไม่มีใครรอดไปได้ ทุกคนมีความอ่อนไหว นั่นคือโครงร่างพลอตเรื่องของหนังเรื่องนี้ แต่มันยังเป็นชีวิตจริงอีกด้วย” ฟอร์สเตอร์บอก

 

ทีมนักแสดงมนุษย์:

ขณะที่หนังสือเล่าเรื่องราวผ่านเหตุการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นกับหลากหลายคน ทางทีมผู้สร้างภาพยนตร์เลือกที่จะเล่าเรื่องนี้ผ่านมุมมองของผู้ชายธรรมดาที่มีความพิเศษในตัว เขาก็คือเจอร์รี่ เลน อดีตผู้สืบสวนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งรับบทโดย แบรด พิตต์

“เจอร์รี่ต้องเดินทางไปยังโซนที่ร้อนระอุทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นรวันด้า, บอสเนีย เป็นที่ที่มีอันตรายอย่างใหญ่หลวง และอยู่ในภาวะวิกฤต ในที่สุด เขาจึงถอนตัวจากสายงานและหันไปทุ่มเทให้กับครอบครัว และใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น แต่เมื่อเกิดเชื้อไวรัสแพร่ระบาด อดีตนายจ้างของเขาได้ติดต่อมาโดยเชื่อว่าเขาเป็นชายเพียงคนเดียวที่เหมาะกับงานนี้ เขาพยายามค้นหาตัวตนของผู้ป่วยคนแรก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของเชื้อ และหนังเรื่องนี้ทั้งเรื่องก็บอกเล่าผ่านมุมมองของเขา สำหรับผมเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องสร้างหนังรอบๆ เรื่องนั้น เราได้รับประสบการณ์เหมือนที่เขาได้รับทุกอย่าง” ฟอร์สเตอร์กล่าว

ฟอร์สเตอร์บอกว่าเขาได้พบพันธมิตรในอุดมคติ ทั้งนอกและในจอ ในตัว แบรด พิตต์

“การทำงานกับแบรดเป็นประสบการณ์ที่เหลือเชื่อมาก เขาเป็นนักแสดงที่น่ายำเกรง เป็นศิลปินตัวจริงที่มีรสนิยมที่ไม่มีจุดบกพร่อง เขาไม่ได้เป็นแค่ดารานำของภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ยังเป็นผู้อำนวยการสร้างด้วย ความรู้สึกว่องไวของเขาที่จับได้ว่าอะไรจะทำให้สนุก อะไรจะดูจริง ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ดูปลอม มีประโยชน์อย่างมาก เราไม่ได้กำลังทำหนังสารคดีอยู่นะ เรากำลังทำหนัง แต่ขณะเดียวกัน เราก็อยากสร้างให้มันยืนอยู่บนหลักความจริง และเขาก็มีความรู้สึกที่ไวมากกับเรื่องแบบนี้ พวกเราทั้งคู่ไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน และในความรู้สึกนั้น มันคือความท้าทาย ที่ได้ทำงานกับหนังแนวนี้ที่เราทั้งคู่ต่างไม่คุ้นเคย และพยายามที่จะสร้างงานที่มีความสดใหม่ ผมสนุกมากจริงๆ ผมคงไม่หวังจะได้เจอหุ้นส่วนที่ดีไปกว่าเขาอีกแล้ว” ฟอร์สเตอร์กล่าว

ประวัติผลงานของฟอร์สเตอร์ทำให้พิตต์รู้สึกทึ่ง มีตั้งแต่ภาพยนตร์แอ็กชั่น จนถึงภาพยนตร์ชีวประวัติย้อนยุค และภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือ “ในฐานะผู้กำกับ เราไม่สามารถจำแนกประเภทเขาได้ และประสบการณ์และความสนใจที่เขามีต่อหนังหลากหลายแนวคือสิ่งที่หาได้ยาก วินาทีที่น่าจดจำที่สุดของเขาในภาพยนตร์มีความใกล้ตัวและมีความเป็นมนุษย์สูง เพราะคุณสมบัติเช่นนี้ที่ถูกใส่เอาไว้ในวิกฤตที่กำลังทำลายโลกที่เราเชื่อว่าจะนำไปสู่การเป็นหนังแอ็กชั่นทริลเลอร์ที่มีความเหมือนจริงอย่างที่สุด”

ฟอร์สเตอร์บอกว่าเจอร์รี่ “ไม่ใช่พระเอกตามแบบฉบับของคุณ” และนั่นเป็นเสน่ห์ส่วนหนึ่งของตัวละครตัวนี้

“มีอยู่หลายครั้งในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เจอร์รี่พูดว่าชีวิตคือการเคลื่อนไหว และเขากระตุ้นให้ผู้คนรอบๆ ตัวเขาเคลื่อนไหวต่อไป ผมชอบคำพูดวลีนั้นมาก เพราะในที่สุดแล้วในชีวิตของเรา เราไม่สามารถยืนนิ่งๆ ได้ เราต้องเคลื่อนไหวไหลไปตามกระแส ไม่งั้นเราอาจจมน้ำได้ แต่ในระหว่างนั้นเขาได้เฝ้าสังเกตและปรับตัว เมื่อซอมบี้ยึดครองเมือง เขามองเห็นสัญญาณเล็กๆ และเริ่มปะติดปะต่อหลายอย่างเข้าด้วยกัน  เขาได้ตัดสินใจครั้งสำคัญหลายครั้ง เขาได้รับเลือกมาเพื่อการเดินทางครั้งนี้ เพราะเขามีความสามารถพิเศษที่จะถูกจับโยนลงไปในสถานการณ์วุ่นวาย และอันตรายอย่างสุดขั้ว และเอาชีวิตรอดได้” ฟอร์สเตอร์กล่าว

นี่ไม่ใช่ชีวิตในแบบที่เจอร์รี่มีความสุขนัก ดังนั้นเขาจึงเลิกทำงานนี้เพื่อหันมาใช้เวลาอยู่กับครอบครัวให้มากขึ้น และเพื่อปกป้องครอบครัวของเขา เขาต้องหวนกลับไปรับงานอันตรายดั้งเดิมของเขาอีกครั้ง

“เจอร์รี่บินไม่ได้ เขาปราบผู้ร้ายไม่ได้ เขาไม่มีพลังพิเศษใดๆ เขาเป็นพ่อที่มีความต้องการอันลุกโชนที่จะปกป้องให้ครอบครัวของเขาปลอดภัย” พิตต์กล่าว “การจะทำเช่นนั้นได้ เขาต้องอาศัยความเฉลียวฉลาด สัญชาตญาณ และประสบการณ์ของเขาเอง”

“เป็นเรื่องสำคัญมากในการเลือกตัวนักแสดงหญิงที่รับบทเป็น คาเรน ภรรยาของเขา ซึ่งมีทั้งความแข็งแกร่งและอ่อนไหวอยู่ในตัว เพราะเมื่อเขาเดินทางจากไป เธอต้องลุกขึ้นหยัดยืน เพื่อให้ลูกๆ รู้สึกปลอดภัย แม้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ตัวพวกเขาจะกำลังพังทลายไป แต่คุณก็ต้องรู้สึกด้วยว่าเธอรู้สึกโดดเดี่ยว เธอคิดถึงเขามากแค่ไหน และหวาดกลัวว่าเธอจะไม่ได้พบเขาอีก” ฟอร์สเตอร์อธิบาย

มิรีลล์ เอโนส มีคุณสมบัติที่ขัดแย้งกันนี้ระหว่างความแข็งแกร่งและความอ่อนไหว

“เธอเดินเข้ามาและอ่านบทได้อย่างงดงาม เหมือนจริง และเธอยังมีลักษณะที่แตกต่างกันทั้งหมดนี้ในแบบที่ผมมองเห็นในตัวละครตัวนี้” ฟอร์สเตอร์กล่าว

“World War Z” คือภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เอโนสเคยร่วมงานมา เธออธิบายถึงประสบการณ์ครั้งนี้ว่ามัน “น่าตื่นเต้นและประหลาดใจ” อันเนื่องจากวิธีการทำงานของฟอร์สเตอร์

“มาร์คเป็นคนสุภาพและช่างคิดอย่างมาก เขาทำให้คุณรู้สึกผ่อนคลายที่สุด มีความนับถือ ความรู้สึกอบอุ่น และความร่วมมือในกองถ่ายมากมาย ถือเป็นของขวัญทีเดียวที่ได้ทำงานกับคนที่มีความงดงามเช่นนี้ ฉันได้แสดงอยู่ในภาพยนตร์แอ็กชั่นฟอร์มยักษ์เรื่องนี้ แต่ฉากที่ฉันต้องแสดงกับพิตต์เป็นฉากอ่อนไหว เป็นฉากใกล้ชิดเป็นส่วนตัวอย่างมาก มันเป็นเช่นนั้นเพราะมาร์คกำลังเล่าเรื่องนี้ เขามองหา “ความล้ำค่าของมนุษย์” นั่นคือคำที่เขาใช้เรียกมัน มันคือสิ่งที่ดีที่สุดของทั้งสองโลก” เอโนสกล่าว

เอโนสบอกว่าการร่วมมือกันระหว่างเธอกับพิตต์มีความน่าปลื้มปิติพอๆ กัน

“เขาใจดีมาก เป็นนักแสดงที่เปิดกว้าง ทำให้การทำงานดูเบาสบาย เขาทำให้ในกองถ่ายหัวเราะกันบ่อยมาก และคุณมองออกเลยว่าเขาจะคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้และหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะเล่าเรื่องอยู่ตลอดเวลา” เอโนสบอก

“มิรีลล์เป็นเพื่อนร่วมงานในกองถ่ายที่เยี่ยมมาก” พิตต์พูดถึงเพื่อนร่วมงานของเขา “เพื่อรักษาความรู้สึกสดใหม่ และเพื่อเข้าถึงวินาทีที่เป็นธรรมชาตินั้นๆ ฉากครอบครัวหลายฉากถูกถ่ายทอดออกมาเป็นฉากสั้นๆ ฉากเหล่านี้ต้องการความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อวินาทีนั้นๆ และต้องมีสัญชาตญาณตอบกลับอย่างรวดเร็ว มิรีลล์สามารถถ่ายทอดความรักของผู้เป็นแม่ และเปลี่ยนแปลงไปเป็นอารมณ์กราดเกรี้ยวของแม่สิงโตที่กำลังปกป้องลูกน้อยได้ในทันทีทันควัน เช่นเดียวกับในทุกความสัมพันธ์ เธอต้องแบกรับน้ำหนักอีกครึ่งหนึ่งไป ถือเป็นพันธมิตรตัวจริงเลยทีเดียว”

เอโนสกล่าวว่า ขณะที่คาเรนเข้าใจดีว่าเจอร์รี่ต้องจากครอบครัวไป “…แต่เธอมีความรู้สึกมากมายที่ผสมผสานกันไปเกี่ยวกับการที่เจอร์รี่อาสาจะไปปฏิบัติภารกิจนี้ ในทางหนึ่ง มันคงจะเยี่ยมยอดที่สุดถ้าเขาสามารถแก้ไขวิกฤตของโลกครั้งนี้ได้ แต่มันย่อมหมายความว่าเธอจะถูกทิ้งเอาไว้ตามลำพังให้อยู่กับลูกๆ ในโลกที่การเอาชีวิตรอดไม่ใช่เรื่องง่าย ในวินาทีสำคัญเช่นนี้ในยามที่เธอต้องการเขามากที่สุด และพวกเขาจำต้องเกาะกลุ่มกันไว้ เขากลับต้องเดินทางจากไป มันเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนอย่างมาก และมันเชื่อมโยงกับสิ่งที่มาร์คพยายามทำกับหนังเรื่องนี้ เป็นการมองความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงตาย ไม่ต้องถึงกับหนักเกินไป แต่เราก็คือโลกที่อยู่ในช่วงวิกฤต และมาร์คกำลังสร้างหนังที่มีความชาญฉลาดที่ทำให้เราสำนึกได้ว่ามนุษย์เรานั้นมีความเปราะบางแค่ไหน”

“World War Z” เน้นไปที่ “เงื่อนไขของมนุษย์” ผ่านความสัมพันธ์อันชิดใกล้ระหว่างเจอร์รี่กับครอบครัวของเขา ซึ่งเขาลังเลที่จะต้องทิ้งไปเพื่อความปลอดภัยของพวกเขาเอง สุดท้ายแล้ว เป็นเรื่องสำคัญที่ฉากเปิดเรื่องระหว่างเจอร์รี่ ภรรยาของเขา กับลูกสาวสองคน ซึ่งรับบทโดย สเตอร์ลิ่ง เจอรินส์ และอาบิเกล ฮาร์โกรฟ จะต้องดูสนุก น่ารักและเหมือนจริง คนดูต้องรู้สึกได้ถึงความผูกพันของพวกเขาในทันที เพราะโลกในแบบที่พวกเขารู้จักกำลังจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและน่าหวาดกลัว

“เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องทำให้ความสัมพันธ์นั้นออกมาดูเหมาะเจาะที่สุด เรามองหาและพยายามค้นหา และได้พบกับเด็กหญิงสองคนนี้ที่มีความสามารถสูงมาก แต่เป็นคนที่สามารถแสดงเป็นคนในวัยนั้น และต้องดูสมวัยด้วย จากนั้นเราจัดการให้พวกเขาทั้งสี่คนได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัว เมื่อพวกเขาอยู่ในกองถ่าย พวกเขาได้พบกันและได้เล่นเกมส์ด้วยกัน ได้กินอาหารด้วยกัน และทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ครอบครัวต้องทำ เพื่อให้พวกเขาไม่รู้สึกว้าวุ่นเมื่อพบกันเป็นครั้งแรก ทุกอย่างถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ  อาบิเกลเป็นพี่สาว และสเตอร์ลิ่งก็มีความเป็นน้องเล็ก เป็นเด็กน้อยของครอบครัว และมิรีลล์ก็มีความเป็นแม่ แบรดมีความเป็นพ่อ ดังนั้นทุกอย่างจึงลงตัวอยู่แล้ว นอกเหนือจากนั้น ฉันคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้เพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์เช่นนั้นในภาพยนตร์ ก็คือการให้เวลาพวกเขาได้ผูกสัมพันธ์กันเพื่อให้มันออกมาดูน่าเชื่อที่สุด” การ์ดเนอร์กล่าว

เธียร์รี่ อูมูโทนี่ เพื่อนและอดีตเจ้านายของเจอร์รี่ คือคนวางแผนการ ที่เป็นเหมือนดาบสองคมนี้ เขาเป็นคนจัดการพาครอบครัวนี้ไปอยู่ในที่ปลอดภัยด้วยการส่งเฮลิคอปเตอร์ไปรับพวกเขาไปพักอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยมีเงื่อนไขว่าเจอร์รี่ ที่มีความสามารถพิเศษอยู่ในตัว จะต้องรับภารกิจในการกู้โลก ฟานา โมโคน่า นักแสดงชาวแอฟริกาใต้ รับบทเป็น เธียร์รี่ และ “World War Z” ก็คือภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ที่เขาได้ร่วมงานกับ มาร์ค ฟอร์สเตอร์

“ผมเคยทำงานกับเขาในเรื่อง ‘Machine Gun Preacher’ และเขาน่าทึ่งมาก ผมมาจากวัฒนธรรมที่ผู้กำกับเป็นคนกำหนดและบอกทุกอย่าง แต่มาร์คไว้ใจนักแสดงของเขา เขาให้อิสระกับคุณที่จะสำรวจ และนั่นถือเป็นอิสระอย่างมาก โดยเฉพาะในหนังที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการที่นักแสดงได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ที่จะหายใจ และเขา (มาร์ค) ทำเช่นนั้นในขณะที่พยายามนำเสนอภาพที่ใหญ่มากขึ้นด้วย เขามีความอ่อนไหวกับนักแสดง เนื้อเรื่อง และตัวละครเสมอ และยังใส่ความรู้สึกหลากหลายนั้นลงไปในทั้งโปรเจ็กต์ด้วย” โมโคน่าบอก

โมโคน่าเป็นนักแสดงหนึ่งในไม่กี่คนในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ได้เข้าฉากร่วมกับเอโนสและพิตต์

“วิเศษมากที่ได้ร่วมงานกับพวกเขาสองคน แบรดทำงานอย่างมีคุณภาพ แต่เป็นผู้ศึกษาเรื่องมนุษยชาติที่เยี่ยมยอดมาก มิรีลล์ก็เป็นคนน่ารัก เธอใส่ใจกับทุกคนรอบตัว และด้วยความสามารถที่น่าทึ่งขนาดนั้น เธอดึงสิ่งที่ดีที่สุดในตัวทุกคนออกมา เธอเป็นเหมือนเพื่อนที่คุณอยากมีในชีวิตจริง” โมโคน่าบอก

ในเรือนจำทหารในเกาหลีเหนือ เจอร์รี่ได้พบกับเจ้าหน้าที่ซีไอเอคอรัปชั่นที่ถูกจับขังเอาไว้ (เดวิด มอร์ส) ซึ่งเขาอาจจะเป็นบ้าหรือไม่บ้าก็ได้

“ตัวละครของผมมีมุมมองต่อโลกที่มีความเย้ยหยัน เขาทำสิ่งที่ทำให้เขาถูกลงโทษ แต่เป็นการลงโทษที่อาจช่วยชีวิตเขาเอาไว้เพราะมันทำให้เขาต้องเข้าไปอยู่ในคุกในเกาหลี และปกป้องเขาจากเหตุการณ์น่าหวั่นเกรงที่กำลังเกิดขึ้นด้านนอก ข้อมูลที่เขามีช่วยให้เจอร์รี่เดินก้าวต่อไปได้” มอร์สอธิบาย

จากด้านหลังลูกกรง เขาบอกเจอร์รี่ถึงเรื่องราวความจริงที่เขาต้องเผชิญหน้ากับเชื้อไวรัสร้ายนี้ครั้งแรก และวิธีที่ชาติหนึ่งเลือกที่จะต่อสู้กับไวรัส

มอร์สเคยร่วมงานกับพิตต์มาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง “Twelve Monkeys” และรู้สึกดีใจมากที่ได้กลับมาร่วมงานกับเขาในฉากสำคัญฉากนี้

นายทหารท่าทางขี้หงุดหงิด ซึ่งรับบทโดย เจมส์ แบ็ดจ์ เดล เป็นผู้ดูแลเรือนจำทหารในเกาหลีเหนือ เขาทำตามคำสั่งอย่างดีที่สุด ขณะที่คอยดูแลให้คนของเขายังมีชีวิตรอดอยู่ได้ท่ามกลางเหตุร้ายที่เกิดขึ้นด้านนอกบังเกอร์

“ผมเป็นแฟนตัวยงของ เดวิด มอร์ส อยู่แล้ว และยังคงเป็นเสมอมา ผมดีใจมากที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับเขา เขาเป็นนักแสดงที่มีพรสวรรค์ ถ่อมตน และน่านับถือ เจ๋งมากที่ได้เห็นเขาสร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมา ขณะนั่งอยู่ในคุก พยายามทำหลายสิ่งหลายอย่าง มันคือการแสดงที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แต่ในวินาทีสำคัญนั้น เขาสามารถปรับเปลี่ยนมันอยู่ตลอด ทำให้มันกลายเป็นฉากเล็กๆ ที่ดูลึกซึ้งและเหมือนจริง ผู้ชายคนนี้ไม่สามารถโกหกได้ เขาดูโดดเด่นและยอดเยี่ยมเสมอ” แบ็ดจ์ เดล บอก

เขายังสนุกกับการได้ร่วมงานกับพิตต์ ทั้งในฐานะที่เป็นนักแสดงและผู้อำนวยการสร้าง โดยแบ็ดจ์ เดลบอกว่าพิตต์คอยช่วยนักแสดงคนอื่นๆ อยู่อย่างเงียบๆ

“ถ้าคุณไม่รู้ว่าเขาเป็นผู้อำนวยการสร้าง คุณก็จะไม่มีวันรู้เลย เพราะเขาไม่เคยคุยโม้ สิ่งที่เขาทำคือการเดินเข้ามาในฐานะศิลปินที่เอาใจใส่ดูแล เขาแคร์เรื่อง เขาแคร์ทีมนักแสดงและทีมงาน เขาทำให้ทุกคนรู้สึกสบายใจ เขาไม่ค่อยห่วงตัวเองเท่ากับห่วงทุกคนรอบตัวเขา เขาไม่มีความเห็นแก่ตัว และยังสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีมาก” แบ็ดจ์ เดลกล่าว

แบ็ดจ์ เดลเคยมีประสบการณ์แสดงฉากรบบนจอภาพยนตร์มาแล้ว จากการทำงานให้กับมินิซีรีส์ของ HBO เรื่อง “The Pacific” อย่างไรก็ดี นี่คือประสบการณ์แบบทหารรูปแบบใหม่ทั้งหมดสำหรับเขา และเขาต้องพึ่งประสบการณ์ของ เฟร็ดดี้ โจ ฟาร์นสเวิร์ธ สตั๊นต์แมนผู้มีประสบการณ์ และยังเป็นที่ปรึกษาทางด้านเทคนิคทหารของ “World War Z” ด้วย

“ผมบอกเฟร็ดดี้ว่าผมคงไม่ต้องเข้าค่ายฝึกทหารหรอกนะ แต่ผมอยากจะใช้เวลาอยู่กับคนที่จะแสดงเป็นเพื่อนทหารของผม เฟร็ดดี้จึงใช้เวลาอธิบายเรื่องอาวุธให้พวกเราฟัง และยังฝึกหัดร่วมกับพวกเรา เพื่อให้พวกเรารู้จักกันดีขึ้นและผูกพันกันด้วย” แบ็ดจ์ เดลอธิบาย

การตามล่าของเจอร์รี่ ทำให้เขาต้องเดินทางจากเกาหลีไปยังอิสราเอล ที่ซึ่งเขาได้เห็นรูปแบบของการกักกันและการป้องกันของที่นั่น เป็นการสร้างกำแพงสูงและเครื่องกั้น (หลายกำแพงเป็นกำแพงโบราณ และอีกหลายกำแพงเป็นของใหม่) กำแพงกั้นเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันผู้คนให้ปลอดภัยแน่นอน จนกระทั่งทุกอย่างคุมไม่อยู่ ผู้ทำหน้าที่ไกด์ให้กับเจอร์รี่ในเยรูซาเล็มก็คือ เจอร์เก้น วอร์มบรัมม์ แห่งกลุ่มมอสสาด และเมื่อสถานการณ์ที่นั่นเลวร้ายลง กลายเป็นความรุนแรงและโกลาหล เจอร์รี่ใช้ทั้งสัญชาตญาณและประสบการณ์ที่พาเขาหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย ขณะที่เขาได้เรียนรู้ปริศนาข้อมูลสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เขานำมาใช้ในการค้นหาคำตอบ ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวอิสราเอล ลูดี โบเค่น รับบทเป็นวอร์มบรัมม์

“อันที่จริงผมเป็นผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง และกำลังพัฒนาอีกโปรเจ็กต์หนึ่งร่วมกับมาร์ค และผมบังเอิญได้พบเขาในลอนดอน และขณะที่เรากำลังคุยกันอยู่นั้น จู่ๆ มาร์คก็มองจ้องหน้าผม และถึงแม้ว่าเราจะรู้จักกันมานานแล้ว เขาพูดขึ้นว่า ‘คุณเคยแสดงหนังไหม คุณลองมาอ่านบทให้ผมได้ไหม’ ผมตอบว่า ‘ก็ได้ ผมเองก็เคยเล่นหนังของตัวเองมาหลายเรื่อง ส่วนใหญ่จะเล่นเป็นนักฆ่าหรือไม่ก็คนเลว’ ผมว่าเขารู้ว่าผมเคยทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสงครามในตะวันออกกลาง ไม่ใช่แค่ในอิสราเอลเท่านั้น ผมรู้จักคนอย่างวอร์มบรัมม์ดี” โบเค่นบอก

แดนีลล่า เคอร์เทสซ์ ซึ่งมาจากอิสราเอลเช่นกัน รับบทเป็น เซเก้น ทหารอิสราเอลที่ร่วมมือกับเจอร์รี่และกลายมาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญในการเดินทางของเขา “World War Z” คือภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอ และเธอต้องผ่านการฝึกในค่ายทหารเพื่อให้กลายเป็นเซเก้นได้เด็ดเดี่ยวที่สุด

ฟาร์นเวิร์ธ ที่ปรึกษาทางด้านทหาร พา เคอร์เทสซ์ ผ่านทุกขั้นตอน “เราให้เธอเข้าไปอยู่ในกองพัน สอนข้อมูลพื้นฐานให้เธอ ทั้งข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลพิเศษอื่นๆ ผมมีเวลาทำงานกับเธอแค่สี่หรือห้าวันเท่านั้น แต่เธอรับข้อมูลทุกอย่างได้ดีมาก” ฟาร์นสเวิร์ธกล่าว

เป็นเสมือนกฎ ที่ทางทีมผู้สร้างพยายามจะเลือกนักแสดงท้องถิ่นเพื่อรับบทเป็นคนที่เจอร์รี่ได้พบขณะเดินทางไปทั่วโลก

“ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องของความสมจริง ทั้งในแง่ของคุณภาพในการแสดงและในเรื่องของการนำเสนอโลก เราเดินทางไปยังแต่ละที่ซึ่งตัวละครเดินทางมาและกระโดดลงไปในกลุ่มนักแสดงท้องถิ่นเพื่อค้นหาคนที่เหมาะที่สุด เราไม่สนใจคนที่พูดสำเนียงได้ และแสร้งทำเป็นว่าพวกเขามาจากที่ที่พวกเขาไม่เคยไป” ดีดี้ การ์ดเนอร์อธิบาย

 

การเดินทางรอบโลก:

เพื่อเดินทางไปพร้อมกับเจอร์รี่ เลน ที่ออกค้นหายารักษาโรคระบาดไปทั่วโลก “World War Z” ถ่ายทำกันตามสถานที่ห่างไกลต่างๆ ทั้งบนบกและในทะเล

“ก่อนอื่นเลย เรื่องนี้มีชื่อว่า ‘World War Z’ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องนำเสนอภาพของทั่วโลก ฉันคิดว่าโลกมีความเด่นชัดต่อคนจำนวนมากมาย มากกว่าแต่ก่อน คุณสามารถคลิ๊กปุ่มและเห็นเลยว่าเกิดอะไรขึ้นในที่ต่างๆ ดังนั้นมันจึงยากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะปลอมภาพ คนดูฉลาด พวกเขารู้ว่าแต่ละเมืองทั่วโลกหน้าตาแตกต่างกันยังไง และมีจุดที่คุณไม่สามารถหลอกหรือฉันคิดว่าคุณไม่ควรจะหลอก ฉันว่าหนังหลายเรื่องได้ประโยชน์จากสถานที่ที่แตกต่าง วัฒนธรรมที่แตกต่าง และอารมณ์ที่แตกต่าง ฉันว่านั่นคือสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาบนจอ” การ์ดเนอร์บอก

“World War Z” เปิดเรื่องในฟิลาเดลเฟีย ขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อซอมบี้เกิดขึ้น กลาสโกว์ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำแทนฟิลลี่ และถึงแม้ว่ามันจะเป็นโลกที่ห่างกัน แต่ทั้งสองเมืองกลับมีสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกัน หลายอย่างถูกเสริมเพิ่มเติมระหว่างงานโพสต์โปรดักชั่น เพื่อจะเปลี่ยนเมืองของสก็อตต์แห่งนี้ ทางทีมโปรดักชั่นได้ติดตั้งป้ายต่างๆ สัญญาณจราจร และรถอเมริกันเข้าไป และกลาสโกว์ยังเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ความเสียหายอย่างรุนแรงอีกด้วย

“เมืองแห่งนี้มีพื้นที่จัตุรัสที่ทำให้เรามีโอกาสได้เห็นเหตุวุ่นวายปั่นป่วนเมื่อซอมบี้บุกเมืองแห่งนี้” ไมเคิล ฮาร์ม ผู้จัดการโลเกชั่นบอก

กลาสโกว์ยังให้การต้อนรับตัวประกอบและเจ้าหน้าที่อีกหลายร้อยคนที่มาร่วมแสดงการเริ่มต้นของการแพร่ระบาด

“เมื่อเราอยู่บนถนนสายเล็กๆ ในตอนเริ่มต้นของเหตุการณ์นี้ เราใช้คนกว่า 200 คนเพื่อทำให้ถนนดูแน่นไปด้วยผู้คน เมื่อเราเคลื่อนเข้าไปยังส่วนที่เป็นจัตุรัสเพื่อถ่ายทำฉากความวุ่นวาย เราเพิ่มคนมากขึ้นไปถึง 700 คน แต่สิ่งที่ถือเป็นความโชคดีก็คือ มีธนาคารสก็อตแลนด์เก่าแก่ที่พวกเขาไม่ใช้งาน ทำให้มีพื้นที่กว่า 50,000 ตารางฟุตให้ศิลปินนักแสดงแบ็คกราวน์ของเราได้พักอยู่ในระหว่างการถ่ายทำ และเราใช้พื้นที่สี่ชั้นของอาคารหลังนั้นเพื่อเป็นแผนกแต่งหน้า เสื้อผ้า และจัดเสบียงอาหาร” ฮาร์มเล่า

ไซม่อน เครน ผู้กำกับกองถ่ายย่อยที่ 2 ผู้มีประสบการณ์อย่างโชกโชน เป็นคนจัดการฉากความโกลาหลปั่นป่วนวุ่นวายของ “World War Z”

“ตอนที่เราได้เห็นพวกซอมบี้ครั้งแรก ในฟิลาเดลเฟีย มันเริ่มต้นจากความสงบไปสู่ความวุ่นวายโกลาหลแบบ 100% และทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก ซึ่งกลาสโกว์ก็กลายเป็นสถานที่ที่ใช้งานได้อย่างงดงาม มาร์คมีความปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะแสดงให้เห็นถึงความวินาศสันตะโรขนาดใหญ่ และเราก็พยายามสร้างทั้งหมดนั้นขึ้นมาต่อหน้ากล้องให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรานำเสนอภาพการโจมตีของซอมบี้ให้เหมือนกับฝูงหมาบ้าที่วิ่งไล่และทำร้ายผู้คน เราพยายามสร้างความหวาดกลัวและความรุนแรงแบบนั้นขึ้นมา” เครนอธิบาย

เพื่อจะสร้างฉากนี้ให้สำเร็จ จำต้องมีงานสตั๊นต์ที่ผ่านการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ซึ่งเริ่มต้นด้วยการสร้างภาพพรีวิชัวไลซ์ขึ้นในคอมพิวเตอร์เสียก่อน และต้องมีการเสียสละรถยนต์มากมายหลายคัน รวมถึงข้าวของอื่นๆ ด้วย…

“เราต้องพังรถรุ่นต่างๆ ไปมากถึง 150 คัน เราต้องพังรถขนขยะ และต้องขับรถวอลโว่ของแบรดเข้าชนรถพยาบาล และชนกับหลายอย่างมาก มันเป็นงานสร้างขนาดใหญ่ อย่างน้อย  80% ของรถต้องพังหมด” เครนบอก “กลาสโกว์สุดยอดมาก เราปิดกั้นถนนไปหลายช่วงตึกเพื่อสร้างฉากรถชนกันภายนอกอาคารหลังใหญ่ๆ มันสุดยอดมากจริงๆ”

การ์ดเนอร์เล่าว่า ก่อนหน้าการมาถึงของการถ่ายทำหนัง ‘World War Z’ กลาสโกว์ยังไม่เคยพบประสบการณ์การไหลทะลักมาของกองทัพทีมงานและนักแสดงของภาพยนตร์ที่มีความยิ่งใหญ่และซับซ้อนเท่านี้มาก่อน เธอเล่าว่า เมืองแห่งนี้ให้การต้อนรับและคอยอำนวยความสะดวกให้อย่างดีมาก

“กลาสโกว์คือปฏิบัติการชั้นยอด แม้ว่าพวกเขาจะยังไม่เคยให้การต้อนรับหนังฟอร์มใหญ่ๆ มากมายนัก แต่พวกเขากลับมีความกระตือรือร้น ที่ไม่เพียงแต่ให้การต้อนรับเราเท่านั้น แต่ยังพยายามทำให้งานของพวกเราง่ายขึ้นด้วย การต้อนรับนั้นน่าทึ่งที่สุด เพื่อถ่ายทำฉากซอมบี้โจมตีที่เป็นฉากใหญ่เปิดเรื่อง พวกเขาถึงกับปิดพื้นที่หลักของเมืองให้เราถ่ายทำกันนานถึงสองอาทิตย์ และผู้คนก็ร่วมมือกัน พวกเขาปิดป้ายตามหน้าต่างบ้านเพื่อต้อนรับพวกเรา มันสุดยอดจริงๆ ค่ะ” การ์ดเนอร์เล่า

บ่อยครั้งทีเดียวที่ตัวประกอบและทีมงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จะต้องถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นซอมบี้ และพวกเขาแทบจะกลายเป็นคณะลำเลียงพล

“มีอยู่หลายวันด้วยกันที่ต้องมีตัวประกอบเป็นพันๆ คน เรามีฉากฝูงชนขนาดใหญ่ในมอลต้า ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำฉากเยรูซาเลม มีฉากฝูงชนขนาดใหญ่ในกลาสโกว์ที่ถูกใช้ถ่ายทำเป็นฟิลาเดลเฟีย มีฉากเครื่องบินที่ต้องใช้ตัวประกอบ 150 คนที่เข้ามานั่งอยู่ภายในฉากเครื่องบินสำหรับการถ่ายทำนานห้าวัน และฉากเหล่านั้นก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เพราะต้องมีการปรากฏตัวของซอมบี้จำนวนมาก นั่นเกี่ยวพันกับการทำงานของแผนกผม แต่งหน้า และเสื้อผ้าที่จะต้องได้ภาพของสิ่งที่คุณต้องการนำเสนอ ถ้าคุณมีตัวประกอบ 500 คนที่ต้องการภาพลักษณ์ที่มีความเฉพาะตัว เท่ากับเราต้องใช้คนจำนวนมากในการเตรียมพวกเขาให้พร้อม เราถ่ายทำหนึ่งวันที่มีจำนวนตัวประกอบแบบจัดเต็ม ผมจำได้ว่าผมเดินเข้าไปในฉาก และคุณแทบขยับตัวไม่ได้เพราะจำนวนของทีมงานที่อัดแน่นกันอยู่ที่นั่นเพื่อเตรียมทุกคนให้พร้อม จากนั้น สองชั่วโมงต่อมา เราส่งซอมบี้ออกไปพัก ขณะที่เราต้องทำงานอย่างอื่นกับแบรด และกับนักแสดงอีกไม่กี่คน มันเหมือนกับฉากนั้นกลายมาเป็นที่แห้งแล้งกันดาร เป็นงานที่สนุกมาก” ผู้อำนวยการสร้าง เอียน ไบรซ์ เล่า

เพื่อให้มีความสมจริง ทีมผู้สร้างพยายามที่จะสร้างภาพความสับสนของกลุ่มซอมบี้โดยอิงกับความเป็นจริง เจอร์รี่ เลนไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่ แต่เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ เฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ เครนเคยร่วมงานกับพิตต์มาแล้วหลายครั้งก่อนหน้านี้ ทำให้พวกเขาเหมือนรู้ใจกัน ในแง่ที่ว่าจะทำให้ฉากแอ็กชั่นออกมาประสบความสำเร็จได้อย่างไร

“แบรดให้ข้อมูลในการวางแผนการว่าเราจะจัดฉากแอ็กชั่นเหล่านี้อย่างไร และเราพยายามจะสร้างมันออกมาให้สมจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  เขาเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของยูเอ็น ไม่ใช่นักสู้ เขาเป็นคนจริงๆ เป็นคนธรรมดาทั่วๆ ไป ดังนั้นเราจึงทำให้ทุกอย่างออกมาดูน่าเชื่อที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาเก่งในเรื่องงานแอ็กชั่น และอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ซึ่งก็ช่วยได้มากทีเดียว” เครนกล่าว

ครอบครัวเลนพบที่ปลอดภัยชั่วคราวบนเรือลำเลียงเครื่องบิน และในความเป็นจริง เรือของกองทัพเรืออังกฤษที่ชื่อ ดิอาร์กัส รับหน้าที่เป็นตัวแทนให้กับเรือสัญชาติอเมริกัน การถ่ายทำฉากบนเรือถือเป็นชัยชนะ เพราะต้องมีเฮลิคอปเตอร์จริงๆ หลายลำ มีตัวประกอบ 500 คน มีรถทหารหลายสิบคัน และแน่นอน ยังต้องมีเรือลำเลียงเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ทรงพลังอีกด้วย

“ดีมากเลยที่เราได้มาทำงานบนเรือขนเครื่องบินกันจริงๆ แทนที่จะเป็นการถ่ายทำที่โรงถ่าย ความจริงจังทางอารมณ์จึงมีมากกว่า มันช่วยให้งานดูมีความยิ่งใหญ่และสมจริงมากขึ้น ซึ่งคือสิ่งที่คุณต้องการสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะในหลายระดับด้วยกัน นี่ก็คือหนังสงคราม โลกกำลังทำศึกกับซอมบี้” ฟอร์สเตอร์อธิบาย

 

ทีมนักแสดงผู้ติดเชื้อ:

แน่นอน ส่วนสำคัญที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือตัวซอมบี้ ฟอร์สเตอร์และทีมงานอยากให้เกียรติภาพยนตร์แนวนี้ แต่ก็ไม่อยากถูกจำกัดขอบเขต เพื่อสร้างงานที่ไม่เหมือนใครและเหมาะกับเรื่องราวนี้โดยเฉพาะ

“เมื่อพูดถึงหนังซอมบี้แล้ว สุดท้ายทุกคนก็จะย้อนกลับไปหาหนังของ จอร์จ โรเมโร่ เพราะพวกมันเป็นผลงานที่ทุกคนชื่นชม เมื่อเร็วๆ นี้ มีเรื่อง ‘28 Days Later’ ฉะนั้น ในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ คุณพยายามลองทำอะไรใหม่ๆ และแตกต่าง ถึงแม้คุณจะกำลังทำงานอยู่ในกรอบเดิมของประวัติความเป็นมาของมันก็ตาม และนั่นก็คือสิ่งที่เราพยายามทำกับหนังเรื่องนี้ มีองค์ประกอบคลาสสิกเกี่ยวกับซอมบี้ที่เรานำมาใช้ แต่การเคลื่อนไหวและแรงจูงใจของพวกมันจะต่างออกไป” ฟอร์สเตอร์อธิบาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมผู้สร้างได้อิงพฤติกรรมของซอมบี้ตาม “ทฤษฎีฝูง” ซึ่งเป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวที่พบเห็นได้ในธรรมชาติที่ฟอร์สเตอร์เน้นย้ำ แม้กระทั่งก่อนที่สิ่งมีชีวิตผิดธรรมชาติพวกนี้จะปรากฏให้เห็นบนจอ

“มันมีรูปแบบที่ฝูงนกหรือมดเคลื่อนที่ไปด้วยกัน แทบจะเป็น  ‘เชาว์ปัญญาแบบฝูง’ ผมว่ามันน่าสนใจที่ได้เห็นซอมบี้เหล่านี้ ซึ่งไม่ได้มีสติปัญญาอะไรเพราะพวกมันก็คือซากศพเดินได้ มีปฏิกิริยาในแบบที่เหมือนมีความคิดแบบฝูง ไม่มีทิศทางที่แท้จริง เพราะซอมบี้เป็นพวกฆ่าไม่ตาย แต่เมื่อมองภาพรวมแล้ว มันเหมือนมีสติแบบจิตใต้สำนึกอยู่”

เมื่อพวกมันเคลื่อนที่ไปด้วยความโกลาหล พวกซอมบี้จะเป็นตัวอันตรายที่สุด อย่างไรก็ดี พวกมันไม่ได้มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงตลอดเวลา ใน ‘World War Z’ ภาพที่เยี่ยมที่สุดแต่ยังคงน่าหวาดกลัวที่สุดที่เราได้เห็นพวกซอมบี้ก็คือตอนที่พวกมันนิ่งสงบอยู่

“เมื่อพวกมันไม่ได้รับแรงกระตุ้น พวกมันจะเฉื่อยชา เชื่องช้า และเดินไปเรื่อยๆ แต่ในยามวุ่นวายโกลาหลเพราะได้กลิ่นอาหาร มันแทบจะเหมือนฉลามได้กลิ่นเลือด ในวินาทีที่พวกมันรู้สึกว่ามีบางอย่างให้โจมตีได้ พวกมันจะพุ่งเข้าใส่ และนั่นคือสิ่งที่เราสร้างให้เห็นตั้งแต่แรกเริ่ม ว่าพวกมันถูกดึงดูดได้ด้วยเสียง” ฟอร์สเตอร์อธิบาย

ทางทีมผู้สร้างได้สร้างเรื่องราว “ความเป็นมา” ที่น่าเชื่อให้กับพฤติกรรมของซอมบี้ เพื่อจะทำเช่นนั้น พวกเขาต้องทำเช่นเดียวกับเจอร์รี่ นั่นก็คือการเริ่มต้นด้วยจุดกำเนิดของมัน

“เราต้องทำงานมากมายที่เกี่ยวกับการศึกษาตำนานซอมบี้ในแง่ของวิทยาศาสตร์ เราได้จ้างที่ปรึกษาหลายคนที่ได้พูดคุยกันเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่เชื้อโรคที่แพร่กระจายเชื้อได้ ไปจนถึงพฤติกรรมของรังผึ้ง จนถึงระบบกลไกการป้องกันตัวของร่างกาย ตัวอย่างเช่น คนเราหรือสัตว์ป้องกันตัวเองเมื่อเผชิญหน้ากับปาราสิตอย่างไร และพวกมันเอาชีวิตรอดได้อย่างไร สำหรับพวกเราแล้ว ดูเหมือนจะมีความน่าสนใจมากขึ้นที่เราจะวางรากฐานซอมบี้ของเราเอาไว้ในความเป็นจริงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าพวกมันไม่มีจริง จากนั้นในช่วงที่สองก็คือการค้นหาว่าจะแสดงสิ่งเหล่านั้นออกมาอย่างไร เมื่อคุณเข้าไปอยู่ในกลุ่มความคิดนั้นได้ ประตูบานอื่นๆ ก็เริ่มเปิดขึ้น มีซอมบี้ที่เพิ่งเปลี่ยนร่าง การเปลี่ยนร่างนั้นจะดูเป็นอย่างไร ใช้เวลานานแค่ไหน และมันจะหันเข้าหาคนอื่นเร็วแค่ไหน มันต้องการการกระตุ้นหรือไม่ที่จะเป็นเช่นนั้น อะไรคือเงื่อนไขที่จะกระตุ้นพวกซอมบี้ ซอมบี้ควรหน้าตาเป็นยังไงเมื่อเป็นซอมบี้มานานหนึ่งชั่วโมง กับซอมบี้ที่เป็นมาแล้วหนึ่งเดือน จากนั้นยังมีคำถามเรื่องความเร็ว ตามประวัติที่เคยมีมา ซอมบี้จะเคลื่อนไหวช้ามาก แต่เราต้องการทั้งซอมบี้ที่ช้าและเร็ว เพราะสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในภาพยนตร์ของเราเอื้ออำนวยให้เป็นไปได้” การ์ดเนอร์อธิบาย

เพื่อสร้างกองทัพซอมบี้ ทีมงานต้องใช้การผสมผสานทั้งงานเอฟเฟ็กต์และนักแสดง ซึ่งมีทั้งแดนเซอร์, ทีมสตั๊นต์, การติดอวัยวะปลอม การแต่งหน้า เทคนิคซีจีไอ และการเคลื่อนกล้องที่ผ่านการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ซอมบี้ทุกตัวจะไม่เหมือนกันในแต่ละฉาก ซอมบี้แต่ละตัวจะมีท่วงท่าการเคลื่อนไหวเฉพาะ ซึ่งได้รับการออกแบบโดย อเล็กซานดร้า เรย์โนลด์ส มนุษย์คนแรกที่เราเห็นว่าติดเชื้อซอมบี้ รับบทแสดงโดย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนไหว ไรอัน เพอร์กิ้นส์-แกงเนส

“ผมศึกษาว่าผู้คนเริ่มเคลื่อนไหวอย่างไรเมื่อพวกเขาเกิดอาการลมชัก และเราอิงการเปลี่ยนแปลงจากคนเป็นซอมบี้จากลักษณะเช่นนั้น ไรอันเป็นศิลปินการเคลื่อนไหวที่สุดยอดมาก และเขาเก่งมากในการแสดงให้เห็นท่าทางของนักแสดงที่บิดงอร่างกายในแบบที่ผิดธรรมชาติได้ ผมหมายความว่าเราเพิ่มในส่วนของเส้นเลือดที่โป่งแตก และเราได้เห็นดวงตาของเขาที่เปลี่ยนไปด้วยเทคนิคซีจีไอ ดวงตาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผม ผมคิดว่าเมื่อดวงตาเปลี่ยนไป คนๆ นั้นก็คือศพเดินได้” ฟอร์สเตอร์บอก

ว่าที่ซอมบี้ทั้งหลายได้เรียนรู้ท่าทางการเดินและเคลื่อนไหวของพวกเขาในการเวิร์กช้อปตอนเตรียมงาน ที่ซึ่งพวกเขาได้ดึงเอาอิทธิพลต้นแบบมาจากหลายสิ่งหลายอย่างมากมาย ตั้งแต่แมลง จนถึงการโจมตีของสุนัขตำรวจ จนถึงการแสดงของ ฮาเวียร์ บาร์เด็ม จากภาพยนตร์เรื่อง ‘No Country for Old Men”

“เราเริ่มต้นด้วยความพยายามคิดหาสภาพความคิดของซอมบี้ ดังนั้นเราจึงคิดถึงภาพยนตร์หลายเรื่องที่อาจจะมีตัวละครสักตัวที่ไร้ความเป็นมนุษย์ เราคิดว่าตัวละครของ ฮาเวียร์ บาร์เด็มในเรื่อง ‘No Country for Old Men’ มีฟีลลิ่งที่น่าสนใจอยู่ ดังนั้นเราจึงใช้เวลามากมายพยายามที่จะสร้างความรู้สึกในการเป็นเขาขึ้นมา การเคลื่อนไหวจึงเกิดมาจากข้างใน อเล็กซ์นำเอาภาพแมลงขณะกินอาหารเข้ามาหลายแบบ ทั้งลักษณะการแย่งชิงและความทรหดของพวกมัน ความเร็วของพวกมันมีตั้งแต่เร็วจนถึงช้า เป็นจังหวะ และกลับมาเร็วอีกครั้ง เธอยังนำภาพวิดีโอของสุนัขตำรวจอิสราเอลมาให้ดู ลักษณะที่พวกมันงับด้วยกราม และร่างกายของมันจะพุ่งเร็วมาก สันหลังเหมือนจะบิดไปมาทุกที่ ดังนั้นเราจึงกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายแมลงที่จ้องจะงับโดยปราศจากความเป็นมนุษย์ หรือการรับรู้ถึงอนาคตหรืออดีต พวกมันมุ่งแต่ช่วงเวลาตรงหน้าเท่านั้น” เพอร์กิ้นส์-แกงเนสอธิบาย

อเล็กซานดร้า เรย์โนลด์สยังได้ทำงานกับ แอนิเมชั่น ไดเร็คเตอร์ แอนดี้ โจนส์ และ “กองทัพ” ซอมบี้ของเธอ เพื่อสำรวจและปรับเปลี่ยนการเคลื่อนไหวของพวกมัน เธอทำการค้นคว้ามากมายเพื่อออกแบบท่วงท่าการร่ายรำที่ดูสยดสยองของพวกมัน

“ตัวบทหนังมีภาพสุดมหัศจรรย์ที่เข้ากันดีกับความคิดของฉัน ฉันอยากได้เอฟเฟ็กต์ที่ดูให้ความรู้สึกลึกและจริง และจะต้องคงอยู่กับตัวพระเอกและคนดูต่อไป ฉันอ่านวารสารการแพทย์ยุควิคตอเรียน ฉันทดสอบว่าร่างกายคนเราสามารถเกิดอาการช็อคและเกิดอาการอัมพาตอย่างไร ตลอดเวลาที่เรามองหาบางอย่างที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ในฐานะมนุษย์ แต่สามารถอยู่ในสิ่งที่ยังเป็นไปได้ ฉันไม่อยากหลุดเข้าไปอยู่ในโลกแฟนตาซี ฉันอยากให้มันดูหดหู่ยิ่งกว่านั้น แรงบันดาลใจของมาร์คก็คือซอมบี้จะต้องโดดเด่นและแตกต่าง และเขาขอให้ฉันคิดและทดลองเพื่อหารูปแบบภาษาใหม่ที่ว่า” เรย์โนลด์สอธิบาย

เมย์ส รูบีโอ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ได้ร่วมกันสร้าง “ภาษาใหม่” ที่ว่านี้โดยได้สร้างภาพลักษณ์จำเพาะให้กับซอมบี้แต่ละตัว

“เราอยากแสดงขั้นตอนการเปลี่ยนจากมนุษย์เป็นซอมบี้ผ่านเสื้อผ้าด้วย ไม่ใช่ทุกคนจะต้องโดนกัดแบบเดียวกัน ไม่ใช่ทุกคนจะเจ็บในแบบเดียวกัน ถ้าคุณลองดูซอมบี้ทุกตัวที่เรามี หนึ่งในนั้นจะมีการออกแบบเป็นพิเศษ ซึ่งรวมถึงเรื่องของความเก่าของเสื้อผ้า สภาพของเสื้อผ้า ปริมาณเลือด เราอยากแสดงให้เห็นว่าซอมบี้แต่ละตัวมีความแตกต่างกันในหลายสภาพของการแพร่ระบาด ทั้งหมดนี้เกิดมาจากผู้กำกับของเรา มาร์ค ฟอร์สเตอร์ ที่เป็นผู้นำปฏิบัติการซอมบี้ในครั้งนี้” รูบีโออธิบาย

บ่อยครั้งที่ความใส่ใจในรายละเอียดทั้งหมดนี้ เผยให้เห็นในภาพเหตุการณ์ชอตใหญ่ๆ ซึ่งรวมถึงการเผยให้เห็นภาพอันน่าสยดสยองเมื่อซอมบี้ป่ายปีนกันจนกลายเป็นกำแพง “แข็งแกร่ง”  บ่อยครั้งที่ฟอร์สเตอร์หันไปใช้ชอตป่ายปีนที่รวดเร็ว และละเว้นการใช้การตัดภาพอย่างรวดเร็วหรือการใช้เฟรมภาพแบบสั่นไหว

“มีหนังอยู่หลายเรื่องที่จะใช้งานกล้องที่ดูสั่นไหวสับสนและสไตล์การตัดต่อมาช่วย ในหนังเรื่องนี้ เราเลือกที่จะใช้งานกล้องที่ดูนิ่งมากกว่า ไอเดียที่ให้ซอมบี้หลายพันตัวพยายามที่จะไต่ข้ามกำแพง ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ยิ่งใส่พวกมัน ผมว่าฉากเหล่านั้นถูกสร้างออกมาดีเยี่ยมที่สุดแล้ว” เอียน ไบรซ์ บอก

อันที่จริง นอกจากงานเคลื่อนเครนกล้องตามรูปแบบเดิมๆ แล้ว พวกเขาใช้เฮลิคอปเตอร์ในการถ่ายทำฉากที่ยิงใส่ซอมบี้เหล่านั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการยิงกระสุนออกไปจริงๆ ก็ตาม

“เราถ่ายทำฉากเฮลิคอปเตอร์เยอะมากในมอลต้า” ไบรซ์เล่า “บางครั้งคุณต้องขึ้นไปอยู่ในเฮลิคอปเตอร์เพื่อจับภาพความยิ่งใหญ่ของฉากนั้น”

ประวัติทีมผู้สร้าง

มาร์ค ฟอร์สเตอร์ (Marc Forster) – ผู้กำกับ

ด้วยผลงานที่หลายหลากที่เขาเคยสร้างสรรค์เอาไว้ มาร์ค ฟอร์สเตอร์เคยกำกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่มีหลากหลายขนาดงานสร้าง และหลากหลายแนว ทั้งที่เป็นผลงานของสตูดิโอใหญ่ๆ และค่ายหนังอิสระ และแสดงนำโดยนักแสดงแถวหน้าของวงการมากมายหลายคน

สไตล์การสร้างของฟอร์สเตอร์ฉายแววความชัดเจนตั้งแต่ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก “Everything Put Together” ซึ่งเขาร่วมเขียนบทด้วย ภาพยนตร์ดราม่าเรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Grand Jury Prize ที่งานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในปี 2001 และเขายังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่งานแจกรางวัล Independent Spirit Awards ด้วย

ฟอร์สเตอร์สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในปี 2001 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง “Monster’s Ball” ซึ่งได้รับทั้งคำชมและประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 2 รางวัล โดย ฮัลลี่ เบอร์รี่ คว้ารางวัลมาได้จากสาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยม

ในภาพยนตร์เรื่อง “Finding Neverland” ฟอร์สเตอร์ได้สร้างกรุงลอนดอนในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ โดยเล่าเรื่องราวกึ่งอัตชีวประวัติที่พูดถึงมิตรภาพระหว่าง เจเอ็ม บาร์รี่ ผู้เขียนเรื่อง “Peter Pan” และเด็กชายสี่คน และแม่ของเด็กที่อาศัยอยู่ข้างๆ บ้านของเขา ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดย จอห์นนี่ เด๊ปป์, เคท วินสเลต, ดัสติน ฮอฟฟ์แมน และจูลี่ คริสตี้

ผลงานภาพยนตร์เรื่องต่อมาของฟอร์สเตอร์ ได้แก่ ภาพยนตร์ทริลเลอร์ ปี 2005 เรื่อง “Stay” ซึ่งนำแสดงโดย ยวน แม็คเกรเกอร์, นาโอมี่ วัตต์ส และไรอัน กอสลิ่ง ติดตามมาด้วยภาพยนตร์ตลก เรื่อง “Stranger Than Fiction” ซึ่งนำแสดงโดย วิลล์ เฟอร์เรลล์, แม็กกี้ จิลเลนฮาล, ดัสติน ฮอฟฟ์แมน, เอ็มม่า ธอมป์สัน และควีน ลาติฟาห์

ในปี 2007 ฟอร์สเตอร์ได้ดัดแปลงหนังสือนิยายอันเป็นที่รักของคนอ่านเรื่อง “The Kite Runner” ให้กลายเป็นภาพยนตร์ จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม

หลัง “The Kite Runner” ฟอร์สเตอร์กำกับภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ตอนที่ 22 เรื่อง“Quantum of Solace” ภาพยนตร์เรื่องนี้นำแสดงโดย แดเนียล เคร็ก และเป็นภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ตอนแรกที่ถ่ายทำเสร็จก่อนกำหนด และใช้งบสร้างไม่บานปลาย และกลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์แฟรนไชส์ โดยทำรายได้จากทั่วโลกไปมากกว่า $586 ล้าน

ผลงานภาพยนตร์อินดี้แนวแอ็กชั่น ดราม่าของ ฟอร์สเตอร์ เรื่อง “Machine Gun Preacher” เปิดตัวฉายในเดือนกันยายน ปี 2011 นำแสดงโดย เจอราร์ด บัทเลอร์ โดยสร้างจากเรื่องจริงของ แซม ชิลเดอร์ส อดีตอาชญากรนักค้ายาที่ได้ช่วยเหลือเด็กๆ ผู้อพยพจากซูดาน

 

 

 

แมทธิว ไมเคิล คาร์นาแฮน (Matthew Michael Carnahan) – ผู้ร่วมเขียนบท

แมทธิว ไมเคิล คาร์นาแฮน คือผู้เขียนบท ผู้อำนวยการสร้าง และว่าที่ผู้กำกับชาวอเมริกัน ในปี 2006 แมทธิวได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Variety ให้เป็นหนึ่งใน “ท็อปเทนมือเขียนบทที่น่าจับตามองที่สุด” ของฮอลลีวู้ด ผลงานการเขียนบทเรื่องแรกของเขาที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “The Kingdom” เป็นผลงานการกำกับของ ปีเตอร์ เบิร์ก และนำแสดงโดยเจ้าของรางวัลออสการ์ เจมี่ ฟ็อกซ์, เจนนิเฟอร์ การ์เนอร์ และเจสัน เบ็ทแมน แมทธิวยังเขียนบทและอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Lions for Lambs” ซึ่งนำแสดงโดย โรเบิร์ต เร็ดฟอร์ด, ทอม ครูซ และเมอริล สตรีพ จากนั้นเขาได้เขียนบทให้กับภาพยนตร์เรื่อง “State of Play” ซึ่งนำแสดงโดย เบน แอฟเฟล็ค, รัสเซลล์ โครว์ และเรเชล แม็คอดัมส์ แมทธิวได้ดัดแปลงบทภาพยนตร์เรื่อง “World War Z” ให้กับพาราเม้าต์ พิคเจอร์ส ซึ่งนำแสดงโดย แบรด พิตต์ และกำกับโดย มาร์ค ฟอร์สเตอร์ เมื่อเร็วๆ นี้ เขาดัดแปลงบทเรื่อง “The Snowman” ให้กับ มาร์ติน สกอร์เซซี่ และเวิร์กกิ้ง ไทเทิ้ล หลังจากนี้ แมทธิวมีกำหนดจะกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา จากบทภาพยนตร์ที่เขาเขียนเองเรื่อง “Violent Talent” โดยมี จาร์เร็ตต์ เฮดลันด์ ได้รับการวางตัวในบทนำ เขายังอยู่ระหว่างพัฒนาบทให้กับตอนแรกของซีรีส์ของ HBO ที่มี สตีฟ แม็คควีน กำกับ

 

เจ ไมเคิล สแตร็คซินสกี้ (J. Michael Straczynski) – ผู้ร่วมเขียนบท

ผลงานที่ผ่านมาของ เจ ไมเคิล สแตร็คซินสกี้ ยังรวมถึงภาพยนตร์ห้าเรื่องที่ถูกสร้างออกมาในระยะเวลาหกปี ได้แก่ “Changeling” ผลงานของผู้กำกับ คลิ้นต์ อีสต์วู้ด, “Ninja Assassin” ผลงานของพี่น้องวาซอว์สกี้, “Thor” ผลงานของผู้กำกับ เคนเนธ บรานาห์, “Underworld: Awakening” และ “World War Z” ปัจจุบัน เขาอยู่ระหว่างการเขียนบทให้กับภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนของ แวเลียนท์ คอมิคส์ เรื่อง “Shadowman”

ในแวดวงทีวี สแตร็คซินสกี้เคยเขียนบทให้กับซีรีส์ต่างๆ มากกว่า 300 ตอน และเขียนบทให้กับหนังทีวี 6 เรื่อง เขายังสร้างและอำนวยการสร้างซีรีส์อย่าง “Babylon 5” ซึ่งเขายังได้กำกับหนังทีวีความยาวสองชั่วโมงเรื่อง “Crusade” และ “Jeremiah” ผลงานอื่นๆ ของเขา ได้แก่ “Murder, She Wrote” และ “The Twilight Zone”

 

ดรูว์ ก็อดดาร์ด (Drew Goddard) – ผู้ร่วมเขียนบท

ดรูว์ ก็อดดาร์ด ซึ่งเป็นทั้งมือเขียนบทและผู้กำกับ คือบุคคลที่เป็นกุญแจสำคัญของซีรีส์ยอดนิยมถึง 4 เรื่องในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 อย่างเรื่อง “Buffy the Vampire Slayer” (The WB/UPN, 1997-2003), “Angel” (The WB, 1999-2004), “Alias” (ABC, 2001-06) และ “Lost” (ABC, 2004-2010) ความสำเร็จเหล่านี้ชักนำเขาไปสู่วงการภาพยนตร์จอเงิน โดยมีผลงานอย่างภาพยนตร์เรื่อง “Cloverfield” (2008) และ “The Cabin in the Woods” (2012)

 

 

เดม่อน ลินเดลอฟ (Damon Lindelof) – ผู้ร่วมเขียนบท

เดม่อน ลินเดลอฟได้รับปริญญาทางด้านภาพยนตร์จากโรงเรียน Tisch School of the Arts ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ก่อนที่เขาจะเข้ามาทำงานด้านการเขียนบทในแวดวงทีวี และในปี 2004 เขาได้เริ่มต้นทำงานกับ มือเขียนบท-ผู้กำกับ-ผู้อำนวยการสร้าง เจเจ อับรามส์ เพื่อสร้างซีรีส์เรื่อง “Lost” ซึ่งทำให้มือเขียนบทเก่งๆ มากมายได้มาผนึกกำลังกัน และต่อมาพวกเขาได้กลับมาร่วมมือกันเขียนบทให้กับภาพยนตร์เรื่อง Star Trek ซึ่งเป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกที่ลินเดลอฟรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง นับแต่นั้นมา เขายังได้ทำงานเป็นทั้งมือเขียนบทและผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ของ ริดลี่ย์ สก็อตต์ เรื่องด “Prometheus” และเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือภาพยนตร์ภาคต่อ Star Trek Into Darkness

 

 

แม็กซ์ บรูกส์ (Max Brooks) – ผู้ร่วมเขียนบท

แม็กซ์ บรูกส์คือผู้แต่งหนังสือเบสต์เซลเลอร์ถึงสองเรื่อง คือ “The Zombie Survival Guide” และ “World War Z” เขายังเขียนบทให้กับรายการ “Saturday Night Live” ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลเอ็มมี่อีกด้วย

 

 

แบรด พิตต์ (Brad Pitt) – ผู้อำนวยการสร้าง/ รับบทเป็น เจอร์รี่ เลน

แบรด พิตต์ คือหนึ่งในนักแสดงที่มีความสามารถหลากหลายที่สุดและมีสถานะที่แข็งแกร่งที่สุดในวงการภาพยนตร์ปัจจุบัน และยังเป็นผู้อำนวยการสร้างที่ประสบความสำเร็จ โดยมีบริษัทผลิตภาพยนตร์ที่ชื่อ แพลน บี เอนเตอร์เทนเมนต์

เมื่อปีที่แล้ว พิตต์ได้กลับไปร่วมงานกับ แอนดรูว์ โดมินิก สร้างภาพยนตร์เรื่อง “Killing Them Softly” นี่คือคร้งที่สองที่พิตต์ได้แสดงนำและอำนวยการสร้างภาพยนตร์ของโดมินิก โดยครั้งแรกคือการร่วมงานกันในภาพยนตร์เรื่อง “The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford” ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลดารานำชายยอดเยี่ยมที่งานเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิส หลังจากภาพยนตร์เรื่อง “World War Z” แล้ว พิตต์ยังรับบทสมทบในภาพยนตร์ของ คอร์แม็ค แม็คคาร์ธี่ เรื่อง “The Counselor” ที่กำกับโดย ริดลี่ย์ สก็อตต์ และยังไปร่วมแสดงในภาพยนตร์ของ สตีฟ แม็คควีน เรื่อง “12 Years a Slave” ซึ่งเขาอำนวยการสร้างผ่านบริษัท แพลน บี

ในปี 2011 แบรดได้มอบบทบาทการแสดงอันซับซ้อนเข้มข้นถึงสองบทบาท ในภาพยนตร์ของ เทอร์เรนซ์ มาลิค เรื่อง “Tree of Life” และภาพยนตร์ของ เบนเน็ตต์ มิลเลอร์ เรื่อง “Moneyball” ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เขาทำหน้าที่อำนวยการสร้างด้วย  ก่อนหน้านั้น แบรดยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ จากภาพยนตร์ของ เดวิด ฟินเชอร์ เรื่อง The Curious Case of Benjamin Button” และภาพยนตร์ของ เทอร์รี่ กิลเลี่ยม เรื่อง “Twelve Monkeys” ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ เขายังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ จากภาพยนตร์ของ เอ๊ดเวิร์ด ซวิค เรื่อง “Legends of the Fall” และภาพยนตร์ของ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู เรื่อง “Babel”

ในปี 2009 พิตต์แสดงนำในภาพยนตร์ของ เควนติน ทาแรนติโน่ เรื่อง “Inglorious Basterds” และร่วมแสดงในภาพยนตร์ทริลเลอร์ตลกของพี่น้อง โจลและอีธาน โคน เรื่อง “Burn After Reading” เขายังร่วมแสดงกับ จอร์จ คลูนี่ย์ ในภาพยนตร์ของ สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก เรื่อง “Ocean’s Eleven,” “Ocean’s Twelve” และ “Ocean’s Thirteen”

บทบาทการแสดงของพิตต์ ในภาพยนตร์รางวัลออสการ์ของ ริดลี่ย์ สก็อตต์ เรื่อง “Thelma and Louise” ทำให้เขาได้รับความสนใจจากคนดูทั่วโลก หลังจากนั้นไม่นาน เขาก้าวขึ้นมาแสดงนำในภาพยนตร์รางวัลออสการ์ของ โรเบิร์ต เร็ดฟอร์ด เรื่อง “A River Runs Through It” ภาพยนตร์ของ โดมินิค ซีน่า เรื่อง “Kalifornia” และภาพยนตร์ของ โทนี่ สก็อตต์ เรื่อง “True Romance” พิตต์ยังได้รับคำชมจากบทบาทการแสดงในภาพยนตร์ของ เดวิด ฟินเชอร์ ถึงสองเรื่อง ได้แก่ “Se7en” และ “Fight Club” ผลงานภาพยนตร์เมื่อเร็วๆนี้ของเขา ได้แก่ ภาพยนตร์ของ ดั๊ก ไลแมน เรื่อง “Mr. and Mrs. Smith” และภาพยนตร์ของ กาย ริทชี่ เรื่อง “Snatch”

 

ดีดี้ การ์ดเนอร์ (Dede Gardner) – ผู้อำนวยการสร้าง

ดีดี้ การ์ดเนอร์คือประธานบริษัท แพลน บี เอนเตอร์เทนเม้นต์ ที่ซึ่งเธอดูแลงานสร้างภาพยนตร์จอเงินและจอแก้วมากมาย เธอคือผู้อำนวยการสร้างของผลงานภาพยนตร์ของ เทอร์เรนซ์ มาลิค เรื่อง The Tree of Life ซึ่งนำแสดงโดยแบรด พิตต์, เจสสิก้า แชสเทน และฌอน เพนน์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เมื่อเร็วๆ นี้ เธออำนวยการสร้างภาพยนตร์ของมาร์ค ฟอร์สเตอร์ เรื่อง World War Z, ภาพยนตร์ของ สตีฟ แม็คควีน เรื่อง Twelve Years a Slave และภาพยนตร์ของ แอนดรูว์ โดมินิก เรื่อง Killing Them Softly

ในปี 2010 การ์ดเนอร์อำนวยการสร้างภาพยนตร์ของ ไรอัน เมอร์ฟี่ เรื่อง Eat, Pray, Love ซึ่งสร้างจากหนังสือขายดีของ เอลิซาเบธ กิลเบิร์ต และนำแสดงโดย จูเลีย โรเบิร์ตส์, ฮาเวียร์ บาร์เด็ม และริชาร์ด เจนกิ้นส์ ในปี 2009 เธออำนวยการสร้างภาพยนตร์ของ โรเบิร์ต ชเวนท์กี้ เรื่อง The Time Traveler’s Wife ซึ่งนำแสดงโดย เรเชล แม็คอดัมส์ และเอริค บาน่า และภาพยนตร์เรื่อง The Private Lives of Pippa Lee ซึ่งกำกับโดย รีเบ็คก้า มิลเลอร์ และแสดงนำโดย โรเบิร์ต ไรท์ เพนน์, อลัน อาร์กิ้น, เคียนู รีฟส์ และเบลก ไลฟ์ลี่

ในปี 2007 การ์ดเนอร์อำนวยการสร้างภาพยนตร์ดราม่าที่ได้รับคำชมไปทั่วโลกอย่างเรื่อง The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford ซึ่งนำแสดงโดย แบรด พิตต์ และเคซี่ย์ แอฟเฟล็ค และในปีนี้เช่นกันที่เธออำนวยการสร้างภาพยนตร์ดราม่า เรื่อง A Mighty Heart ที่กำกับโดย ไมเคิล วินเทอร์บ็อทท่อม และนำแสดงโดย แองเจลิน่า โจลี่

ผลงานการอำนวยการสร้างเรื่องอื่นๆ ของการ์ดเนอร์ ได้แก่ภาพยนตร์อินดี้อย่าง Year of the Dog ซึ่งนำแสดงโดย มอลลี่ แชนน่อน และลอร่า เดิร์น และ Running with Scissors ซึ่งแสดงนำโดย แอนเน็ตต์ เบนนิ่ง และกำกับโดยไรอัน เมอร์ฟี่

 

เจเรมี่ ไคลเนอร์ (Jeremy Kleiner) – ผู้อำนวยการสร้าง

เจเรมี่ ไคลเนอร์เติบโตในนิวยอร์กซิตี้ และศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาเริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานฝึกหัดที่บริษัท Fourth Floor Productions ของ เออร์โรล มอร์ริส จากนั้นเขาได้ย้ายมาทำงานที่บริษัทของ ดิ๊ก และลอเรน ชูเลอร์ ดอนเนอร์ ก่อนจะมาร่วมงานกับ แพลน บี ในปี 2003 ที่ แพลน บี เขาได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ของ สตีฟ แม็คควีน เรื่อง “Twelve Years a Slave,” (Fox Searchlight/New Regency) และภาพยนตร์ใหม่เรื่อง “True Story” (New Regency) ซึ่งนำแสดงโดย โจนาห์ ฮิลล์ และเจมส์ ฟรังโก้ เขายังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับผลงานของ แพลน บี เรื่อง “Kick-Ass,” “Eat Pray Love” และ “The Private Lives of Pippa Lee”

 

เอียน ไบรซ์ (Ian Bryce) – ผู้อำนวยการสร้าง

เอียน ไบรซ์ คือผู้อำนวยการสร้างจากภาพยนตร์ฮิตโกยรายได้ของค่ายดรีมเวิร์กส์/ พาราเม้าต์ พิคเจอร์ส เรื่อง “Transformers,” “Transformers: Revenge of the Fallen” และ “Transformers: Dark of the Moon” และในเดือนพฤษภาคม ปี 2013 ภาคที่ 4 ของภาพยนตร์แฟรนไชส์เรื่องนี้จะเปิดกล้อง พร้อมทีมนักแสดงชุดใหม่ และเทคโนโลยี 3-D ล่าสุด

เมื่อเร็วๆ นี้ ไบรซ์ทำหน้าที่อำนวยการสร้างภาพยนตร์ของพาราเม้าต์ เรื่อง “World War Z” ที่นำแสดงโดย แบรด พิตต์ และมิรีลล์ เอโนส เขาไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับงานสร้างหนังแอ็กชั่นผจญภัย เพราะเขาเคยทำหน้าที่อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลของ แซม ไรมี่ เรื่อง “Spider-Man” ซึ่งนำแสดงโดย โทบี้ แม็คไกวร์ และกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ในอเมริกาสูงสุดในปี 2002 หนึ่งปีต่อมา เขาอำนวยการสร้างภาพยนตร์ดราม่าของผู้กำกับ อังตวน ฟูควา เรื่อง “Tears of the Sun” ซึ่งนำแสดงโดย บรูซ วิลลิส และในปี 2005 เขาอำนวยการสร้างภาพยนตร์ของไมเคิล เบย์ เรื่อง “The Island” หลังจาก “Transformers” แล้ว เขาได้ไปทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Hancock” ซึ่งนำแสดงโดย วิลล์ สมิธ, ชาร์ลิซ เธียรอน และเจสัน เบ็ทแมน

ในปี 1999 ไบรซ์ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงทั้งรางวัลออสการ์และรางวัลบัฟต้าจากการทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก เรื่อง “Saving Private Ryan” เขายังอำนวยการสร้างภาพยนตร์ของ คาเมรอนโครว์ เรื่อง “Almost Famous” ซึ่งได้รับรางวัลลูกโลกทองคำในสาขาภาพยนตร์เพลงหรือตลกยอดเยี่ยม

ผลงานการอำนวยการสร้างเรื่องอื่นๆ ของไบรซ์ ได้แก่ “Forces of Nature” ซึ่งนำแสดงโดย เบน แอฟเฟล็ค และแซนดร้า บูลล็อค, ภาพยนตร์แอ็กชั่นทริลเลอร์เรื่อง “Hard Rain” ซึ่งนำแสดงโดย มอร์แกน ฟรีแมน และคริสเตียน สเลเตอร์, ภาพยนตร์เรื่อง “The Beverly Hillbillies” และภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ของ ยาน เดอ บองต์ เรื่อง “Twister” และ “Speed”

 

แบรด ซิมป์สัน (Brad Simpson) – ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

แบรด ซิปม์สันคือผู้อำนวยการสร้างและหุ้นส่วนในบริษัทคัลเลอร์ฟอร์ซ เขาเริ่มต้นทำงานในวงการด้วยการทำงานที่บริษัทผลิตภาพยนตร์อิสระที่ชื่อ คิลเลอร์ ฟิล์มส์

ขณะทำงานอยู่ที่นั่น เขาได้ทำหน้าที่ร่วมอำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Far From Heaven” ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 4 รางวัลออสการ์ และ 3 รางวัลลูกโลกทองคำ ซิมป์สันยังทำหน้าที่ แอสโซซิเอท โปรดิวเซอร์ ให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Boys Don’t Cry” ซึ่งทำให้ ฮิลารี่ สแวงก์ ได้รับรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำ สาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยม เขายังอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Party Monster” และเป็นผู้อำนวยการสร้างร่วมให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Home at the End of the World”

ตั้งแต่ปี 2003-2007 ซิมป์สันทำหน้าที่เป็นประธานให้กับบริษัทแอ๊ปเปี้ยน เวย์ บริษัทผลิตภาพยนตร์ของพระเอกหนุ่ม ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ

ในปี 2008 เขาได้ร่วมหุ้นกับ มาร์ค ฟอร์สเตอร์ เปิดบริษัท แอ๊พพาราตุส และในปี 2010 เขาอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Diary of a Wimpy Kid” ให้กับฟ็อกซ์ 2000 และในปี 2011 เขาอำนวยการสร้างภาพยนตร์ภาคต่อ “Diary of a Wimpy Kid: Rodrick Rules” เขาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์ของฟอร์สเตอร์เรื่อง “Machine Gun Preacher” ซึ่งนำแสดงโดย เจอราร์ด บัทเลอร์

 

เดวิด เอลลิสัน (David Ellison) – ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

เดวิด เอลลิสันก่อตั้งบริษัท สกายแดนซ์ โปรดักชั่นส์ขึ้นมาเพื่อสร้างภาพยนตร์แอ็กชั่น ผจญภัย วิทยาศาสตร์ และภาพยนตร์แฟนตาซี ควบคู่ไปกับภาพยนตร์ตลกทุนสร้างต่ำ และภาพยนตร์อีกหลากหลายแนว ในปี 2010 สกายแดนซ์ได้เซ็นสัญญากับพาราเม้าต์ พิคเจอร์ส และผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกภายใต้สัญญาฉบับนี้ก็คือ “True Grit” ผลงานของ โจลและอีธาน โคน ที่สร้างจากนิยายของ ชาร์ลส์ พอร์ทิส

สกายแดนซ์ยังสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Mission: Impossible – Ghost Protocol” ซึ่งอำนวยการสร้างโดย เจเจ อับรามส์ และกำกับโดย แบรด เบิร์ด และยังสร้างภาพยนตร์ของ คริสโตเฟอร์ แม็คควอร์รี่ เรื่อง “Jack Reacher” ซึ่งแสดงนำโดย ทอม ครูซ และภาพยนตร์ตลกเรื่อง “The Guilt Trip” ซึ่งนำแสดงโดย บาร์บรา สตรัยแซนด์ และเซ็ธ โรเก้น และภาพยนตร์เรื่อง “G.I. Joe: Retaliation” ซึ่งนำแสดงโดย บรูซ วิลลิส, แชนนิ่ง ทาทั่ม และดเวย์น จอห์นสัน

ผลงานใหม่ของเขา ได้แก่ Star Trek: Into Darkness ซึ่งนำแสดงโดย แซ็คคารี่ ควินโต และคริส ไพน์, ภาพยนตร์ทริลเลอร์ของ มาร์ค ฟอร์สเตอร์ เรื่อง “World War Z’ และภาพยนตร์ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ ที่พูดถึงตัว แจ็ค ไรอัน และกำกับโดย เคนเนธ บรานาห์ และผลงานที่อยู่ระหว่างดำเนินงานสร้างในปัจจุบัน ก็คือ “The Hitman’s Bodyguard” ที่เขียนบทโดย ทอม โอคอนเนอร์

 

เดน่าโกลด์เบิร์ก (Dana Goldberg) – ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

เดน่า โกลด์เบิร์กเข้าทำงานกับบริษัทสกายแดนซ์ โปรดักชั่นส์ ในปี 2010 ในตำแหน่งประธานฝ่ายโปรดักชั่น ก่อนหน้านี้เธอเคยทำหน้าที่เดียวกันนั้นให้กับบริษัท วิลเลจ โร้ดโชว์ โดยได้ดูแลงานสร้างให้กับภาพยนตร์ชุด “Ocean’s Eleven” ภาพยนตร์ไตรภาค “Matrix” ภาพยนตร์เรื่อง “Training Day,” “Get Smart” และ “Charlie and the Chocolate Factory” เธอยังเคยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิเช่น “I Am Legend,” “The Brave One” และภาพยนตร์ราวัลออสการ์ เรื่อง “Happy Feet”

เมื่อเร็วๆ นี้ โกลด์เบิร์กทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างผ่านบริษัทสกายแดนซ์ ให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Jack Reacher” ซึ่งนำแสดงโดย ทอม ครูซ ภาพยนตร์ตลกเรื่อง “The Guilt Trip” ซึ่งนำแสดงโดย บาร์บร่า สตรัยแซนด์ และเซ็ธ โรเก้น และ “G.I. Joe 2: Retaliation” ซึ่งนำแสดงโดย บรูซ วิลลิส, แชนนิ่ง ทาทั่ม และดเวย์น จอห์นสัน

ผลงานใหม่ที่โกลด์เบิร์กทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหาร ได้แก่ “Star Trek: Into Darkness” และภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวของตัวละคร แจ็ค ไรอัน แต่ยังไม่มีการตั้งชื่อเรื่อง ซึ่งกำกับโดย เคนเนธ บรานาห์ และนำแสดงโดย คริส ไพน์

 

พอล ชวาเก้ (Paul Schwake) – ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

พอล ชวาเก้คือหัวหน้าเจ้าหน้าที่และหัวหน้าฝ่ายการเงินของสกายแดนซ์

ก่อนจะมาทำงานให้กับสกายแดนซ์ เขาเคยร่วมหุ้นกับ บิลล์ ท็อดแมน จูเนียร์ และเอ๊ดเวิร์ด มิลสไตน์ ก่อตั้งบริษัท เลเวล วัน เอนเตอร์เทนเมนต์ และได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ตลกเรื่อง “Grandma’s Boy” และ “Strange Wilderness” เขายังอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “Rendition” ซึ่งนำแสดงโดย รีส วิเธอร์สปูน และเมอริล สตรีพ

ก่อนหน้าจะมาก่อตั้งบริษัทเลเวล วัน เขาเคยช่วยร่วมก่อตั้งบริษัท สปายกลาส เอนเตอร์เทนเมนต์ กรุ๊ป ระหว่างทำงานอยู่ที่นั่น สปายกลาสได้ผลิตภาพยนตร์มากกว่า 20 เรื่อง อาทิเช่น “The Sixth Sense,” “Bruce Almighty” และ “Seabiscuit”

 

แกรห์ม คิง (Graham King) – ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

แกรห์ม คิง คือผู้อำนวยการสร้างระดับรางวัลออสการ์ และยังเป็นหุ้นส่วนบริษัท จีเค ฟิล์มส์ ซึ่งเขาร่วมก่อตั้งกับ ทิม เฮดดิงตันในปี 2007

เมื่อเร็วๆ นี้ คิงได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์ดราม่าของ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส เรื่อง “Argo” ซึ่งสามารถคว้ารางวัลต่างๆ มาได้มากมาย และทำรายได้จากทั่วโลกไปมากกว่า $231 ล้าน

ในปี 2011 คิงทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ถึงสี่เรื่อง เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำ จากภาพยนตร์ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เรื่อง “Hugo” เขายังอำนวยการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนตลกของ กอร์ เวอร์บินสกี้ เรื่อง “Rango” ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์การ์ตูนยอดเยี่ยม ในปีเดียวกันนั้น เขายังอำนวยการสร้างภาพยนตร์ผลงานการกำกับของ แองเจลิน่า โจลี่ เรื่อง “In the Land of Blood and Honey” ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ดราม่า เรื่อง “The Rum Diary” ซึ่งนำแสดงโดย จอห์นนี่ เด๊ปป์ เขายังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ของ ทิม เบอร์ตัน เรื่อง “Dark Shadows” ซึ่งนำแสดงโดย เด๊ปป์, มิเชลล์ ไฟฟ์เฟอร์, อีวา กรีน และเฮเลนน่า บอนแฮม คาร์เตอร์

คิงเคยได้รับรางวัลออสการ์จากการทำหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์ดราม่าอาชญากรรมในปี 2006 ของสกอร์เซซี่ เรื่อง “The Departed” ซึ่งนำแสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ, แม็ตต์ เดม่อน, แจ็ค นิโคลสัน และมาร์ก วอห์ลเบิร์ก

เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งแรก จากภาพยนตร์ของ สกอร์เซซี่ เรื่อง “The Aviator” ซึ่งนำแสดงโดย ดิคาปริโอ

ผลงานการอำนวยการสร้างเรื่องอื่นๆ ของคิง ได้แก่ ภาพยนตร์ทริลเลอร์โรแมนติค เรื่อง “The Tourist” ที่นำแสดงโดย จอห์นนี่ เด๊ปป์ และแองเจลิน่า โจลี่, ภาพยนตร์ดราม่าอาชญากรรมของ เบน แอฟเฟล็ค เรื่อง “The Town” ภาพยนตร์ทริลเลอร์ของมาร์ติน แคมป์เบลล์ เรื่อง “Edge of Darkness” ซึ่งนำแสดงโดย เมล กิ๊บสัน, ภาพยนตร์ดราม่า เชิงประวัติศาสตร์ เรื่อง “The Young Victoria” ที่นำแสดงโดย เอมิลี่ บลันท์ และภาพยนตร์ดราม่า เรื่อง “Blood Diamond” ซึ่งนำแสดงโดย ดิคาปริโอ นอกจากนี้ เขายังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารร่วมให้กับภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ของสกอร์เซซี่ เรื่อง “Gangs of New York”

 

 

 

ทิม เฮดดิงตัน (Tim Headington) – ผู้อำนวยการสร้างบริหาร

ทิม เฮดดิงตันได้ร่วมก่อตั้งบริษัท จีเค ฟิล์มส์ ร่วมกับแกรห์ม คิง ในปี 2007 และภายใต้ชื่อบริษัทแห่งนี้ เขากับคิงได้ทำหน้าที่อำนวยการสร้างให้กับภาพยนตร์คว้ารางวัลของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เรื่อง “Hugo,” และภาพยนตร์ที่เป็นผลงานการกำกับเรื่องแรกของ แองเจลิน่า โจลี่ เรื่อง “In the Land of Blood and Honey” ผลงานการสร้างเรื่องก่อนหน้านี้ของพวกเขา ได้แก่ “The Rum Diary” ซึ่งนำแสดงโดย จอห์นนี่ เด๊ปป์, “The Tourist” ซึ่งนำแสดงโดย แองเจลิน่า โจลี่ และจอห์นนี่ เด๊ปป์, “Edge of Darkness” ที่นำแสดงโดย เมล กิ๊บสัน และภาพยนตร์ดราม่าที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 3 รางวัลอย่าง “The Young Victoria” เฮดดิงตันยังทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหารให้กับภาพยนตร์การ์ตูนของ กอร์ เวอร์บินสกี้ เรื่อง “Rango” รวมถึงภาพยนตร์ของ เบน แอฟเฟล็ค เรื่อง “Argo” ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาได้ในปี 2013

 

เบน เซเรซิน (Ben Seresin, ASC / BSC) – ผู้กำกับภาพ

เบน เซเรซินเริ่มประเดิมงานกำกับภาพให้กับภาพยนตร์จากสตูดิโอใหญ่ๆ โดยได้ร่วมงานกับผู้กำกับ ไมเคิล เบย์ ในภาคที่ 2 ของภาพยนตร์แฟรนไชส์ “Transformers” ในตอน “Transformers: Revenge of the Fallen” หลังจากนั้นไม่นาน เขาได้ร่วมงานกับ โทนี่ สก็อตต์ ในภาพยนตร์แอ็กชั่นผจญภัยเรื่อง “Unstoppable” ซึ่งนำแสดงโดย เดนเซล วอชิงตัน และคริส ไพน์ ผลงานล่าสุดของเขา ได้แก่ ภาพยนตร์อาชญากรรมของ อัลเลน ฮิวจ์ส เรื่อง “Broken City” ซึ่งนำแสดงโดย มาร์ก วอห์ลเบิร์ก, รัสเซลล์  โครว์ และแคเธอรีน ซีต้า-โจนส์

ในปี 2000 เซเรซินเคยทำหน้าที่เป็นผู้กำกับกองถ่ายย่อยที่ 2 ให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Lara Croft: Tomb Raider” ติดตามมาด้วยการถ่ายทำกองถ่ายย่อยให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Terminator 3” ในปี 2007 เขาใช้เวลาห้าอาทิตย์ดูแลการถ่ายทำให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Pirates of the Caribbean: At World’s End”

 

ไนเจล เฟลป์ส (Nigel Phelps) – โปรดักชั่น ดีไซเนอร์

ไนเจล เฟลป์สมีผลงานการออกแบบโปรดักชั่นให้กับภาพยนตร์หลากหลายแนว ตั้งแต่ภาพยนตร์ของ ร็อบ โคเฮน เรื่อง “The Mummy: Tomb of the Dragon Emperor” และภาพยนตร์ของ วูล์ฟกัง ปีเตอร์เซ่น เรื่อง “Troy” จนถึงภาพยนตร์ของ ไมเคิล เบย์ เรื่อง “Transformers: Dark of the Moon,” “Transformers: Revenge of the Fallen,” “The Island” และ “Pearl Harbor” และภาพยนตร์ของ ฟิลลิป นอยซ์ เรื่อง “The Bone Collector”

เฟลป์สเริ่มต้นเข้าวงการด้วยการทำงานกับอังตวน เฟิร์สต์ เจ้าของรางวัลออสการ์ เขาทำงานเป็นผู้วาดรูปประกอบให้กับภาพยนตร์ของ นีล จอร์แดน เรื่อง “The Company of Wolves” จากนั้นเขาได้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับศิลป์ให้กับภาพยนตร์ของ สแตนลี่ย์ คูบริค เรื่อง “Full Metal Jacket” จากนั้น เฟลป์สได้ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับศิลป์ให้กับเฟิร์สต์ตอนทำงานให้กับภาพยนตร์ของ ทิม เบอร์ตัน เรื่อง “Batman”

ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาทำหน้าที่เป็นโปรดักชั่นดีไซเนอร์ ได้แก่ “Judge Dredd” ติดตามมาด้วย “Alien: Resurrection” และต่อมาเขายังได้ร่วมงานกับ นีล จอร์แดน ในภาพยนตร์เรื่อง “In Dreams”

ปัจจุบัน เฟลป์สออิกแบบฉากอันน่าตื่นตาให้กับภาพยนตร์ดราม่ายุคสงคราม เรื่อง “1950” โดยมีการวางตัว ร็อบ โคเฮนให้เป็นผู้กำกับ

 

 

โรเจอร์ บาร์ตัน (Roger Barton) – ผู้ลำดับภาพ

โรเจอร์ บาร์ตันเริ่มต้นทำงานในแผนกตัดต่อให้กับซีรีส์สุดฮิตเรื่อง “Hart to Hart” หลังจากนั้นไม่นานเขาได้ก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ และในปี 1997 เขาได้ร่วมทำหน้าที่ลำดับภาพให้กับภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์เรื่อง “Titanic” เขาไต่เต้าในวงการอย่างรวดเร็วด้วยการได้ทำงานกับภาพยนตร์อย่าง “Armageddon,” “Pearl Harbor,” “Transformers 2: Revenge of the Fallen” และ “Transformers 3: Dark of the Moon”

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขา ได้แก่ “Star Wars: Episode III – Revenge of the Sith”, “Get Rich or Die Tryin’,” “Speed Racer” และ “The Grey”

 

แม็ตต์ เชสซี่ (Matt Chessé, A.C.E.) – ผู้ลำดับภาพ

แม็ตต์ เชสซี่ คือผู้ลำดับภาพที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้ว และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 ที่เขาได้ร่วมงานกับผู้กำกับ มาร์ค ฟอร์สเตอร์ โดยก่อนหน้านี้พวกเขาเคยร่วมงานกันในภาพยนตร์เรื่อง “Monster’s Ball,” “Finding Neverland,” “Stranger Than Ficton” และ “The Kite Runner” ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ ภาพยนตร์ของ กาวิน โอคอนเนอร์ส เรื่อง “Warrior” และภาพยนตร์ของ สก็อตต์ คอฟฟี่ย์ เรื่อง “Ellie Parker”

 

สก็อตต์ ฟาร์ร่าร์ (Scott Farrar) – วิชวล เอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์

สก็อตต์ ฟาร์ร่าร์ได้เข้าร่วมงานกับบริษัท Industrial Light & Magic ในปี 1981 ในตำแหน่งผู้จัดการกล้องให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Star Trek II: The Wrath of Khan” และในปี 1985 เขาได้รับรางวัลออสการ์ สาขาวิชวลเอฟเฟ็กต์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง “Cocoon” และสองปีต่อมา เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นวิชวล เอฟเฟ็กต์ ซูเปอร์ไวเซอร์ โดยทำงานให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Who Framed Roger Rabbit?” ฝีมือของฟาร์ร่าร์ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์อีกหลายครั้ง จากภาพยนตร์เรื่อง “Backdraft” ในปี 1991, “A.I. Artificial Intelligence” ในปี 2001 และจาก “The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe” ในปี 2005 และในปี 2007 เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาวิชวลเอฟเฟ็กต์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง “Transformers” เมื่อเร็วๆนี้ ฟาร์ร่าร์ทำหน้าที่เดียวกันนี้ให้กับภาพยนตร์เรื่อง “Transformers: Revenge of the Fallen”

 

ไซม่อน เครน (Simon Crane) – ผู้ประสานงานสตั๊นต์ และผู้กำกับกองถ่ายย่อยที่ 2

ไซม่อน เครน คือหนึ่งในผู้กำกับคิวแอ็กชั่นที่มีงานยุ่งที่สุดในปัจจุบัน เขาเริ่มต้นด้วยการทำงานเป็นนักแสดงสตั๊นต์อยู่ในอังกฤษ โดยทำงานกับภาพยนตร์อย่าง “The Living Daylights,” “Indiana Jones – Last Crusade” และ “Total Recall” เขายังเป็นนักแสดงสตั๊นต์แทน เควิน คอสต์เนอร์ ในภาพยนตร์เรื่อง “Robin Hood: Prince of Thieves”  และเล่นแทน เมล กิ๊บสัน ในภาพยนตร์เรื่อง “Air America” และ “Braveheart”

เขามีชื่อเสียงโด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง “Cliffhanger” และยังโด่งดังจากงานสตั๊นต์ที่มีสไตล์โดดเด่น ที่มีให้เห็นในภาพยนตร์อย่าง “Goldeneye,” “Titanic,” “The Mummy” และ “The World Is Not Enough” เขายังเป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์ความสำเร็จให้กับภาพยนตร์อย่าง “Braveheart” และ “Saving Private Ryan” ซึ่งเขาเป็นผู้สร้างฉากสู้รบในแบบที่ยังไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อน

จุดเริ่มต้นในงานกำกับคิวแอ็กชั่นของเขา ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง “Vertical Limit” และ “Laura Croft: Tomb Raider” ผลงานเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมาของเขา ได้แก่ “Terminator 3,” “Troy,” “Mr. & Mrs. Smith,” “X-Men 3,” “Jumper,” “Quantum of Solace,” “Hancock,” “Salt,” “MIB 3,” “World War Z” และล่าสุด ก็คือภาพยนตร์แอ็กชั่น ทริลเลอร์ เรื่อง “All You Need Is Kill”

 

เมย์ส ซี รูบีโอ (Mayes C. Rubeo) – ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย

เมย์ส ซี รูบีโอ คือหนึ่งในคนที่มีงานสร้างสรรค์หลากหลายมากที่สุดคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน

เธอเคยร่วมงานกับผู้กำกับแถวหน้าของวงการมามากมาย อาทิเช่นโอลิเวอร์ สโตน (“Born on the of July”) และพอล เวอร์โฮเว่น (“Total Recall”) เมื่อเร็วๆ นี้ เธอได้ทำงานกับ เมล กิ๊บสัน (“Apocalypto”), เจมส์ คาเมรอน (“Avatar”), เจมส์ หว่อง (“Dragonball”)  และแอนดรูว์ สแตนตัน (“John Carter”)

 

 

มาร์โค เบลทรามี่ (Marco Beltrami) – ผู้แต่งดนตรีประกอบ

มาร์โค เบลทรามี่ เริ่มก้าวเข้าสู่งานแต่งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีให้กับภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิเช่น “Hellboy” (2004) และภาพยนตร์ภาคต่อระดับบล็อกบัสเตอร์อย่าง “Terminator 3: Rise of the Machines” (2003) หลังจากแต่งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์ภาคต่อที่ทุกคนรอคอยอย่างเรื่อง “Live Free or Die Hard” (2007) และภาพยนตร์แอ็กชั่นที่สร้างจากหนังสือการ์ตูน เรื่อง “Max Payne” (2008) เขายังได้แต่งดนตรีประกอบระดับเข้าชิงรางวัลออสการ์ ให้กับภาพยนตร์เรื่อง “The Hurt Locker” (2009) ซึ่งส่งให้เขาก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในนักแต่งดนตรีประกอบแถวหน้าของฮอลลีวู้ด

 

ประวัตินักแสดง

 

แบรด พิตต์ (Brad Pitt) (ดูประวัติจากด้านบน)

 

มิรีลล์ เอโนส (Mireille Enos) รับบท คาเรน เลน

มิรีลล์ เอโนสเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงทั้งรางวัลลูกโลกทองคำและรางวัลเอ็มมี่จากบท ซาร่าห์ ลินเด้น ในเรื่อง “The Killing” ซึ่งถือเป็นบทแจ้งเกิดให้กับเธอ โดยปัจจุบัน เธออยู่ระหว่างถ่ายทำซีซั่นที่ 3 ที่จะเริ่มออกอากาศในวันที่ 2 มิถุนายน ปี 2013

เมื่อเร็วๆ นี้ เอโนสร่วมแสดงอยู่ในภาพยนตร์ดราม่าอาชญากรรมของ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส เรื่อง “Gangster Squad” ซึ่งเธอร่วมแสดงกับ จอช โบรลิน, ไรอัน กอสลิ่ง,ฌอน เพนน์ และเอ็มม่า สโตน

นอกจากนี้ เธอยังมีผลงานภาพยนตร์ที่ปิดกล้องไปแล้ว 3 เรื่อง ได้แก่ “Ten” ซึ่งกำกับโดย เดวิด อาเยอร์ และนำแสดงโดย แซม เวิร์ธทิงตัน, เทอร์เรนซ์ ฮาวเวิร์ด และอาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์, “Devil’s Knot” และ “Queen of the Night” ซึ่งทั้งสองเรื่องกำกับโดย อะตอม อีโกแยน

 

เจมส์ แบ็ดจ์ เดล (James Badge Dale) รับบท สเป็ก

เจมส์ แบ็ดจ์ เดล คือหนึ่งในนักแสดงรุ่นใหม่ที่ฝีมือเป็นที่ยอมรับมากที่สุด และเขากำลังไต่เต้าด้วยผลงานการแสดงอันน่าประทับใจในปี 2013

ในภาพยนตร์เรื่อง “Iron Man 3” ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ โรเบิร์ต ดาวนี่ย์ จูเนียร์, เซอร์เบน คิงสลี่ย์, กาย เพียร์ซ, กวินเนธ พัลโทรว์, ดอน เชียเดิล และจอน แฟฟโรว์ เขารับบทเป็นผู้ร้ายที่ชื่อ เอริค เซวิน และในภาพยนตร์ใหม่ของ กอร์ เวอร์บินสกี้ เรื่อง “The Lone Ranger” เขาจะร่วมแสดงกับ จอห์นนี่ เด๊ปป์ และอาร์มี่ แฮมเมอร์

เมื่อเร็วๆ นี้ เดลร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “Parkland” ซึ่งเล่าเรื่องราวเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลพาร์คแลนด์ ในดัลลัส ในวันที่ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ถูกสังหารเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี 1963 โดย เดล รับบทเป็น “โรเบิร์ต ออสวอลด์ น้องชายของ ลี ฮาร์วี่ย์ ออสวอลด์

เดลยังร่วมแสดงในภาพยนตร์ของ พาราเม้าต์ เรื่อง “Flight” ที่กำกับโดย โรเบิร์ต เซเมคคิส และนำแสดงโดย เดนเซล วอชิงตัน นอกจากนี้ เดลยังร่วมแสดงกับไมเคิล ฟาสส์เบนเดอร์ และแครี่ย์ มัลลิแกน ในภาพยนตร์เรื่อง “Shame” ซึ่งกำกับโดย สตีฟ แม็คควีน ติดตามมาด้วยภาพยนตร์ของ โจ คาร์นาแฮน เรื่อง “The Grey” ที่นำแสดงโดย เลียม นีสัน

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขา ได้แก่ ภาพยนตร์ดราม่าเชิงประวัติศาสตร์ของ โรเบิร์ต เร็ดฟอร์ด เรื่อง “The Conspirator” ซ฿งนำแสดงโดย โรบิน ไรท์ และเจมส์ แม็คอาวอย และภาพยนตร์รางวัลออสการ์ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เรื่อง “The Departed”

 

 

แดนีลล่า เคอร์เทสซ์ (Daniella Kertesz) รับบท เซเก้น

แดนีลล่า เคอร์เทสซ์เกิดเดือนมีนาคม ปี 1988 ในเยรูซาเลม และย้ายมาอยู่เทลอาวีฟตอนอายุ 14 ปี เธอได้ร่วมแสดงในผลงานซีรีส์ทางทีวีเรื่องแรกด้วยเรื่อง “Adumot” “World War Z” ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอ และผลงานภาพยนตร์เรื่องต่อไป ก็คือภาพยนตร์ทริลเลอร์สยองขวัญ เรื่อง “AfterDeath”

 

แมทธิว ฟ็อกซ์ (Matthew Fox) รับบทพลร่ม

เมื่อเร็วๆ นี้ แมทธิว ฟ็อกซ์ มีผลงานการแสดงให้เห็นกันในภาพยนตร์ของ ซัมมิท พิคเจอร์ส เรื่อง “Alex Cross” ที่เขาแสดงนำร่วมกับ ไทเลอร์ เพอร์รี่ และเขายังประกบบทกับ ทอมมี่ ลี โจนส์ ในภาพยนตร์เรื่อง “Emperor”

ฟ็อกซ์ยังแสดงนำในภาพยนตร์ของ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส เรื่อง “Speed Racer” และภาพยนตร์ทริลเลอร์ของ โซนี่ เรื่อง “Vantage Point,” “We are Marshall” ที่เป็นเรื่องของเหตุการณ์เครื่องบินตกในปี 1970

 

เดวิด มอร์ส (David Morse) – รับบท เบิร์ต เรย์โนลด์ส

เดวิด มอร์สได้ชื่อว่าเป็นนักแสดงที่มีความสามารถหลากหลาย และมีผลงานทั้งในแวดวงภาพยนตร์จอเงิน จอแก้ว และละครเวที เขาเริ่มประเดิมงานภาพยนตร์ในภาพยนตร์ดราม่าของ ริชาร์ด ดอนเนอร์ เรื่อง “Inside Moves” และก้าวขึ้นไปแสดงนำในภาพยนตร์ดราม่าสองเรื่องที่ ฌอน เพนน์ เป็นผู้กำกับ ได้แก่ “The Indian Runner” และ “The Crossing Guard” มอร์สยังแสดงนำในภาพยนตร์ของ อเล็กซ์ และแอนดรูว์ สมิธ เรื่อง “The Slaughter Rule”; ภาพยนตร์ของ สก็อตต์ ฮิคส์ เรื่อง “Hearts In Atlantis”, ภาพยนตร์ดราม่าของ แฟรงก์ ดาราบองต์ เรื่อง “The Green Mile”, ภาพยนตร์เพลงดราม่าของ ลาร์ส วอน เทรียร์ เรื่อง “Dancer In The Dark” และภาพยนตร์ทริลเลอร์ของ เทย์เลอร์ แฮ็คฟอร์ด เรื่อง “Proof Of Life” ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ เม็ก ไรอัน และรัสเซลล์ โครว์ ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขา ได้แก่ “16 Blocks,” “Down In The Valley,” “Nearing Grace,” “The Dreamer,” “Crazy In Alabama,” “The Negotiator,” “The Rock,” “12 Monkeys,” “The Good Son,” “Personal Foul,” “Disturbia,” “Passengers” และภาพยนตร์รางวัลออสการ์ เรื่อง “Hurt Locker”

 

ฟาน่า โมโคน่า (Fana Mokoena) รับบท เธียร์รี่

ฟาน่า โมโคน่าคือนักแสดงชาวแอฟริกาใต้ ที่เริ่มเป็นที่สนใจของคนดูทั่วโลกจากภาพยนตร์ปี 2004 เรื่อง “Hotel Rwanda” ซึ่งเขาร่วมแสดงกับ ดอน เชียเดิล ก่อนหน้านี้ เขาเคยร่วมงานกับผู้กำกับ มาร์ค ฟอร์สเตอร์ มาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง “Machine Gun Preacher” ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ “Inside Story,” “Man on Ground,” “Safe House” และ “Violence”

 

อาบิเกล ฮาร์โกรฟ (Abigail Hargrove) รับบท เรเชล เลน

อาบิเกล ฮาร์โกรฟ เกิดในดัลลัส, เท็กซัส และเติบโตที่นั่นจนอายุ 9 ขวบ ครอบครัวของเธอได้ย้ายมาอยู่ที่ลอสแอนเจลิส ที่ซึ่งเธอได้เริ่มงานแสดง ผลงานก่อนหน้านี้ของเธอ ได้แก่ภาพยนตร์อินดี้ เรื่อง “I.D.” และ “Butterfly Circus” เธอยังมีบทบาทในซีรีส์แนวดราม่าที่ออกอากาศมานานอย่างเรื่อง “General Hospital”

 

สเตอร์ลิ่ง เจอรินส์ (Sterling Jerins) รับบท คอนสแตนซ์ เลน

นอกจาก “World War Z” แล้ว คอนสแตนซ์ เลนยังจะมีบทบาทการแสดงให้เห็นในภาพยนตร์ของ เจมส์ วาน เรื่อง “The Conjuring” รวมถึงภาพยนตร์อินดี้อย่าง “Lullaby” และ “Butterflies of Bill Baker” ผลงานใหม่หลังจากนี้ของเจอรินส์ ได้แก่ การเข้าฉากถ่ายทำภาพยนตร์ของ ร็อบ ไรเนอร์ เรื่อง “And So It Goes” ซึ่งเธอแสดงนำร่วมกับ ไดแอน คีตันและไมเคิล ดักลาส

 

ลูดี โบเค่น (Ludi Boeken) รับบท วอร์มบรัมม์

ลูดี โบเค่นเริ่มต้นด้วยการทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสงครามให้กับทาง BBC และดัทช์ ทีวี ในย่านตะวันออกกลาง และครอบคลุมถึงพื้นที่อเมริกาใต้และอเมริกากลาง และแอฟริกา

ต่อมา เขาได้กำกับภาพยนตร์สารคดีเชิงสืบสวนถึง 25 เรื่อง อาทิเช่น  ‘Who Killed Georgi Markov’ (BBC Panorama), สารคดีคว้ารางวัล เรื่อง “The Other Face of Terror” (Channel Four) และ “Gypsyland” (Channel Four)

จากนั้น เขาได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง ได้แก่ ‘Vincent and Theo’, ‘Silent Tongue’, ‘La Fracture du Myocarde’, ‘Train of Life’ ก่อนจะมากำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา เรื่อง “Britney Baby One More Time” (Sundance 2002)

ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาในฐานะผู้กำกับ ได้แก่เรื่อง “Saviors in the Night “(Unter Bauern) เรื่องราวของกลุ่มชาวไร่ชาวเยอรมัน ที่ให้การช่วยเหลือครอบครัวชาวยิวในช่วงยุคนาซีปกครองประเทศ

 

ฟาบริซิโอ แซ็คคารี กุยโด (Fabrizio Zacharee Guido) รับบท โทมัส

ฟาบริซิโอ แซ็คคารี กุยโด ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการ ตอนอายุ 13 ปี เขาเคยอำนวยการสร้าง, เขียนบท กำกับและแสดงนำในภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่อง เขามีผลงานชิ้นแรกตอนอายุ 4 ปี โดยรับบทในหนังสั้นเรื่อง “Juan the Brave” ผลงานหนังสตูดิโอเรื่องแรกรของเขา ก็คือ “World War Z”

 

**********************************************