‘พลอย เฌอมาลย์’ ร่วมรณรงค์ “วันผู้ลี้ภัยโลก” UNHCR

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ  (UNHCR)  เผยนักแสดงสาวชื่อดัง พลอย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ร่วมกับนักแสดงที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก ร่วมรณรงค์เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี   พลอย ในฐานะนักแสดงไทยคนแรกที่ UNHCR แต่งตั้งเพื่อร่วมงานในระดับนานาชาติ ร่วมสื่อสารในสปอตความยาว 30 วินาที ย้ำเตือนถึงความเข้มแข็ง และความกล้าหาญของผู้ลี้ภัย โดยเชิญชวนให้ทุกคนร่วมแบ่งปันเรื่องราวของผู้ลี้ภัยเหล่านี้

“ประสบการณ์ของผู้ลี้ภัยเป็นความรู้สึกที่สื่อถึงกันได้ หากเราตกอยู่ในฐานะผู้ที่สูญเสียทุกอย่าง ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ หรือมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความรุนแรง “ยิ่งเราได้รับรู้และช่วยกันแบ่งปันเรื่องราวออกไป เราก็จะเข้าใจผู้ลี้ภัยมากขึ้น และเราจะเห็นว่าจริงๆ แล้ว เรื่องผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน” ” พลอยกล่าว

นักแสดงทั่วโลกที่ร่วมนำเสนอสปอตรณรงค์ของ UNHCR ในปีนี้ ได้แก่ แคท เกรแฮม ดาราสาวจากเรื่อง

the Vampire Diaries นักเขียนชื่อดัง Khaled Hosseini เจ้าของผลงาน The Kite Runner และดาราสาวชาวจีน เหยา เชน ที่มีแฟนคลับทางสังคมออนไลน์กว่า 66 ล้านคน

“เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่บุคคลที่มีชื่อเสียงอย่างคุณพลอยร่วมกับ UNHCR เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้แก่ผู้ลี้ภัย” นส.มิเรย์ จิราร์ ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทยกล่าว “เรามีความตั้งใจที่จะสานต่อการทำงานร่วมกับคุณพลอย เพื่อรณรงค์สร้างแรงสนับสนุนต่อผู้ลี้ภัยในวงกว้างต่อไป”

เกี่ยวกับวันผู้ลี้ภัยโลก 20 มิ.ย.

ในวันผู้ลี้ภัยโลก วันที่ 20 มิ.ย. ของทุกปี UNHCR ระลึกถึงความเข้มแข็ง และกล้าหาญของผู้คนกว่า 40 ล้านคนทั่วโลกที่ถูกบังคับให้หนีสงคราม และความขัดแย้งในบ้านเรือนตัวเอง

เกี่ยวกับ UNHCR

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) เป็นหน่วยงานอยู่ในสังกัดของสหประชาชาติ (United Nations)  ทำงานในระดับนานาชาติ ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยที่ถูกริดรอนศักดิ์ศรี โดยใน พ.ศ.2518 UNHCR ได้เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยคำเชิญของรัฐบาลขณะนั้น เพื่อช่วยดูแลผู้อพยพจากอินโดจีนที่มีจำนวนกว่าหนึ่งล้านคน จนกระทั่งพวกเขาสามารถกลับประเทศได้อย่างปลอดภัยปัจจุบัน UNHCR ในประเทศไทย ยังคงมีภารกิจดูแลผู้ลี้ภัยชนกลุ่มน้อยที่อาศัยในค่ายพักพิงชั่วคราวจำนวน 9 แห่งใน 4 จังหวัดชายแดนไทย-พม่า ความรับผิดชอบของ UNHCR ครอบคลุมเรื่องการให้ความคุ้มครอง การฝึกอาชีพ ตลอดจนการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่เปิดรับผู้ลี้ภัย

การดำเนินงานของ UNHCR ได้รับการสนับสนุนจากผู้อนุเคราะห์มาโดยตลอด ซึ่งรายได้จากการบริจาค ได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการตามแนวทางและวัตถุประสงค์ขององค์กรอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อผู้ลี้ภัยอย่างแท้จริง