ALL IS LOST 6 กุมภาพันธ์ 2557 ในโรงภาพยนตร์

 

เรื่องย่อ

โรเบิร์ต เรดฟอร์ด นักแสดงเจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ด นำแสดงใน All Is Lost ทริลเลอร์กลางมหาสมุทรเกี่ยวกับการดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดของชายผู้หนึ่ง ที่ต้องต่อสู้กับสภาพดินฟ้าอากาศ หลังจากที่เรือใบของเขาได้รับความเสียหายกลางทะเล ภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่เขียนบทและกำกับโดย เจ.ซี. แชนเดอร์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ด (Margin Call) และมีดนตรีประกอบโดยอเล็กซ์ อีเบิร์ท (วงเอ็ดเวิร์ด ชาร์ป แอนด์ เดอะ แม็กเนติค ซีโรส์) ได้ยกย่องความชาญฉลาดและความยืดหยุ่น อย่างติดตรึงใจ ทรงพลังและน่าติดตาม

ระหว่างการเดินทางตามลำพังในมหาสมุทรอินเดีย ชายนิรนามผู้หนึ่ง (เรดฟอร์ด) ตื่นขึ้นมาและได้พบว่าเรือยอทช์ 39 ฟุตของเขาได้ล่องลอยอยู่กลางมหาสมุทร หลังจากประสบอุบัติเหตุชนกับตู้คอนเทนเนอร์ ด้วยความที่อุปกรณ์นำทางและวิทยุสื่อสารใช้การไม่ได้ เขาก็เลยแล่นเรือเข้าไปในเส้นทางพายุที่โหมกระหน่ำอย่างไม่รู้ตัว แม้ว่าเขาจะสามารถซ่อมแซมลำเรือที่มีรูรั่ว และตัวเขาจะมีสัญชาตแบบนักเดินเรือและพลกำลังที่เกินอายุก็ตาม แต่เขาก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอดจากพายุครั้งนั้น

เขาใช้เพียงเครื่องวัดมุมและแผนที่เดินเรือในการคำนวณการเดินทางของเขา และเขาก็จำเป็นต้องอาศัยกระแสน้ำในมหาสมุทรพัดเขาล่องลอยเข้าสู่เส้นทางขนส่งสินค้า ด้วยความหวังที่จะได้อาศัยเรือที่ผ่านมา แต่ด้วยแสงแดดที่แผดเผา ปลาฉลามที่ว่ายเวียนวนและเสบียงที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ไม่นานนัก นักเดินเรือผู้มีความสามารถรอบด้านผู้นี้ก็เริ่มตระหนักถึงความตายที่รอเขาอยู่ตรงหน้า

ฟิล์มเนชัน เอนเตอร์เทนเมนต์, แบล็ค แบร์ พิคเจอร์สและทรีเฮาส์ พิคเจอร์ส ภูมิใจเสนอ ผลงานสร้างโดยบีฟอร์ เดอะ ดอร์/วอชิงตัน สแควร์ ฟิล์มส์ โปรดักชัน และโรเบิร์ต เรดฟอร์ดใน All Is Lost ผู้กำกับภาพคือแฟรงค์ จี. เดอมาร์โก้ และผู้กำกับภาพฉากใต้น้ำคือปีเตอร์ ซัคคารินี ผู้ออกแบบงานสร้างคือจอห์น พี. โกลด์สมิธ มือลำดับภาพคือพีท โบโดร ดนตรีประพันธ์โดยอเล็กซ์ อีเบิร์ท ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์คือโรเบิร์ต มุนโรว์ ผู้ควบคุมงานสร้างได้แก่ คาสเซียน เอลเวส, ลอรา ริสเตอร์, เกลน แบสเนอร์, โจชัว บลูม, โฮเวิร์ด โคเฮน, อีริค ดิ อาร์เบลอฟฟ์, ร็อบ บาร์นัม, เควิน ทูเรน, โครีย์ มูซาและแซ็คคารี ควินโต ผู้อำนวยการสร้างได้แก่จัสติน แน็พพายและเท็ดดี้ ชวอร์ซแมน อำนวยการสร้างโดยนีล ด็อดสัน พี.จี.เอ. และแอนนา เกิร์บ พี.จี.เอ. เขียนบทและกำกับโดยเจ.ซี. แชนเดอร์

 

เกี่ยวกับงานสร้าง

ผู้กำกับเจ.ซี. แชนเดอร์รู้ดีว่าเขาต้องการจะสร้างทริลเลอร์เกี่ยวกับมหาสมุทรกว้างใหญ่มานานก่อนที่ Margin Call ผลงานการกำกับและเขียนบทเรื่องแรกของเขา จะได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมเสียอีก แต่เขาต้องใช้เวลาเกือบหกปีกว่าจะเริ่มต้นไอเดียดั้งเดิมที่น่าตื่นตะลึงสำหรับ All Is Lost การผจญภัยทางทะเลสุดระทึก ที่เกิดขึ้นในทะเลทั้งหมด และมีตัวเอกเป็นตัวละครไร้ชื่อ และเกือบจะไร้บทพูด

“มันเป็นเรื่องราวที่เรียบง่ายมากๆ เกี่ยวกับชายชราที่ออกไปแล่นเรือประมาณสี่หรือห้าเดือน” แชนเดอร์กล่าว “แล้วโชคชะตาก็เล่นตลก เรือนั้นเกิดอุบัติเหตุและเราก็ได้ร่วมผจญภัยนานแปดวันกับเขาในระหว่างที่เขาสู้เพื่อเอาชีวิตรอด”

บทภาพยนตร์ของแชนเดอร์ไม่เหมือนกับบทภาพยนตร์ตามปกติซักเท่าไหร่ แทนที่จะยาว 120 หน้าตามมาตรฐาน มันกลับหนาเพียงแค่ประมาณ 30 หน้า และก็เต็มไปด้วยการบรรยาย โดยปราศจากบทพูด จริงๆ แล้ว ในตอนที่นีล ด็อดสัน ผู้อำนวยการสร้างจาก Margin Call ได้รับปึกกระดาษที่บางเฉียบนี้ เขาถามแชนเดอร์ด้วยซ้ำไปว่าเมื่อไหร่ที่เขาจะได้รับบทที่เหลือ

“ตอนที่เจ.ซี.บอกว่านั่นเป็นบททั้งหมดแล้ว ผมก็ทั้งกลัวและตื่นเต้น” ด็อดสันเล่า “หนังเรื่องแรกที่เราได้ร่วมมือกันเต็มไปด้วยบทพูด และแน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทพูด ผมยอมรับว่าความคิดแรกของผมก็คือ ‘ผมไม่รู้ว่าจะหาทุนให้กับหนังเรื่องนี้ได้ยังไง’ เพราะมันค่อนข้างจะท้าทายและบ้าบิ่นน่ะครับ”

แอนนา เกิร์บ (Margin Call) เพื่อนผู้อำนวยการสร้างของเขา เล่าว่าเธอได้อ่านบทภาพยนตร์เรื่องนี้ระหว่างที่แชนเดอร์อยู่ด้วย และเธอก็อึ้งกับสัญชาตญาณในเรื่อง

“ฉันอ่านบทหนังเรื่องนี้ มองไปที่เจ.ซี.แล้วก็บอกว่า ‘ว้าว ฉันเมาคลื่นแล้วล่ะ’” เธอเล่า “ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ฉันชอบการมีอำนาจควบคุม การอยู่กลางมหาสมุทรบนเรือใบ และอยู่ในสถานการณ์ที่ฉันต้องหวังให้โชคชะตาปรานีเป็นเรื่องที่ฉันจินตนาการไม่ได้เลย”

ในทางกลับกัน แชนเดอร์คุ้นเคยกับโลกของเรือใบเป็นอย่างดี

“แม้ว่าผมจะไม่เคยแล่นเรือข้ามมหาสมุทรตามลำพัง แต่ผมก็โตมากับการแล่นเรือ” เขากล่าว “ผมก็เลยรู้พื้นฐานของสิ่งที่ผมทำงานด้วยอยู่บ้างครับ”

แชนเดอร์กล่าวว่า ความเรียบง่ายของเรื่องราว และความท้าทายในการถ่ายทำ ทำให้เขาสนใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เรื่องราวนี้มีกลิ่นไอแบบนิยายเรื่อง The Old Man and the Sea ของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ และอย่างที่ด็อดสันอธิบายว่า “มันเป็นหนังแอ็กชันเกี่ยวกับการดำรงอยู่ ของชายคนหนึ่งที่หลงทางกลางทะเล และต้องต่อสู้กับดินฟ้าอากาศและตัวเอง”

ย่างก้าวสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ในการเดินหน้าจากหน้ากระดาษสู่จอเงินคือการคัดเลือกโรเบิร์ต เรดฟอร์ด (The Sting) นักแสดงเจ้าของสองรางวัลอคาเดมี อวอร์ด นักแสดง ผู้กำกับและผู้ก่อตั้งสถาบันซันแดนซ์คนดังได้พบและประทับใจในตัวแชนเดอร์ในตอนที่ Margin Call เปิดตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในปี 2011

“ผมชอบเจ.ซี. แชนเดอร์ครับ” เรดฟอร์ดเล่า “สำหรับผม เขาเป็นตัวแทนของคนประเภทที่เราอยากสนับสนุน เขามีวิสัยทัศน์ เขาเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่แห่งอนาคตและเขาก็บอกเล่าเรื่องราวของเขาในแบบที่พิเศษสุดมากๆ”

ในตอนที่แชนเดอร์บอกด็อดสันว่าเขาอยากจะเลือกเรดฟอร์ดมารับบทตัวละครเพียงหนึ่งเดียวของเรื่อง ที่ถูกเรียกเพียงแค่ว่า “ตัวเอกของเรา” ในบท ผู้อำนวยการสร้างก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องยาก

“ผมบอกว่า ‘ฟังนะ เขาจะพูดหนึ่งในสองอย่างนี้แน่ๆ ตอนที่เขาได้รับบท 30 หน้าเรื่องนี้” ด็อดสันเล่า “ถ้าเขาไม่บอกว่า ‘แน่นอน มันฟังดูน่าทึ่งมาก’ หรือเขาจะบอกว่า ‘ทำไมผมต้องทำแบบนั้นด้วยล่ะ ผมไม่ต้องพิสูจน์อะไรแล้ว ทำไมผมต้องไปทรมานแบบนั้นด้วย’ และก็เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเราที่เขาตอบตกลงครับ”

ในส่วนของเขา เรดฟอร์ดสนใจความแปลกใหม่ของโปรเจ็กต์นี้ ซึ่งเขาพูดถึงว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายที่ “เดินทางแบบสุดๆ และทรมานแบบสุดๆ”

“ผมชื่นชอบบทหนังเรื่องนี้เพราะมันแตกต่าง” เรดฟอร์ดกล่าว “มันบ้าบิ่น แปลกประหลาด และไม่มีบทพูด ผมรู้สึกว่าเจ.ซี. จะยึดมั่นกับวิสัยทัศน์นั้น แม้ว่ามันจะไม่ถูกอธิบายออกมาทั้งหมดก็ตาม แต่ผมก็เชื่อว่าเขารู้ว่าเขาทำอะไรอยู่ และเขาก็มีภาพในหัวอยู่แล้ว ผมรู้ว่าผมจะสนับสนุนวิสัยทัศน์นั้นแม้ว่าจะไม่รู้ทุกอย่างก็ตาม และนั่นก็เป็นเรื่องดีและน่าสนใจสำหรับผมครับ”

บางที สิ่งที่น่าแปลกใจคือการที่เรดฟอร์ดกล่าวว่าเขาไม่ได้รับคำเชิญให้นำแสดงในภาพยนตร์จากผู้กำกับอินดีที่เขาสนับสนุนมากนัก และจริงๆ แล้ว มันก็ตรงกันข้ามด้วยซ้ำไป

“มันน่าขันตรงที่ว่า หลังจากที่ผมเริ่มก่อตั้งซันแดนซ์และเริ่มเทศกาลหนังซันแดนซ์ขึ้นมา ผู้กำกับที่ผมสนับสนุนไม่เคยจ้างผมเลย” เขากล่าว ก่อนจะกล่าวเสริมอย่างติดตลกว่า “พวกเขาไม่เคยเสนอบทให้ผมเลย จนกระทั่งเจ.ซี.”

เมื่อได้นักแสดงเพียงคนเดียวของเรื่องมาแล้ว ผู้อำนวยการสร้างก็เริ่มพิจารณาลิสต์สิ่งที่จำเป็นต่อการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรือใบหลายลำ และสถานที่ที่จะจมพวกมันลง ปรากฏว่าการถ่ายทำเรื่องราวของชายคนหนึ่งและเรือของเขาจะต้องใช้เรือสามลำ หรือถ้าจะให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้นคือเรือยอทช์คาล 39 ฟุต 3 ลำ แม้ว่าทั้งสามลำจะถูกใช้แทนเรือใบของตัวเอกของเรา ที่มีชื่อว่าเวอร์จิเนีย จีน เรือแต่ละลำก็จะถูกใช้ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป ลำหนึ่งถูกใช้สำหรับการแล่นเรือในมหาสมุทรและฉากภายนอก และอีกลำหนึ่งสำหรับฉากภายในและลำที่สามสำหรับสเปเชียล เอฟเฟ็กต์

อย่างไรก็ดี ผู้ออกแบบงานสร้าง จอห์น โกลด์สมิธ ผู้ซึ่งผลงานก่อนหน้านี้รวมถึง No Country for Old Men และ The Last Samurai ได้กล่าวว่า การหาเรือสามลำที่คล้ายกันเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง “เราเจอมันในเวลาต่างๆ กันและซื้อมันจากท่าเรือต่างที่กัน พวกมันจะต้องถูกนำเข้ามา ซึ่งก็เป็นเรื่องยากในเชิงขนส่งอยู่แล้ว ผมคิดว่าเราอยู่ในขั้นตอนเตรียมงานได้สองสัปดาห์ก่อนที่จะได้เรือสามลำมาครบ และพร้อมให้เราใช้งานครับ”

พอพวกเขาได้เรือมาสามลำแล้ว ทีมผู้สร้างก็ได้ปรับแต่งเรือให้ตรงกับความต้องการของพวกเขา “เราได้ทำทุกอย่างที่คุณสามารถทำได้กับเรือในหนังเรื่องนี้ครับ” แชนเดอร์กล่าว “เราจมมัน นำมันกลับมาใหม่ แล่นมัน พามันผ่านพายุ พลิกมันจนคว่ำ แล้วก็จมมันอีกครั้ง ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงวิธีการทำงานของเรือพวกนี้ วิธีที่มันแล่นและจม รวมถึงองค์ประกอบในการแล่นเรือต่างๆ ที่เราใช้ เพื่อขยับเรื่องราวไปข้างหน้าครับ”

แชนเดอร์และโกลด์สมิธได้ร่วมงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างเรื่องราวเบื้องหลังสำหรับเรือลำนี้ ซึ่งก็ช่วยบ่งบอกถึงเรื่องราวของตัวละครของเรดฟอร์ดเอง

“ผมกับเจ.ซี.ได้คุยกันอย่างสนุกสนานเกี่ยวกับว่าเรื่องราวอะไรบ้างเกี่ยวกับตัวเอกของเราท่จะถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเรือลำนี้” โกลด์สมิธเล่า “เขามีความหลังแบบไหน เขาเคยเป็นทหารรึเปล่า หรือว่าเป็นนักธุรกิจ หรือเป็นแฟมิลีแมน”

โกลด์สมิธกล่าวว่า แชนเดอร์ให้บันทึกข้อความอย่างละเอียดเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบงานสร้าง ยกตัวอย่างเช่น ผู้กำกับบอกว่าเขาคิดภาพว่าตัวละครของเรดฟอร์ดซื้อเรือลำนี้มาตอนอายุได้ 51 ปี ซึ่งเป็นเวลาหกปีหลังจากที่เรือลำนี้ถูกสร้างขึ้น สิบปีหลังจากนั้น การบำรุงรักษาเรือลำนี้ก็อาจจะหย่อนยานเล็กน้อยเนื่องจากกระแสเศรษฐกิจตกต่ำในยุค 90s แชนเดอร์ใส่รายละเอียดให้กับเรื่องราวเบื้องหลังมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วยการจินตนาการว่าตัวละครของเรดฟอร์ดเกษียณในเวลาเจ็ดปีหลังจากนั้น แล้วก็ใช้เงินอีกประมาณ 20,000 เหรียญเพื่อซ่อมแซมเรือลำดังกล่าว

“ดังนั้น บางที เขาอาจเลือกบางสิ่งบางอย่าง เช่น เบาะรอง ที่เก่าแก่ แล้วก็ซ่อมแซมมันใหม่” โกลด์สมิธกล่าว “บางที เขาอาจปรับเปลี่ยนหน้าต่าง หรือเครื่องมืออิเล็คทรอนิคส์บางอย่าง มันก็เลยมีไอเดียของการใส่เวลาและประวัติศาสตร์หลายชั้นเข้าไปในเรือลำนี้ แต่มันก็ไม่ใช่อะไรที่มากเกินไป มันไม่ใช่การพลิกโฉม ดังนั้น งานออกแบบก็จะต้องไม่ฉูดฉาดเกินไป แต่ต้องเงียบๆ น่ะครับ”

เนื่องด้วยธรรมชาติที่โดดเดี่ยวของภาพยนตร์เรื่องนี้ หลายครั้ง แชนเดอร์ได้ปล่อยให้กล้องทิ้งภาพไว้ที่เรดฟอร์ดและดื่มด่ำกับกิจกรรมเรียบง่าย ที่ปราศจากเสียงของเขา ในแบบที่ไม่ค่อยปรากฏบนจอเงินมากนัก

“เป็นเรื่องหายากที่เราจะได้เห็นใครใช้ความคิดครับ” ด็อดสันตั้งข้อสังเกต “หนังส่วนใหญ่จะอาศัย ‘การคัท’ ถี่มากๆ และผมก็สนุกกับหนังพวกนั้น แต่นี่ไม่ใช่หนังแบบนั้น จริงอยู่ว่ามันมีซีเควนซ์แอ็กชันเยี่ยมๆ แต่กล้องจะแช่ไว้ที่เขาซักพัก เราจะได้เห็นเขากินซุปกระป๋อง ได้เห็นเขาดื่มเบอร์เบินซักแก้ว ได้เห็นเขาทำอาหารและได้เห็นเขายืนอยู่กลางสายฝน”

ในฉากที่น่าจดจำฉากหนึ่ง เขายืนอยู่ในน้ำที่ความสูงระดับอก เพื่อเก็บเสบียงจากเรือยอทช์ที่ค่อยๆ จมลงของเขา แล้วเขาก็หยุดพักเพื่อยืนตรงหน้ากระจก และโกนหนวด ซึ่งนี่อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตที่เขาได้ทำเช่นนี้ก็ได้

“คุณต้องท้าทายโชคชะตาในรูปแบบที่แปลกประหลาดที่สุด” เรดฟอร์ดกล่าว “แต่เมื่อโชคชะตาต่อต้านคุณ คุณจะต้องพยายามสร้างความปกติบางอย่างในชีวิตคุณ แม้ว่ามันจะดูแปลกพิกลก็ตาม”

ฉากอื่นๆ เป็นฉากที่ต้องใช้พลกำลังมหาศาลสำหรับนักแสดง ผู้เป็นที่รู้จักจากการแสดงฉากผาดโผนด้วยตัวเอง ทั้งการปีนขึ้นเสากระโดงสูง 65 ฟุตไปจนถึงการถูกลากไปด้านหลังเรือ และการแหวกว่ายใต้น้ำผ่านใบเรือที่จมน้ำ  แล้วก็มีซีเควนซ์เปิดเรื่องที่เรือใบชนกับตู้คอนเทนเนอร์ และตัวเอกของเราต้องกระโดดจากเรือลำหนึ่งไปสู่อีกลำหนึ่ง

“เราได้ส่งเรือกระแทกกับด้านข้างของตู้คอนเทนเนอร์ โดยที่เขายังอยู่บนเรือ ซึ่งฉากนั้นก็อยู่ในหนังด้วย” ด็อดสันกล่าว “มันมีแรงกระแทกมหาศาล และบ็อบก็อยู่กระแทกกับด้านข้างเรือจริงๆ ซึ่งเขาก็โอเคกับมัน เราจับเขาอยู่บนแพชูชีพแล้วก็ให้เขาพลิกหงายพลิกคว่ำหลายครั้ง และเขาก็ยินดีทำตามนั้น”

“เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาแสดงฉากผาดโผนด้วยตัวเอง มันก็ทั้งสร้างแรงบันดาลใจและน่าตื่นเต้น และมันก็ทำให้เรากลัวด้วยค่ะ” เกิร์บกล่าวเสริม “แต่เขาฟิตมาก เขารักน้ำและเขาก็ชอบว่ายน้ำ มีความท้าทายด้านกายภาพมากมายในการสร้างหนังเรื่องนี้ แม้ว่าการตัวเปียกทั้งวันจะเป็นเรื่องที่เหนื่อยแสนสาหัสและทำให้นักแสดงทุกคนหมดแรง แต่จิตวิญญาณของเขาและความเข้าใจที่เขามีต่อวิสัยทัศน์ของหนังเรื่องนี้ก็เหนือกว่า เขามากองถ่ายทุกวันและทุ่มเทให้กับกระบวนการถ่ายทำหนังเรื่องนี้แบบสุดตัวเลยค่ะ”

ตัวเรดฟอร์ดเองกล่าวว่า เขาสนุกกับการร่วมงานกับผู้กำกับผู้นี้ ที่เขายกย่องว่าดึงเอาความสามารถที่ดีที่สุดในฐานะนักแสดงของเขาออกมาได้

“ผมแสดงหนังเรื่องนี้เพราะเจ.ซี.” เรดฟอร์ดกล่าว “ผมชอบเขา เขามีจิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความสุขและมีแนวคิดที่วิเศษสุด แต่สิ่งที่เหลือเชื่อคือความคิดของเขาที่ไม่อยู่นิ่ง เขาคิดอะไรอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผมพบว่ามันเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์มากๆ ผมคิดว่าเขาจะไปได้สวยเพราะเขารู้ในสิ่งที่เขาต้องการและเขารู้ว่าเขาอยากจะได้มันในรูปแบบไหน แต่เขาก็ทำให้กระบวนการนี้เป็นไปอย่างหลวมๆ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องวิเศษสุด เขามีสัญชาตญาณเฉียบคม มีวิสัยทัศน์และผมก็ไว้วางใจเขาและความสามารถของเขาในการถ่ายทอดวิสัยทัศน์นั้นออกมาครับ”

การใช้ดิจิตอล เอฟเฟ็กต์ของแชนเดอร์โดยส่วนใหญ่แล้วจำกัดอยู่ที่การแต่งเติมแบ็คกราวน์และท้องฟ้า รวมถึงการแต่งเติมคลื่นที่ล้อมรอบเรือและซัดสาดตัวละครของเรดฟอร์ด งานวิชวล เอฟเฟ็กต์ทั้งหมดเป็นหน้าที่ของทีมงานที่สปิน วิชวล เอฟเฟ็กต์ บริษัทในโตรอนโต ภายใต้การควบคุมของแชนเดอร์และโรเบิร์ต มุนโรว์ (X-Men) ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ ผู้คร่ำหวอดในวงการ

การถ่ายทำในน้ำขึ้นชื่อว่าท้าทายอยู่แล้ว ซึ่งมันก็เป็นจริงสำหรับ All Is Lost ซึ่งไม่มีช็อตไหนถ่ายทำบนบกเลย ทีมงานได้ถ่ายทำในบริเวณต่างๆ ของมหาสมุทรแปซิฟิคและทะเลแคริบเบียน ซึ่งรวมถึงนอกชายฝั่งเอนเซนาดา ประเทศเม็กซิโก ซึ่งห่างจากซานดิเอโก้ไปทางตอนใต้ประมาณ 80 ไมล์ ในตอนหนึ่ง เรดฟอร์ดได้แล่นเรือเวอร์จิเนีย จีนไปสู่ท่าเรือที่นั่น ทั้งๆ ที่เรือมีรูโหว่ที่ถูกปะซ่อมแล้วด้วย

“มันน่าทึ่งที่ได้เห็นปฏิกิริยาของนักเดินเรือจริงๆ ในท่าเรือค่ะ” เกิร์บกล่าว “พวกเขามองที่เรือของเรา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผ่านศึกที่เหลือเชื่อมา ทีมงานถ่ายทำเกาะอยู่บนนั้นโดยมีโรเบิร์ต เรดฟอร์ดเป็นคนควบคุมเรือค่ะ”

ช็อตของชีวิตในท้องทะเล ซึ่งรวมถึงฝูงปลาตัวเล็ก ปลาหางเหลือง ปลาบาราคิวดาและช็อตที่น่าสะพรึงกลัวแต่งดงามของฝูงฉลามที่ว่ายเวียนวน บริเวณหมู่เกาะบาฮามา นอกชายฝั่งนาสเซาและลิฟอร์ด เคย์ โดยที่ทีมงานถ่ายทำต้องดำลงไปในความลึกกว่า 60 ฟุตเพื่อบันทึกภาพฟุตเตจของฝูงปลา

สำหรับซีเควนซ์เรือขนส่งขนาดใหญ่ ทีมงานได้ถ่ายทำในมหาสมุทรรอบๆ ลอสแองเจลิส นอกท่าเรือลองบีชไปทางใต้ และขึ้นเหนือไปใกล้ๆ กับเกาะคาตาลินา

แต่มหาสมุทรไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับการจมเรือยอทช์ สำหรับฉากเหล่านั้นและฉากอื่นๆ ซึ่งรวมถึงฉากการชนกับตู้คอนเทนเนอร์ในตอนเปิดเรื่อง ทีมผู้สร้างได้ใช้งานแทงค์น้ำถ่ายทำที่ใหญ่ที่สุดในโลก บาจา สตูดิโอส์ ซึ่งตั้งอยู่ในโรซาริโต้ บีชบนแหลมบาจาในเม็กซิโก ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยเจมส์ คาเมรอน ผู้ต้องการสิ่งแวดล้อมทางน้ำที่เฉพาะเจาะจงสำหรับเอฟเฟ็กต์น้ำที่น่าตื่นตาตื่นใจใน Titanic จริงๆ แล้ว ลูกทีมบางคนใน All Is Lost เคยทำงานใน Titanic มาก่อนด้วย ซึ่งรวมถึงผู้จัดการงานสร้างหลุยซา โกเมซ ดา ซิลวา ผู้ทำงานเต็มเวลาที่สถาบันแห่งนี้และมองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของ “ยุค Titanic”

ทีมผู้สร้างใช้แทงค์น้ำขนาดใหญ่สามแทงค์สำหรับแง่มุมต่างๆ ในการถ่ายทำ ซึ่งรวมถึงแทงค์ภายนอกขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งตั้งอยู่บนมหาสมุทร และมีเส้นขอบฟ้าที่ไกลลิบ

“มันมีขนาดเท่าสนามฟุตบอลสามสนามและมันก็สร้างลุคที่เหมือนมหาสมุทรจริงๆ มากๆ”เกิร์บกล่าว “แทงค์พวกนี้เหมือนกับการได้อยู่ในทะเลจริงๆ แต่ในสิ่งแวดล้อมปิดที่เราสามารถสร้างฉากผาดโผนและสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ของเราเองได้ มันเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวในโลกที่เราจะสามารถสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาได้ค่ะ”

ในตอนแรก แชนเดอร์และโกลด์สมิธเชื่อว่าพวกเขาจะมีทุกอย่างที่พวกเขาต้องการด้วยเรือสามลำนี้ แต่ซีเควนซ์ที่มีดรามาเป็นพิเศษซีเควนซ์หนึ่ง ซึ่งเรือเวอร์จิเนีย จีน ที่ถูกเหวี่ยงไปมาท่ามกลางพายุ ผลุบๆ โผล่ๆ หลายครั้ง ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นพิเศษ แม้ว่าทีมผู้สร้างจะคิดว่าพวกเขาสามารถใช้เรือสเปเชียล เอฟเฟ็กต์สำหรับฉากเรือที่พลิกคว่ำใต้น้ำได้ แต่หลังจากการค้นคว้าเพิ่มเติม พวกเขาก็ตระหนักว่าพวกเขาจะต้องปกป้องเรดฟอร์ดมากกว่านี้ ผลก็คือหลายๆ แผนกจะต้องร่วมมือกันในการสร้างกลไกพิเศษเพื่อการนี้

ในลักษณะคล้ายคลึงกัน ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ เบรนดอน โอ’ เดล (Training Day) จะต้องคิดแนวทางสร้างสรรค์ในการจำลองการเคลื่อนไหวที่รุนแรงของเรือลำนี้ท่ามกลางพายุขึ้นมา “ปกติแล้ว ในหนังทุนหนา คุณจะสร้างฐานซับซ้อนที่จะสามารถขยับเรือไปได้ทุกทิศทาง” เขากล่าว “แต่มันมีราคาแพงมากๆ และกินเวลามากด้วย เราก็เลยต้องคิดวิธีใหม่ขึ้นมาครับ”

ทีมงานของโอ’เดลได้ใช้กลไกและกระบอกไฮดรอลิคแบบง่ายๆ รวมกับลักษณะการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของเรือที่ต้านกระแสน้ำ “เราได้ใช้กระบอกดูดด้านหน้าของเรือลงมา แล้วก็ปล่อยให้มันขึ้นไปเหมือนเดิม” เขากล่าว “แล้วมันก็เวิร์คสำหรับการทำแบบนี้ด้านข้างเรือด้วย มันดูดีจริงๆ”

การถ่ายทำที่ซับซ้อนจำเป็นต้องอาศัยการเตรียมตัวอย่างละเอียดรอบคอบนานเจ็ดสัปดาห์ ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับภาพยนตร์อินดีฟอร์มเล็ก “เราต้องสร้างตารางการทำงานที่จะระบุเรื่องฉากเปียก ฉากแห้ง ฉากพายุ กับเรือสามลำ แทงค์น้ำสามแทงค์และซาวน์สเตจอื่นๆ กลางวัน กลางคืน ฉากผาดโผน ช็อตวิชวล เอฟเฟ็กต์และช็อตที่ไม่ใช้วิชวล เอฟเฟ็กต์” ด็อดสันกล่าว “มันซับซ้อนกว่าทุกอย่างที่ผมเคยทำงานมาก่อนและมันก็ซับซ้อนอย่างยิ่งยวดสำหรับการถ่ายทำ 30 วันด้วยงบของเราครับ”

ผู้อำนวยการสร้างกล่าวว่าทีมงานทำงานจากแผนที่ใหญ่ในห้องประชุมหลัก ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีสตอรีบอร์ดของภาพยนตร์ทั้งเรื่องเก็บไว้ มากกว่าที่จะทำงานจากบทเสียอีก

“เราไม่ได้มีรายงานประจำวันด้วยซ้ำ” เขากล่าวถึงแผ่นรายละเอียดประจำวันที่นักแสดงมักจะใช้ “เราใช้แผ่นรายละเอียดจากสตอรีบอร์ดของวันนั้นๆ เราแค่ดูภาพพวกนั้นแล้วก็ถ่ายทำครับ”

ในการถ่ายทำ All Is Lost แชนเดอร์ได้หันไปหาผู้กำกับภาพสองคน คือแฟรงค์ จี. เดอมาร์โก้และผู้กำกับภาพใต้น้ำ ปีเตอร์ ซัคคารินี สำหรับเดอมาร์โก้ ความท้าทายในการถ่ายทำภาพยนตร์ที่ปราศจากบทพูดก็มีข้อดีเหมือนกัน

“สิ่งที่น่าสนใจก็คือคุณสามารถถ่ายทำเทคได้มากกว่าในหนังที่มีบทพูดน้อยกว่าครับ” เดอมาร์โก้ ผู้ร่วมงานกับผู้กำกับใน  Margin Call ด้วย กล่าว “อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ เช่นเดียวกับในหนังเงียบ บางครั้ง ผู้กำกับก็สามารถกำกับนักแสดงระหว่างเทคได้ เจ.ซี.สามารถบอกได้ว่า ‘บ็อบ จำเรื่องนี้ไว้นะ แล้วก็ทำแบบนั้น หยิบนั่นขึ้นมา แล้วเงยหน้าไปที่นั่น’ ระหว่างที่กล้องเดินอยู่ครับ”

เดอมาร์โก้กล่าวว่าการถ่ายทำช็อตภายในพื้นที่ที่คับแคบในห้องเคบินของเรือยอทช์ก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ในตอนที่เรดฟอร์ดจะต้องแทรกตัวผ่านกล้องบนไหล่ของเดอมาร์โก้หรือระหว่างช็อตที่ใกล้ชิดมากๆ

“เราถ่ายทำด้วยเลนส์ไวด์ ซึ่งช่วยได้เยอะครับ” เดอมาร์โก้เล่า “เราใช้แสงธรรมชาติเยอะ และท้ายที่สุดแล้ว เราก็ทำให้มันเวิร์คครับ”

ถ้าลูกทีมบางคนต้องทนกับน้ำ บางคนกลับชื่นชอบน้ำ และหนึ่งในนั้นคือซัคคารินี ผู้ซึ่งผลงานของเขามีตั้งแต่สารคดีกระดานโต้คลื่นทุนต่ำไปจนถึงภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์เกี่ยวกับทะเล Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl

“เขาและทีมของเขารู้วิธีจะสวมชุดเว็ทสูท เก็บกล้องให้มิดชิด รักษาสมดุลเรื่องน้ำหนัก เรื่องลมหายใจ และว่ายน้ำในและใต้น้ำ เพื่อถ่ายทำฟุตเตจที่เหลือเชื่อครับ” ด็อดสันกล่าว

ด้วยความท้าทายมากมายเกี่ยวกับน้ำ All Is Lost เป็นโปรเจ็กต์ที่เย้ายวนใจ ซัคคารินีกล่าว “ผมชำนาญในการวางกล้องในที่ที่เปียกมากๆ ดังนั้น พอผมเห็นตั้งแต่ในช่วงแรกของบทว่ามีน้ำไหลเข้ามาในเรือ ตัวเขาอยู่ใต้น้ำ น้ำจะกระเซ็นโดนหน้าเขา คลื่นซัดสาดเขา ผมต้องยอมรับว่าผมตื่นเต้นทีเดียวครับ”

ในการเพิ่มเติมความท้าทายในการถ่ายทำ มือลำดับภาพ พีท โบโดร (Margin Call) ได้ลำดับภาพครั้งแรกในโลเกชันเพื่อทำให้แน่ใจว่าทีมงานจะได้ภาพตามต้องการ หลังจากเริ่มต้นอย่างยากลำบาก เขาก็กล่าวว่าเขาเริ่มคุ้นชินกับการทำงานแบบนี้

“ด้วยความที่ผมได้วัตถุดิบเร็วมากๆ ในตอนสิ้นสุดวัน ผมก็สามารถโชว์ให้เจ.ซี. ได้เห็นถึงสิ่งที่เขาถ่ายทำไปเมื่อเช้าทั้งหมดได้” โบโดรกล่าว “และถ้าเขารู้สึกเหมือนว่าอะไรบางอย่างขาดหายไป เช้าวันรุ่งขึ้น เราก็สามารถถ่ายทำเพี่มเติมได้ครับ”

ในภาพยนตร์ที่ขาดบทพูด ดนตรีประกอบมีความสำคัญเป็นพิเศษ แชนเดอร์หันไปหานักร้อง/นักแต่งเพลงชื่อดัง อเล็กซ์ อีเบิร์ท หัวหน้าวงเอ็ดเวิร์ด ชาร์ป แอนด์ เดอะ แม็กเนติก ซีโรส์ ในการแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งมันเป็นโปรเจ็กต์แรกในลักษณะนี้ของเขา

“มันเป็นเรื่องน่าตื่นตะลึงในหลายๆ แง่มุม” อีเบิร์ทกล่าว “มันน่าทึ่งที่เจ.ซี.จะมีศรัทธาแบบนั้นในคนที่ไม่เคยแต่งดนตรีประกอบหนังซักเรื่องน่ะครับ”

อีเบิร์ทกล่าวว่า ในตอนแรก แชนเดอร์ขอให้เขานำเสนอดนตรีและท่วงทำนองที่นิ่งขรึมมากๆ ที่จะครอบคลุมฉากต่างๆ นอกจากนี้ เขายังมีคำร้องขอเป็นพิเศษว่าอยากให้หลีกเลี่ยงการใช้เปียโน มันเป็นเรื่องท้าทายสำหรับนักประพันธ์เพลงผู้นี้ ที่แต่งดนตรีบางส่วนด้วยเปียโนแล้ว แต่เขาก็เข้าใจเหตุผลของแชนเดอร์ดี

“เปียโนจะมีการร้อยเรียงอารมณ์เข้าไปด้วย” เขากล่าว “แต่เราไม่ต้องการอะไรที่เป็น ‘อารมณ์ในกระป๋อง’ หรือ ‘ความตึงเครียดในกระป๋อง’ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ผมก็เริ่มเสี่ยงมากขึ้น และหลังจากได้พูดคุยกับเจ.ซี. เราก็เจอจุดตรงกลางที่ผมคิดว่าเพอร์เฟ็กต์ครับ”

อีเบิร์ทกล่าวว่าเขาเล่นเครื่องดนตรีหลายชนิด รวมถึงซินธีไซเซอร์ คริสตัล โบว์ลและทิเบตัน โบว์ล นอกจากนี้ เขายังได้เล่นตัวอย่างของออร์เคสตรา ซึ่งส่วนใหญ่ถูกแทนที่ภายหลังด้วยนักดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีจริงๆ ในหลายๆ ครั้ง เขาได้คิดเพลงธีมขึ้นมาด้วยเปียโน ก่อนจะแทนที่มันด้วยเสียงตัวอย่างของฟลุ้ทหรือเครื่องดนตรีอื่นๆ และนำนักดนตรีเก่งๆ มาเล่นแทน เซธ ฟอร์ด-ยัง มือเบสจากแม็กเนติก ซีโรส์ได้สร้างซาวน์ที่ใช้แทนเสียงร้องของปลาวาฬและสัตว์น้ำอื่นๆ ขึ้นมา

“ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการเดินบนเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความจริงและเมโลดรามาครับ” อีเบิร์ทกล่าว “คุณไม่อยากจะถ่ายทำน้อยไปและมากไป คุณอยากจะถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้พอดีเป๊ะ เพราะอย่างอื่นคงจะไม่เหมาะสมครับ”

สำหรับอีเบิร์ท All Is Lost  เป็นภาพยนตร์สะเทือนอารมณ์ที่มีความเสี่ยงมากมาย และเขาก็รู้สึกว่าเขาต้องถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาในดนตรีด้วย

“มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความงาม” เขากล่าว “มันสะเทือนอารมณ์และทุกอย่างที่มาควบคู่กับชีวิตและความตาย ผมคิดว่ามันเป็นประเด็นหลักของความเป็นมนุษย์ มันเป็นสิ่งที่คุณอาจจะอยากหลีกหนีจากมันเพราะมันจะดรามาเกินไป แต่ผู้ชายคนนี้อยู่บนแพท่ามกลางมหาสมุทร ปล่อยให้ดนตรีถ่ายทอดอารมณ์ออกมาเถอะเพราะมันก็เปี่ยมไปด้วยอารมณ์จริงๆ เราเดินตามการนำของหนังครับ”

งานของการสร้างบรรยากาศเสียงที่เต็มไปด้วยรายละเอียดสำหรับภาพยนตร์ที่เกือบจะไร้บทพูดในทะเลเป็นหน้าที่ของริชาร์ด ฮิมน์สและแกรี ริดสตอร์ม ทีมงานเสียงรางวัลออสการ์ ผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์เรื่อง Saving Private Ryan และ Jurassic Park ร่วมด้วยเพื่อนร่วมงานของพวกเขา สตีฟ โบเอ็ดเด็กเกอร์และแบรนดอน พร็อคเตอร์จากสกายวอล์คเกอร์ ซาวน์ที่โด่งดังในมาริน เคาน์ตี้ พวกเขาเคยได้ทำงานในภาพยนตร์หลายเรื่องที่มีเรดฟอร์ดนั่งแท่นผู้กำกับแล้ว และพวกเขาก็ชื่นชอบโอกาสที่ได้ร่วมงานกับชายผู้นี้อีกครั้ง

ในหลายๆ แง่มุม All Is Lost เป็นการแสดงความเคารพต่อความสามารถและความยืดหยุ่นที่ดูจะไร้ที่สิ้นสุดของชายคนหนึ่ง จากการที่ตัวละครของเรดฟอร์ดไม่ยอมแพ้

“ตัวละครตัวนี้เดินหน้าไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่บางคนอาจจะยอมแพ้แล้วบอกว่า ‘ไม่ไหวแล้ว’ น่ะครับ” เรดฟอร์ดกล่าว “’ฉันอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่มีใครช่วยฉันเลย ดูเหมือนว่าฉันจะทำทุกอย่างเท่าที่ฉันจะทำได้แล้ว ยอมแพ้ดีกว่า’”

ในการตอบคำถามนั้น เรดฟอร์ดได้นึกถึงภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ ซึ่งความว่างเปล่าและความเรียบง่ายดั้งเดิมของเรื่องคล้ายคลึงกับ All Is Lost และมีนักแสดงรับบทชายผู้ต่อสู้กับธรรมชาติและตัวเอง

“ผมนึกถึง Jeremiah Johnson เกี่ยวกับหนังเรื่องนั้นและตัวละครตัวนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผมพัฒนาโปรเจ็กต์นั้นด้วยตัวเองครับ” เรดฟอร์ดกล่าวถึงภาพยนตร์ปี 1972 เรื่องนั้น “เขามีทางเลือกว่าจะยอมแพ้หรือไปต่อ แต่เขาก็ไปต่อเพราะเขาทำได้แค่นั้น และผมก็คิดว่าหนังเรื่องนี้ก็เป็นเหมือนกัน เขาเดินหน้าต่อเพราะเขาทำได้เพียงแค่นั้น บางคนอาจจะไม่ แต่เขาก็ยังเดินหน้าต่อไปครับ”

ในช่วงเวลาที่ทุกข์ทนแบบเต็มขั้นนี้เองที่ตัวเอกของเราได้ทำลายความเงียบและเอ่ยถ้อยคำออกมาบางคำ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่

“มีฉากหนึ่งที่ในที่สุดเราก็ได้ยินเสียงของโรเบิร์ต เรดฟอร์ด” เกิร์บกล่าว “มันไม่มีบทพูดจริงๆ จังๆ ในหนังเรื่องนี้ แต่ในช่วงเวลานี้ ในวินาทีสั้นๆ นี้ เขาได้เอ่ยบางอย่างออกมา และการได้ยินเสียงของเขา ลักษณะที่เขาเอ่ยมันออกมา ช่างทรงพลังเหลือเกิน เพราะเราทุกคนต่างก็รู้จักเสียงนั้น แล้วพอมันออกมา แม้มันจะเป็นเพียงช่วงเวลาน้อยนิด แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่น่าประทับใจมากๆ สำหรับฉันค่ะ”

สำหรับด็อดสัน มันเป็นแรงขับในการมีชีวิตรอด แม้กระทั่งทุกอย่างดูสิ้นหวัง ที่สะท้อนถึงความหมายสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้

“มันเป็นหนังเกี่ยวกับว่าทำไมเราถึงสู้ต่อไปเรื่อยๆ” ด็อดสันกล่าว “มันเป็นหนังเกี่ยวกับว่าทำไมเราถึงพยายามจะมีชีวิตอยู่ ทำไมเราถึงสู้กับความตายทั้งๆ ที่ดูเหมือนจะชัดเจนแล้วว่าถึงเวลาของเราแล้ว การตอบคำถามนั้นเกี่ยวกับมนุษย์เป็นสิ่งที่นักปรัชญา ศาสนาและนักคิดเยี่ยมๆ พยายามจะทำมาตลอดเวลาที่มนุษย์ได้มีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้พยายามจะถามคำถามอมตะนั้นในรูปแบบใหม่ และสำหรับตัวผมเอง ผมสนใจการดูหนังและสร้างหนังที่ตั้งคำถาม มากกว่าหนังที่เสนอคำตอบน่ะครับ”

ผู้อำนวยการสร้างกล่าวว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ด้วย

“ผมคิดว่าคุณคงไม่เคยได้ดูหนังแบบนี้มาก่อน” ด็อดสันกล่าว “มันเป็นวิสัยทัศน์หนึ่งเดียวอย่างแท้จริง มันเป็นการได้เห็นชายคนหนึ่ง ที่เป็นปรมาจารย์ในศาสตร์ของเขา ทำงานผ่านตัวละครตัวนี้ตลอด 90 นาที และมันก็เป็นการผจญภัยจริงๆ แต่ผมคิดว่าคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่จะโดนใจผู้ชมอย่างทรงพลังมากกว่าด้วยซ้ำไปครับ”

และสำหรับแชนเดอร์ เขากล่าวว่าเขาหวังว่าผู้ชมจะมองเห็นตัวเองในตัวละครที่ดิ้นรนสุดแรงเกิดเพื่อรอดชีวิตของเรดฟอร์ด

“สิ่งที่ผมหวังก็คือ” แชนเดอร์รำพึง “คือตัวละครตัวนี้กลายเป็นตัวแทนที่ผู้ชมจะมองเห็นตัวเอง หรือส่วนหนึ่งของตัวเอง ว่าเขากลายเป็นตัวแทนความหวัง ความกังวล ความฝัน ความวิตก ความกลัว ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของมนุษย์ทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนออย่างโจ่งแจ้งเกินไป แต่เพียงแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ผมหวังว่าเขาจะกลายเป็นเหมือนกระจกได้ และถ้าผมทำหน้าที่ของผมได้ดีล่ะก็ หนังเรื่องนี้ก็จะเป็นเหมือนการเดินทางของตัวเอกของเรา ที่จะทั้งน่าตื่นเต้นและน่าสะพรึงกลัว ซึ่งผมก็หวังว่ามันจะสะเทือนอารมณ์และติดตรึงในใจครับ”

 

ประวัตินักแสดง

           โรเบิร์ต เรดฟอร์ด (Robert Redford) รับบท ตัวเอกของเรา

โรเบิร์ต เรดฟอร์ดเป็นนักแสดงเจ้าของรางวัลอคาเดมี อวอร์ด ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและผู้ทำการกุศล ผู้ซึ่งการทำงานที่ยิ่งใหญ่ของเขาครอบคลุมช่วงเวลาหลายทศวรรษ ผลงานของเขาประกอบไปด้วยภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดหลายเรื่องของแวดวงภาพยนตร์อเมริกัน ซึ่งรวมถึงการแสดงนำใน Butch Cassidy and the Sundance Kid, The Sting และ All the President’s Men ผลงานการกำกับของเขารวมถึงภาพยนตร์ชื่อดังเช่น Ordinary People, A River Runs Through It และ Quiz Show เขาได้รับรางวัลมากมายจากผลงานยอดเยี่ยมของเขาทั้งในและนอกจอ

ล่าสุด เขาได้กำกับและนำแสดงในภาพยนตร์เรื่อง The Company You Keep ที่เขาได้ร่วมแสดงกับนิค โนลเต้และไชอา ลาบัฟ ปัจจุบัน เขากำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Captain America: The Winter Soldier ประกบคริส อีวานส์และสการ์เล็ตต์ โยฮันสัน

เรดฟอร์ดได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดครั้งแรกในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก The Sting ปี 1973 ที่เขาแสดงประกบพอล นิวแมน เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมในปี 1981 จาก Ordinary People และได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดเกียรติยศในปี 2002 ในปี 2005 เขาได้รับรางวัลเคนเนดี้ เซ็นเตอร์ ออเนอร์ส จากความสำเร็จยิ่งใหญ่ของเขาในแวดวงศิลปะการแสดง

สิ่งที่เรดฟอร์ดรักมากคือสถาบันซันแดนซ์ ซึ่งเขาก่อตั้งขึ้นในปี 1981 สถาบันซันแดนซ์มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและพัฒนามือเขียนบทและผู้กำกับหน้าใหม่ผู้มีวิสัยทัศน์ รวมถึงการนำเสนอภาพยนตร์อินดีในระดับชาติและระดับโลก แล็บมือเขียนบท ผู้กำกับ นักเขียนบทละครเวทีและผู้อำนวยการสร้างที่โด่งดังของสถาบันแห่งนี้เกิดขึ้นที่ซันแดนซ์ วิลเลจกลางเขาในยูทาห์

เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์เป็นโปรแกรมหนึ่งของสถาบันและได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็นงานที่สำคัญที่สุดสำหรับวงการภาพยนตร์อินดี เรดฟอร์ดได้ต่อยอดแบรนด์ซันแดนซ์ออกไปอีกด้วยเดอะ ซันแดนซ์ แชนแนล, ซันแดนซ์ ซีเนมาส์, ซันแดนซ์ ลอนดอนและซันแดนซ์ เอนเตอร์เทนเมนต์

เรดฟอร์ดเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนักเคลื่อนไหวชื่อดังนับตั้งแต่ต้นยุค 70s เขาทำหน้าที่เป็นทรัสตีของบอร์ดสภาป้องกันทรัพยากรแห่งชาติมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี

 

ประวัติทีมงานสร้าง

เจ.ซี. แชนเดอร์ (J.C. Chandor)—ผู้กำกับ มือเขียนบท

เจ.ซี. แชนเดอร์ ได้ขัดเกลาลายเซ็นที่โดดเด่นและละเอียดอ่อนและวิสัยทัศน์ของตัวเองมาตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ด้วยการกำกับ อำนวยการสร้างและเขียนบทสารคดี โฆษณาและภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลมากมาย

แชนเดอร์ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจาก Margin Call (2011) ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา ซึ่งเขากำกับด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้มีทีมนักแสดงที่เป็นดาราแน่นขนัดและได้รับรางวัล “ผลงานการกำกับเรื่องแรกยอดเยี่ยม” โดยสมาพันธ์นักวิจารณ์แห่งชาติ, “รางวัลผู้กำกับแจ้งเกิด” โดยสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์นิวยอร์ก, “บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม” โดยสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ซานฟรานซิสโกและได้รับรางวัลออสเตรเลียน อคาเดมี อวอร์ดสาขา “บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” ภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งได้รับรางวัล “ภาพยนตร์เรื่องแรกยอดเยี่ยม” และ “โรเบิร์ต อัลท์แมน อวอร์ด” (ซึ่งมอบให้กับผู้กำกับ ผู้กำกับฝ่ายคัดเลือกนักแสดงและทีมนักแสดงของเรื่อง) จากเวทีอินดีเพนเดนท์ สปิริต อวอร์ด ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 2011 จากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น เดอะ นิวยอร์ก ไทม์, โรลลิง สโต, นิวยอร์ก แม็กกาซีน, เดอะ นิวยอร์กเกอร์, นิวยอร์ก โพสต์ และ เดอะ ฮัฟฟิงตัน โพสต์

ผลงานโฆษณาของแชนเดอร์ตลอดหลายปีที่ผ่านมารวมถึงโปรเจ็กต์ต่างๆ ให้กับลูกค้ามากมาย ซึ่งรวมถึงซูบารุ มอเตอร์ ออฟ อเมิกา, เรด บุลล์ เรซซิง, เมเจอร์ ลีก ซ็อกเกอร์, บีเอ็มดับบลิว-โอราเคิล เรซซิง, อเมริกา ออนไลน์, ดีซี ชูส์และคาร์ฮัตต์ เอาท์ดอร์ โคลธธิง

ผลงานยอดเยี่ยมของแชนเดอร์ส่วนหนึ่งได้แก่การอำนวยการสร้างซีรีส์ภาพยนตร์คอนเสิร์ตหกตอนสำหรับเอโอแอล/วอร์เนอร์ บราเธอร์ส รวมถึงการได้ร่วมงานกับสติง, เอลตัน จอห์น, เดอะ เรด ฮ็อท เป็ปเปอร์ส และเบ็ค ผลงานการกำกับและเขียนบทภาพยนตร์ที่มีการดำเนินเรื่องเรื่องแรกๆ ของเขารวมถึงภาพยนตร์ขนาดสั้นเรื่อง Despacito (2004) ที่นำแสดงโดยวิลล์ อาร์เน็ตต์ นอกจากนั้น เขายังอยู่ระหว่างการพัฒนาโปรเจ็กต์ต่างๆ กับวอร์เนอร์ บรอส พิคเจอร์ส, แอปเปียน เวย์ บริษัทของลีโอนาร์โด ดิคาปริโอและยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส

แชนเดอร์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการศึกษาอเมริกันและการศึกษาภาพยนตร์จากเดอะ คอลเลจ ออฟ วูสเตอร์ โอไฮโอ และได้ศึกษาด้านการสร้างภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เขาเติบโตขึ้นมาในย่านชานเมืองของนิวยอร์ก ซิตี้และลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปัจจุบัน เขาใช้ชีวิตอยู่นอกนิวยอร์ก ซิตี้ กับภรรยาของเขา จิตรกรหญิง คาเมรอน กู๊ดเยียร์และลูกๆ สองคน

 

นีล ด็อดสัน (Neal Dodson)—ผู้อำนวยการสร้าง

สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาอำนวยการสร้าง นีล ด็อดสันได้รับรางวัลอินดีเพนเดนท์ สปิริต อวอร์ดจาก Margin Call ภาพยนตร์โดยเจ.ซี. แชนเดอร์ ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์สาขา “บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม” รวมถึงรางวัลอื่นๆ อีกด้วย ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดตัวในงานเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ ได้เข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินและเปิดตัวงานนิว ไดเร็คเตอร์/นิว ฟิล์มส์ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ก่อนหน้าที่ไลออนส์เกท/โรดไซด์จะนำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย

นอกจากนี้ เขายังเปิดตัวภาพยนตร์อีกสองเรื่องในปี 2013 ได้แก่ภาพยนตร์โดยวิคเตอร์ ควินาซเรื่อง Breakup at a Wedding (ออสซิลโลสโคป แล็บส์ ในเดือนมิถุนายน) และทริลเลอร์สยองขวัญเรื่อง The Banshee Chapter (เอ็กซ์แอลเรเตอร์ มีเดีย ในเดือนกันยายน)

ด็อดสันและหุ้นส่วนจากบีฟอร์ เดอะ ดอร์ พิคเจอร์สของเขา (แซ็คคารี ควินโต นักแสดงจาก Star Trek และโครีย์ มูซา) ได้รับการยกย่องให้เป็น “สิบผู้อำนวยการสร้างที่จะเปลี่ยนแปลงฮอลลีวูด” โดยเดอะ แร็ป และถูกรวมอยู่ในนิตยสารดีเทลส์ ฉบับ “มาเวริคส์” ปี 2012 นอกจากนี้ พวกเขายังอยู่ระหว่างการพัฒนาภาพยนตร์หลายสิบเรื่องและได้ตีพิมพ์นิยายภาพสองเรื่องได้แก่ Mr. Murder is Dead และ Lucid (ถูกซื้อสิทธิโดยวอร์เนอร์ บรอส.) ด็อดสันกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมงานถ่ายทำภาพยนตร์อินดีเรื่องหนึ่งในนิวยอร์ก ในฤดูใบไม้ร่วงนี้

ด้านจอแก้ว ด็อดสันได้ขายตอนไพล็อต Shaun Cassidy ให้กับทีเอ็นทีและได้ร่วมเขียนบทตอนไพล็อตดรามา The CW กับนักแสดงแมทท์ โบเมอร์และศิลปินคันทรี แบรด เพสลีย์ เขาดำรงตำแหน่งรองประธานบริษัทโปรดักชันที่วอร์เนอร์ บรอส มาเป็นเวลาหลายปี ที่ซึ่งเขาได้ควบคุมงานงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง Another Cinderella Story ที่นำแสดงโดยเซเลนา โกเมซและเจน ลินช์ ระหว่างอยู่ที่นั่น เขาได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการริเริ่มภาพยนตร์รีเมกเรื่อง Footloose โดยพาราเมาท์ และได้ร่วมอำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Hateship Loveship ที่เพิ่งถ่ายทำเมื่อเร็วๆ นี้ และนำแสดงโดยคริสติน วิ้กและนิค โนลเต้

ในฐานะนักแสดง นอกเหนือจากผลงานด้านจอแก้ว ภาพยนตร์อินดีและโรงละครท้องถิ่น (ลินคอล์น เซ็นเตอร์, มาร์ค เทเปอร์ ฟอรัม, เยล เร็ป, ยูทาห์ เชคสเปียร์) แล้ว ด็อดสันยังได้แสดงละครบรอดเวย์โดยทอม สต็อพเพิร์ดเรื่อง “The Invention of Love” ซึ่งได้รับสองรางวัลโทนี อวอร์ด เขาได้รับปริญญาตรีจากสคูล ออฟ ดรามาแห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนจี้ เมลลอน เขาเป็นนักแสดงรุ่นใหม่และได้แต่งงานกับนักแสดงหญิงจอแก้วและจอเงิน แอชลีย์ วิลเลียมส์ ทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ในลอสแองเจลิส

 

แอนนา เกิร์บ (Anna Gerb)—ผู้อำนวยการสร้าง

แอนนา เกิร์บ เป็นผู้ควบคุมงานสร้างและหัวหน้าฝ่ายโปรดักชันที่วอชิงตัน สแควร์ ฟิล์มส์ ที่ซึ่งเธอได้ดูแลงานสร้างภาพยนตร์ โทรทัศน์และโฆษณา เธอได้ร่วมอำนวยการสร้างภาพยนตร์โดยเจ.ซี. แชนเดอร์เรื่อง Margin Call (ซันแดนซ์, ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขา “บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม”) นอกจากนี้ เธอยังได้ทำหน้าที่ผู้ควบคุมงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง Francine ที่นำแสดงโดยเมลิสซา ลีโอ ในแคนาดา ประเทศบ้านเกิดของเธอ เธอได้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Blood ที่กำกับโดยเจอร์รี ซิคโคริตติ (ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลจินนีและสมาพันธ์ผู้กำกับแห่งแคนาดา) และสารคดีเรื่อง Me, Myself & The Devil สำหรับซีบีซี

ปัจจุบัน เกิร์บ กำลังอยู่ระหว่างงานสร้างภาพยนตร์อินดีฟอร์มยักษ์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงในนิวยอร์ก และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายโดยอิรินา เรย์นเรื่อง What Happened to Anna K. เวอร์ชันร่วมสมัยของนิยายเรื่อง Anna Karenina โดยโทลสตอย ที่เกิดขึ้นในนิวยอร์ก เกิร์บเป็นสมาชิกสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างแห่งอเมริกา เป็นหนึ่งในบอร์ดผู้อำนวยการนิวยอร์ก วีเมน อิน ฟิล์ม แอนด์ เทเลวิชัน และเป็นสมาชิกของสถาบันภาพยนตร์และโทรทัศน์แคนาดา เธอเกิดในมอสโคว์และเติบโตในแคนาดา ปัจจุบัน เธอใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์ก ซิตี้กับสามีและลูกๆ สองคน

 

แฟรงค์กี้ เดอมาร์โก้ (Frankie DeMarco)—ผู้กำกับภาพ

แฟรงค์กี้ เดอมาร์โก้เป็นผู้กำกับภาพมากพรสวรรค์ ผู้ซึ่งรางวัลและเกียรติยศทีเขาได้รับคือการได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอินดีเพนเดนท์ สปิริต อวอร์ดจากผลงานของเขาในภาพยนตร์โดยแลร์รี เฟสเซนเดนเรื่อง Habit และภาพยนตร์โดยจอห์น คาเมรอน มิทเชลเรื่อง  Hedwig and the Angry Inch ตลอดการทำงานที่ผ่านมา เขาได้สลับสับเปลี่ยนอย่างอิสระระหว่างแนวต่างๆ ด้วยการทำงานในสารคดี ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ โฆษณา และมิวสิค วิดีโอ

ล่าสุด เขาเพิ่งเปิดกล้องภาพยนตร์ใหม่ทางซีบีเอสเรื่อง “The Ordained” ที่กำกับโดยอาร์.เจ. คัตเลอร์และนำแสดงโดยเอ็มมานูเอล ชริควี, แซม นีลล์และโฮป เดวิส ผลงานจอแก้วของเขารวมถึงหลายเอพิโซดในซีซันแรกของซีรีส์โดยเอเอ็มซี/ไลออนส์เกทเรื่อง “Mad Men” ที่สร้างโดยแมทธิว วีนเนอร์และซีรีส์เอ็นบีซีเรื่อง “Kings” ที่ควบคุมงานสร้างและกำกับโดยฟรานซิส ลอว์เรนซ์ นอกจากนี้ เขายังได้ถ่ายทำ “Lady Dior London” และ “L.A.-dy Dior” สปอตโฆษณาทางโทรทัศน์/เว็บพิโซด ที่นำแสดงโดยมาริยง คอติยาร์ด ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก

ในปี 2010 เดอมาร์โก้ได้ถ่ายทำภาพยนตร์โดยเจ.ซี. แชนเดอร์เรื่อง Margin Call ที่นำแสดงโดยเควิน สเปซีย์, เจเรมี ไอรอนส์และแซ็คคารี ควินโต ในปีเดียวกัน เขาได้ร่วมงานเป็นครั้งที่สามกับจอห์น คาเมรอน มิทเชลใน Rabbit Hole ที่นำแสดงโดยนิโคล คิดแมน, แอรอน เอ็คฮาร์ทและไดแอนน์ วีสต์

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ได้แก่ Beerfest และ The Babymakers ที่กำกับโดยเจย์ แชนด์ราเซคคาร์จากโบรคเคน ลิซาร์ด, Ping Pong Playa โดยเจสสิกา ยู ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอินดีเพนเดนท์สปิริต อวอร์ด, ภาพยนตร์อื้อฉาวโดยจอห์น คาเมรอน มิทเชลเรื่อง Shotbus ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2006, ภาพยนตร์โดยทอม ดิซิลโลเรื่อง Delirious ที่นำแสดงโดยสตีฟ บุสเชมีและไมเคิล พิตต์, ภาพยนตร์โดยเจย์ ดิปิเอโทรเรื่อง Peter and Vandy ที่นำแสดงโดยเจสัน ริตเตอร์และเจส เว็กซ์เลอร์, ภาพยนตร์โดยเจมส์ ซี. สเตราส์เรื่อง The Winning Season ที่นำแสดงโดยแซม ร็อคเวล, เอ็มมาโรเบิร์ตส์และรูนีย์ มาราและภาพยนตร์โดยไรอัน ชิรากิเรื่อง Spring Breakdown ที่นำแสดงโดยเอมี โพห์เลอร์, ราเชล แดรทช์และปาร์คเกอร์ โพซีย์

ระหว่างที่เขาศึกษาด้านการเขียนในฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เดอมาร์โก้เกิดติดใจงานภาพยนตร์เข้า  หลังจากได้ทำงานโฆษณาทางโทรทัศน์ เขาก็กลับไปศึกษาปริญญาตรีสาขาภาษาสมัยใหม่ที่บัลติมอร์ บ้านเกิดของเขา เขาเริ่มต้นทำงานโฆษณา สารคดีและภาพยนตร์โดยจอห์น วอเตอร์สที่ถ่ายทำในช่วงนั้น หลังจากย้ายไปนิวยอร์ก เขาก็รับหน้าที่ผู้กำกับภาพในภาพยนตร์และสารคดีหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึง Theremin: An Electronic Odyssey

เดอมาร์โก้ นักอนุรักษ์ตัวยง ได้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ได้ใช้ชีวิตในบ้านพลังแสงอาทิตย์ และกินผักและอาหารทะเลเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าเขาอยากจะไปแล่นเรือและเล่นกระดานโต้คลื่นบ่อยกว่านี้ ปัจจุบัน เขาใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์ก ซิตี้กับฮาเซล ลูกสาวของเขา

 

ปีเตอร์ ซัคคารินี (Peter Zuccarini)—ผู้กำกับภาพฉากใต้น้ำ

การทำงานเป็นผู้กำกับภาพของปีเตอร์ ซัคคารินีทำให้เขาได้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่พิเศษสุด ซึ่งรวมถึงการได้ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำอเมซอนพร้อมกล้องลอยน้ำในภาพยนตร์โดยวอลเตอร์ เซลเลสเรื่อง The Motorcycle Diaries และได้ดำดิ่งในทะเลร่วมกับแชมเปี้ยนดำน้ำ อัมแบร์โต้ เพลิซซารี สำหรับภาพยนตร์ไอแม็กซ์โดยบ็อบ ทัลบ็อทเรื่อง Ocean Men: Extreme Dive

ผลงานภาพยนตร์ล่าสุดและที่กำลังจะเข้าฉายของเขาได้แก่ภาพยนตร์โดยไมเคิล เบย์เรื่อง Pain & Gain ที่นำแสดงโดยมาร์ค วอห์ลเบิร์กและดเวย์น จอห์นสัน, ภาพยนตร์โดยกอร์ เวอร์บินกี้เรื่อง The Lone Ranger ที่นำแสดงโดยจอห์นนี เด็ปป์และอาร์มี แฮมเมอร์, ภาพยนตร์โดยฟรานซิส ลอว์เรนซ์เรื่อง The Hunger Games: Catching Fire ที่นำแสดงโดยเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์และภาพยนตร์โดยอดัม แม็คเคย์เรื่อง Anchorman: The Legend Continues ที่นำแสดงโดยวิลล์ เฟอร์เรลล์

ในภาพยนตร์รางวัลออสการ์โดยอังลีเรื่อง Life of Pi เขารับหน้าที่ผู้กำกับภาพสำหรับยูนิทที่รับผิดชอบการถ่ายทำใต้น้ำและเป็นผู้ดูแลเพลทและฟุตเตจอ้างอิงที่ใช้งานโดยทีมวิชวล เอฟเฟ็กต์รางวัลอคาเดมี อวอร์ด ผลงานภาพยนตร์อื่นๆ ได้แก่ ไตรภาค  Pirates of the Caribbean , Into the Blue, Act of Valor, Into the Wild, 127 Hours, Let Me In และ Dolphin Tale

ภายใต้ผู้กำกับบรูซ เวเบอร์ ซัคคารินีได้ถ่ายทำแคมเปญแฟชันให้กับอาร์มานีและราล์ฟ ลอเรน

ในช่วงเริ่มต้นที่เขาทำงาน เขาได้บันทึกภาพฉลามให้กับ Bimini Biological Field Station โดยดร.ซามวล กรูเบอร์ ความรักที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลได้นำไปสู่การกำกับและถ่ายทำซีรีส์สารคดีดิสนีย์สองภาค New True Life Adventures, Everglades: Home of the Living Dinosaurs and Sea of Sharks

ในปี 2001 ซัคคารินีได้ร่วมมือกับสตีฟ โอเกิลส์เพื่อก่อตั้งซัคคารินี วอเตอร์ช็อต แอลแอลซี. พวกเขาร่วมกันออกกแบบและสร้างกล้องถ่ายภาพยนตร์และอุปกรณ์ให้แสงที่กันน้ำได้ ภายใต้บริษัทนี้  เขาได้ทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อจัดหาอุปกรณ์เฉพาะเพื่อรองรับความต้องการพิเศษในการถ่ายทำใต้น้ำของภาพยนตร์เรื่องต่างๆ

ซัคคารินีเติบโตขึ้นมากับการสำรวจป่าชายเลน แนวหินปะการังและหญ้าทะเลในบริเวณรอบเกาะคีย์ บิสเคย์น, ฟลอริดา บ้านเกิดของเขา หลังจากซื้อกล้องใต้น้ำตัวแรกของเขาตอนอายุได้ 11 ปี เขาก็เริ่มต้นบันทึกสิ่งแวดล้อมรอบด้านเพื่อเล่าเรื่องผ่านทางภาพ ซัคคารินีได้ศึกษาด้านศิลปะและสัญวิทยาจากมหาวิทยาลัยบราวน์ เขาลงเรียนคลาสถ่ายรูปที่โรด ไอส์แลนด์ สคูล ออฟ ดีไซน์

 

พีท โบโดร (Pete Beaudreau)—มือลำดับภาพ

พีท โบโดร ได้ลำดับภาพให้กับภาพยนตร์อินดีหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึง XX/XY ที่นำแสดงโดยมาร์ค รัฟฟาโล, Sympathy for Delicious ที่นำแสดงโดยรัฟฟาโลและจูเลียต ลูอิสและ My Week with Marilyn ที่นำแสดงโดยมิเชลล์วิลเลียมส์ในบทที่ทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงออสการ์ เขาได้ร่วมงานกับเจ.ซี. แชนเดอร์ครั้งแรกในดรามาที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์เรื่อง Margin Call

โบโดรสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากฟิล์ม คอนเซอร์วาทอรี ที่เอสยูเอ็นวาย เพอร์เชส เขาเริ่มต้นการลำดับภาพภาพยนตร์ในปี 2000 ด้วยภาพยนตร์คัลท์คลาสสิกเรื่อง The American Astronaut ซึ่งได้รับเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปี 2001 อย่างเป็นทางการ

นอกเหนือจากงานลำดับภาพแล้ว เขายังเป็นนักพูดรับเชิญในงานประชุมด้านสื่อหลายครั้ง เขาเป็นผู้สอนเทคนิคและทฤษฎีการลำดับภาพที่สคูล ออฟ ฟิล์ม แอนด์ วิชวล สตัดดีส์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสคูล ออฟ ดิ อาร์ต์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

 

จอห์น พี. โกลด์สมิธ (John P. Goldsmith)—ผู้ออกแบบงานสร้าง

ในฐานะผู้กำกับศิลป์ จอห์น โกลด์สมิธได้ร่วมงานกับผู้กำกับมากพรสวรรค์แห่งยุคปัจจุบันหลายคน ซึ่งรวมถึงทอม ฮูเปอร์, ไมเคิล แมนน์และพี่น้องโคเอนน์ ผลงานของเขาในซีรีส์เอชบีโอเรื่อง “John Adams” ที่ได้รับรางวัลเอ็มมี อวอร์ดสาขา “กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม” ทำให้เขาได้ร่วมรับรางวัลสมาพันธ์ผู้กำกับศิลป์ ด้านจอเงิน เขาได้มีส่วนร่วมในการทำงานในภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลจากสมาพันธ์ผู้กำกับศิลป์เรื่อง No Country for Old Men และ The Adventures of Tintin ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัล นอกจากนี้ เขายังได้ร่วมทำงานใน The Last Samurai ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ดสาขา “กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม” อีกด้วย

โกลด์สมิธย้ายไปลอสแองเจลิสหลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาโทสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก เขาเริ่มต้นทำงานเป็นนักออกแบบฉากในภาพยนตร์หลายเรื่องเช่น Natural Born Killers, Beverly Hills Cop III และ Super Mario Brothers หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาการออกแบบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาก็ทำงานในบริษัทสถาปัตย์ แฟรงค์ เกห์รี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ที่โด่งดัง หลังจากนั้น เขาก็หวนคืนสู่งานภาพยนตร์และงานออกแบบฉากในโปรเจ็กต์ต่างๆ เช่น City of Angels, Batman and Robin และ Spider-Man

 

อเล็กซานเดอร์ อีเบิร์ท (Alexander Ebert)—นักประพันธ์

อเล็กซ์ อีเบิร์ท เป็นนักดนนตรีและนักแต่งเพลงมากพรสวรรค์ ผู้อยู่เบื้องหลังเอ็ดเวิร์ด ชาร์ป แอนด์ เดอะ แม็กเนติก ซีโรส์ วงดนตรีนี้ได้ตระเวนเปิดการแสดงไปทั่วและในฤดูใบไม้ผลิปี 2011 พวกเขาก็ได้ร่วมทัวร์เรลโรด รีไววัล กับมัมฟอร์ด แอนด์ ซันส์และโอลด์ โครว์ เมดิซีน โชว์ Big Easy Express สารคดีที่บันทึกการเดินทางครั้งนั้น ได้รับรางวัลแกรมมี อวอร์ด สาขาวิดีโอขนาดยาวยอดเยี่ยมจากพิธีมอบรางวัลในปี 2013 อัลบัมชุดที่สอง “Here” วางแผงในปี 2012 และมีอัลบัมคู่ที่เป็นสองแผ่นออกมาในปีนี้

ดนตรีของเขาได้ปรากฏในภาพยนตร์หลายเรื่องเช่น What to Expect When You’re Expecting และ 10 Years

ด้วยแรงบันดาลใจจากพลังดนตรีตั้งแต่อายุน้อยๆ เขาโตขึ้นมากับดนตรีที่พ่อเขาแนะนำตั้งแต่ยังเล็กๆ ระหว่างโรดทริปที่ยาวนานในช่วงซัมเมอร์ในดินแดนอเมริกันตะวันตก เขาก็เริ่มเข้าใจว่าดนตรีสามารถขยายต่อยอดและก่อกำเนิดประสบการณ์และเปลี่ยนเหตุการณ์ทุกเมื่อเชื่อวันให้กลายเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ได้อย่างไร

พออายุได้ 7 ขวบอีเบิร์ทก็ขยับจากพาวาร็อตติไปสู่ฮิปฮ็อปและเริ่มก่อตั้งวงแร็ปขึ้นร่วมกับเพื่อนๆ วัยประถมของเขา พอเข้าวัยรุ่น เขาก็เริ่มสนใจภาพยนตร์เมื่อครูได้เปิด City of Lights ของชาร์ลีย์ แชปลินให้เด็กในชั้นได้ดู แม่ของเขายินดีกับความกระตือรือร้นของลูกชายและส่งเขาเรียนคลาสภาพยนตร์ที่สอนโดยจิม พาสเทอร์แน็ค (Cousins) ที่ภายหลังได้ก่อตั้งลอสแองเจลิส ฟิล์ม สคูลขึ้น

ด้วยความตั้งใจที่จะทำงานภาพยนตร์ เขาได้เข้าศึกษาที่อีเมอร์สัน คอลเลจเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่พบว่าตัวเองเบื่อหน่ายกับคลาสเรียนและรอที่จะสร้างสรรค์งานไม่ไหว เขาได้เขียนบทภาพยนตร์และตัดสินใจออกจากวิทยาลัยเพื่อกำกับภาพยนตร์เรื่องนั้น หลังจากนั้น เขาก็ได้สร้างโปรเจ็กต์ซินธ์ร็อค อิม โรบ็อท ร่วมกับทิมมี “เดอะ เทอร์เรอร์” แอนเดอร์สัน หลังจากออกอัลบัมและมีผลงานที่ไม่เผยแพร่มากมายตลอดระยะเวลาห้าปี อัลบัมเปิดตัวของวงก็ถูกจัดจำหน่ายโดยเวอร์จิน เรคคอร์ดส์ในปี 2003 ตามด้วย “Monument to the Masses” ในปี 2006

ในการแต่งเพลง ซึ่งทำให้เขาห่างไกลจากการเป็นที่รู้จัก อีเบิร์ทค้นพบความสุขอีกครั้ง เขาได้กลับมาอีกครั้งพร้อมกับผลงานการแต่งเพลงในรูปแบบโฟล์ค หลังจากนั้น เขาก็ได้ร่วมมือกับนักร้อง เจด คาสทรินอส เพื่อนร่วมงานของเขาจากเอ็ดเวิร์ด ชาร์ป แอนด์ เดอะ แม็กเนติก ซีโรส์ ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกทั้งวง การแสดงครั้งแรกของพวกเขาเกิดขึ้นในปี 2007 “Up from Below” ผลงานแรกของพวกเขา เปิดตัวในปี 2009 โดยมีซิงเกิลฮิตชื่อ “Home”

อัลบัมชุดที่สามของอิมา โรบอท “Another Man’s Treasure” วางแผงในปี 2010 และเขาก็ได้เปิดตัวอัลบัมโซโลในชื่อ “Alexander” ในปี 2011

ในตอนที่เขาสำรวจความเป็นไปได้ของการถ่ายทอดความรู้สึกผ่านทางเสียง เขาก็ได้เขียนบทภาพยนตร์ นิยายและรวมบทกวีขึ้นอีกมากมาย

 

ริชาร์ด ฮิมน์ส (Richard Hymns)-มือลำดับเสียง

ในฐานะหัวหน้ามือลำดับเสียงในภาพยนตร์เรื่อง Saving Private Ryan และ A River Runs Through It ริชาร์ด ฮิมน์สได้สร้างประวัติการทำงานที่น่าเกรงขาม ที่อุทิศให้กับการสร้างซาวน์ที่สมจริงและละเอียดอ่อน เพื่อเสริมวิสัยทัศน์ในการเล่าเรื่องของผู้กำกับ ตั้งแต่เสียงคำรามของอาวุธไปจนถึงเสียงน้ำกระเพื่อมเบาๆ ในตอนที่เหยื่อตกปลากระทบผิวน้ำ ความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์งานคุณภาพเป็นลายเซ็นสำคัญของผลงานของเขา

ฮิมน์สได้รับสามรางวัลอคาเดมี อวอร์ดและได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลทั้งหมดแปดครั้ง ความสำเร็จอื่นๆ ของเขาได้แก่การได้รับสี่รางวัลโมชัน พิคเจอร์ ซาวน์ อีดิตเตอร์ส (เอ็มพีเอสอี) โกลเดน รีล อวอร์ดและรางวัลบาฟตา อวอร์ด เขาได้ร่วมงานกับสตีเวน สปีลเบิร์ก, โรเบิร์ต เรดฟอร์ด, ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา, จอร์จ ลูคัส, เจมส์ คาเมรอน, เดวิด ฟินเชอร์, อังลี, เดวิด ลินช์, ทิม เบอร์ตัน, ปีเตอร์ แจ็คสันและรอน โฮเวิร์ด

ผลงานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ The Outsiders, Wild at Heart, Willow, Backdraft, Fight Club, Zodiac, Mars Attacks!, The Frighteners, Hulk, Mission: Impossible – Ghost Protocol, Jumanji, Avatar, Jurassic Park, Munich, War Horse และ Lincoln

ตอนอายุได้ 16 ปี เขาเริ่มต้นทำงานที่เอลส์ทรี สตูดิโอส์ ทางตอนเหนือของลอนดอนด้วยการเสิร์ฟชาให้กับสมาชิกทีมลำดับภาพของกองถ่าย เขาได้แจ้งเกิดเมื่อหลังจากเวลาผ่านไปหลายเดือน เขาได้เป็นมือลำดับภาพฝึกหัดในซีรีส์ “The Saint” เขาไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ และพบความถนัดของตัวเองในงานลำดับเสียง โดยหลักๆ แล้ว เขาทำงานที่สกายวอล์คเกอร์ ซาวน์ในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ

สตีฟ โบเอ็ดเด็กเกอร์ (Steve Boeddeker)—นักออกแบบเสียง, นักผสมเสียงสำหรับการบันทึกเสียงใหม่, หัวหน้ามือลำดับเสียง)

สตีฟ โบเอ็ดเด็กเกอร์เป็นนักออกแบบเสียง นักผสมเสียงและนักประพันธ์ที่ทำงานจากสกายวอล์คเกอร์ ซาวน์ในมารินและสตูดิโอของตัวเองในซานฟรานซิสโก เขาได้ทำงานในย่านเบย์ แอเรีย, ลอสแองเจลิส, นิวยอร์กและลอนดอนเป็นส่วนใหญ่ และได้ร่วมงานกับผู้กำกับชื่อดังมากมาย

ผลงานการผสมเสียงและออกแบบเสียงของเขาปรากฏอยู่ในภาพยนตร์หลายเรื่อง ซึ่งรวมถึง Now You See Me, The Company You Keep, Killer Joe, Beasts of the Southern Wild, Lincoln, TRON: Legacy, Alice in Wonderland, Bug, Charlie and the Chocolate Factory, Sweeney Todd, Hellboy, Daredevil, Rules of Engagement, Fight Club และ Contact ผลงานดนตรีดั้งเดิมของเขาปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง The Exorcist (ฉายใหม่), Se7en และ The Prophecy 3: The Ascent รวมถึงในผลงานของด็อกส์ ออฟ ดิสทอร์ทชัน วงดนตรีของเขา

บ็อบ มุนโรว์ (Bob Munroe)—ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์

บ็อบ มุนโรว์เป็นซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ อนิเมเตอร์ ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับฝ่ายดิจิตัล เอฟเฟ็กต์ ที่ประสบความสำเร็จ การอำนวยการสร้างภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชันขนาดสั้นเรื่อง Frost เมื่อเร็วๆ นี้ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลแคนาเดียน สกรีน อวอร์ด (ปัจจุบัน มีการรวมรางวัลเจมินีและจินนี อวอร์ดเข้าด้วกัน) ก่อนหน้านี้ มุนโรว์รับตำแหน่งผู้ควบคุมงานสร้าง The Spine ภาพยนตร์อนิเมชันขนาดสั้นปี 2009 โดยผู้กำกับรางวัลอคาเดมี อวอร์ด คริส แลนเดรธ (คอปเปอร์ฮาร์ท/สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติของอเมริกา)

ผลงานหลังจากนั้นของมุนโรว์คือ Ghosts of the Pacific (เดอะ อเมริกัน ฟิล์ม คัมปะนี) ภาพยนตร์ที่เขารับหน้าที่ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ ดรามาเกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดในสงครามโลกครั้งที่สองนำแสดงโดยเจค อาเบล, ทอม เฟลตันและการ์เร็ต ดิลลาฮันท์

เขาและทีมวิชวล เอฟเฟ็กต์ของเขาได้รับการเสนอชื่อชิงสี่รางวัลจินนี อวอร์ดในสาขา “วิชวล เอฟเฟ็กต์ยอดเยี่ยม” จากผลงานของเขาใน “The Tudors” (โชว์ไทม์/ซีบีซี) และได้รับรางวัลมาในปี 2008 และ 2011 นอกจากนี้ เขายังได้รับหน้าที่ผู้ร่วมอำนวยการสร้างในซีซันสุดท้ายของซีรีส์นี้อีกด้วย สำหรับซีซันแรกของ “The Borgias” (โชว์ไทม์/ซีทีวี) มุนโรว์ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลเอ็มมีสาขา “วิชวล เอฟเฟ็กต์ยอดเยี่ยม”

           เขารับหน้าที่หัวหน้าผู้อำนวยการสร้างของภาพยนตร์อนิเมชันเรื่อง The Wild (ดิสนีย์) และซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายวิชวล เอฟเฟ็กต์ใน Snow Day (พาราเมาท์ พิคเจอร์ส), Cube (เดอะ ฟีเจอร์ ฟิล์ม โปรเจ็กต์), Caveman’s Valentine (ยูนิเวอร์แซล/เจอร์ซีย์ ฟิล์มส์/แฟรนไชส์ พิคเจอร์ส), Knockaround Guys (นิวไลน์), Finding Forrester (โคลัมเบีย), Glitter (โคลัมเบีย), Cletis Tout (ไฟร์เวิร์คส์), Against the Ropes (พาราเมาท์), Cypher (มิราแมกซ์/แพนดอรา), Splice (คอปเปอร์ฮาร์ท/โกมอนท์), Dolphin Tale (อัลคอน/ดับบลิวบี) และ Haunter (เอนเตอร์เทนเมนต์วัน/คอปเปอร์ฮาร์ท)

ในฐานะผู้กำกับฝ่ายดิจิตัล เอฟเฟ็กต์ เขาเป็นผู้นำทีมอนิเมเตอร์ในภาพยนตร์เรื่อง  Nutty Professor II: The Klumps (ยูนิเวอร์แซล), Doctor Dolittle (ทเวนตี้ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์), Mimic (ไดเมนชัน ฟิล์มส์) และภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางโทรทัศน์เรื่อง “TekWar” (แอตแลนติส) นอกจากนี้ เขายังรับหน้าที่ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายดิจิตัล เอฟเฟ็กต์ในภาพยนตร์เรื่อง Johnny Mnemonic (อัลลายแอนซ์ คอมมิวนิเคชันส์/ไทร สตาร์ พิคเจอร์ส), ผู้กำกับฝ่ายเทคนิคเรื่อง Fly Away Home (โคลัมเบีย พิคเจอร์ส) และผู้กำกับยูนิทที่สองใน Haunter, Dolphin Tale, Splice, Nothing และซีรีส์ “The Tudors”

ในปี 1994 เขาได้เป็นผู้นำทีมอนิเมชันสำหรับภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยายไซไฟยอดนิยมเรื่อง Tekwar โดยวิลเลียม แชทเนอร์ ของแอตแลนติส ฟิล์มส์ เอฟเฟ็กต์ CG ที่พวกเขาได้สร้างขึ้นมานั้นได้รับรางวัล 1995 อินเตอร์เนชันแนล มอนิเตอร์ อวอร์ดสาขา “สเปเชียล เอฟเฟ็กต์ยอดเยี่ยมในซีรีส์ที่เกิดจากภาพยนตร์” และ 1996 เจมินี อวอร์ดสาขา “วิชวล เอฟเฟ็กต์ยอดเยี่ยม”

ในปลายศตวรรษที่ 90s มุนโรว์ได้พัฒนากระบวนการใหม่ที่ทำให้อนิเมเตอร์สามารถจับคู่แสงจากฉากในภาพยนตร์กับแสงในสิ่งแวดล้อมที่สร้างในคอมพิวเตอร์ได้ กระบวนการนี้ได้รับการจดสิทธิบัตรทั้งในอเมริกาและแคนาดา ในปี 2006 เขาได้รับรางวัลพรีเมียร์ อวอร์ด (ออนตาริโอ) ด้านศิลปะสร้างสรรค์และออกแบบ

เขาสำเร็จการศึกษาสาขาศิลปกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออนตาริโอ(ปริญญาตรี ปี 1985) และสาขาคอมพิวเตอร์ อนิเมชันจากเชอริแดน คอลเลจ เขาเป็นอดีตผู้อำนวยการบอร์ดอำนวยการศูนย์ภาพยนตร์แคนาดา ในปี1998 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์วุฒิคุณที่เชอริแดน คอลเลจ นอกจากนี้ เขายังเป็นสมาชิกของสถาบันภาพยนตร์และโทรทัศน์แคนาดา (เอซีซีที), สมาพันธ์ผู้กำกับแห่งแคนาดา (ดีจีซี) และสถาบันศิลปะและวิทยาการโทรทัศน์ (เอทีเอเอส) อีกด้วย

          เบรนดอน โอ’ เดล (Brendon O’Dell)—ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายสเปเชียล เอฟเฟ็กต์

เบรนดอน โอ’เดลสามารถนำเสนอบริการสเปเชียล เอฟเฟ็กต์และอุปกรณ์ในโปรเจ็กต์ขนาดต่างๆ ที่ถ่ายทำที่ไหนก็ได้ในโลกใบนี้ เขาได้ทำงานในภาพยนตร์มากมายเช่น Horrible Bosses, Devil, Eagle Eye, Training Day, Daredevil และ Jackass ผลงานจอแก้วของเขาได้แก่ “Justified,” “Vegas” และ “American Dreams”

โอ’เดล เติบโตขึ้นมาในเมืองเล็กๆ อย่างพาราไดซ์ในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งทำให้เขาห่างไกลจากแวดวงภาพยนตร์มากๆ พ่อของเพื่อนสนิทเขาเป็นนักสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ที่เป็นที่รู้จัก และทำให้โอ’เดลได้เริ่มทำงานที่สเปเชียล เอฟเฟ็กต์ อันลิมิเต็ดในปี 1995 ภายในเวลาสองปี เขาได้ไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทำให้เขาได้พบกับผู้ประสานงานและซูเปอร์ไวเซอร์ระดับแนวหน้า จนถึงปัจจุบัน เขาได้ดูแลกว่า 50 โปรเจ็กต์และได้ช่วยงานในกว่า 100 โปรเจ็กต์