สสส.เผยสุดยอดผลงานคลิปโฆษณา “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” ชี้กรรมการรวมคะแนน มรภ.จษ. ชนะเป็นเอกฉันท์

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา โครงการปิ๊งส์ โดยแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สำนักโภชนาการสมวัย สำนักงานบริหารแผนงานอาหารและโภชนาการ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีประกาศผลมอบรางวัลการประกวดคลิปโฆษณาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” ขึ้นภายในงาน Adman Awards & Symposium 2013 ที่เซ็นทรัล เวิลด์ ไลฟ์ ชั้น 8

โดยนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคอ้วนในช่วง 10 ปี มีสถิติค้นพบว่า อุบัติการณ์โรคอ้วนในเด็กไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และตามสถิติสรุปได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเพิ่มจำนวนเด็กอ้วนเร็วที่สุดในโลก มีรายงานว่า เฉพาะช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36 และเด็กวัยเรียนอายุ 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.5 ซึ่งกรมอนามัยได้เคยประมาณการเกี่ยวกับสัดส่วนของเด็กไทยที่อาจจะเข้าสู่สภาวะเป็นเด็กอ้วนไว้ว่า ในปีพ.ศ. 2558 เด็กก่อนวัยเรียนในประเทศไทยจะกลายเป็นเด็กอ้วนในสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 5 นั่นหมายความว่า ในเด็ก 5 คน จะมีเด็กอ้วน 1 คน และเด็กวัยเรียน จะมีสัดส่วนของเด็กอ้วนอยู่ที่ 1 ใน 10 ที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และความเสี่ยงต่อไปก็เป็นโรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ ฯลฯ เมื่อสถานการณ์โรคอ้วนและความเชื่อที่ผู้ปกครองมีต่อการเลี้ยงดูเด็กยังคงเข้าใจว่า เด็กอ้วนคือเด็กน่ารัก เด็กอ้วนคือสมบูรณ์ เด็กอ้วนเป็นเด็กที่แข็งแรง แต่ลืมคิดไปว่า นั่นคือความเสี่ยง เพราะเด็กอ้วนในวันนี้เป็นที่มาของผู้ใหญ่อ้วนในวันหน้า โครงการประกวดคลิปโฆษณาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” จึงได้เปิดรับสมัครเยาวชนนักเรียน นิสิตนักศึกษา อายุระหว่าง 15-25 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยไม่จำกัดสาขาและคณะที่ศึกษาอยู่ ร่วมส่งผลงานคลิปออนไลน์รณรงค์ ภายใต้หัวข้อ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” ขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการเปิดรับสมัครมีผู้ที่สนใจถึง 154 ทีมส่งผลงานเข้ามา แต่มีเพียง 12 ทีมที่ผ่านเข้ารอบและรับทุนทีมละ 15,000 บาท เพื่อไปผลิตผลงานจริง

“จากการผลิตผลงานของเยาวชนทั้ง 12 ทีมที่ผ่านมา ได้มีวิทยากรที่เป็นนักสร้างสรรค์งานโฆษณามืออาชีพ อาทิ นายชูเกียรติ ครูทรงธรรม, นายชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา, นายอลงกต เอื้อไพบูลย์, นายอนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง, นายเดนโก้ ธัชชัยชวลิต, นายวัฒอัท พิมลศรี, นายชายแดน เทียมไสย์ และนายจินตวัฒน์ สัมพันธุ์วัฒนากุล  คอยให้ความรู้และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการ ขั้นตอน และเทคนิคในการทำโฆษณาอย่างใกล้ชิด จนในที่สุดได้มีผลงานที่โดดเด่นออกมาถึง 12 ผลงาน ซึ่งจากการตัดสินของคณะกรรมการผลปรากฏว่า ผลงานเรื่อง “โรคซ่อนแอบ” ทีม One Man Show จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ได้รับรางวัลชนะเลิศและเป็นสุดยอดผลงานประกวดคลิปโฆษณาออนไลน์ “อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน” ในครั้งนี้ไปครอง โดยรางวัลชนะเลิศจากการประกวดในครั้งนี้รับโล่ห์ ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 50,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ได้รับประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 30,000 บาท คือ ผลงานเรื่อง “การกินทำลายสุขภาพ” ทีม Delusive จาก มหาวิทยาลัยรังสิต, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 10,000 บาท คือ ผลงานเรื่อง “ไม่อยากอ้วน” ทีมลูกแกะสีขาว จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกวิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ, รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท คือ ผลงานเรื่อง “ความอ้วน… ฆ่าคนที่คุณคู่ควร” ทีม ต๋อยรักติ๋ม.จาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ ผลงานเรื่อง “หยุดยัดเยียดความเสี่ยงให้ลูกคุณ” ทีม หมูน้อย จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม นอกจากนี้ทางโครงการยังจัดให้มีมีรางวัล Popular Vote ซึ่งเป็นการเปิดให้โหวตออนไลน์ ผ่าน www.PINGs.in.th และ โหวตภายในงานประกาศผลวันที่ 16 ตุลาคม 2556 ผลปรารกฎว่า เรื่อง”อย่าให้อาหารขยะ “เปลี่ยน” ลูกคุณเป็นคนอื่น”  ทีม CAD (control alt delete) จาก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คว้ารางวัลนี้ไปรับประกาศนียบัตรพร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท ส่วนรางวัล Professional Vote รางวัลที่ได้ครีเอทีฟในวงการโฆษณามาโหวต ผลปรากฏว่า เรื่อง “โรคซ่อนแอบ” ทีม One Man Show จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม คว้ารางวัลนี้ไปครองและรับประกาศนียบัตรและ เงินรางวัล 15,000 บาท นอกจากนี้ผลงานทั้ง 12 ชิ้นนี้จะมีการนำไปใช้รณรงค์และเผยแพร่สู่สังคมผ่านทางโซเชียลมีเดีย (Social media), อินเตอร์เน็ต (internet), การค้นหาข้อมูลผ่านกูเกิ้ล (Google), ยูทูป (YouTube), การพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้คนในเฟสบุค (Facebook), อินสตาแกรม (Instragram), ไลน์ (line) และ ว็อทสแอ้ป (Whats app) ต่อไปเร็วๆ นี้ ” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว

ทั้งนี้นายวิทวัส ชัยปาณี นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้พ่อแม่-ผู้ปกครองรุ่นใหม่ตระหนักถึงอันตรายในการเลี้ยงดูให้เด็กอ้วน และเปลี่ยนทัศนคติจากความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า เด็กอ้วนคือเด็กน่ารัก เป็น เด็กอ้วนคือเด็กป่วย น่าเป็นห่วง ทางโครงการจะมีการต่อยอดผลงานจากการประกวดไปยังโรงเรียนนำร่องที่เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ด้วยการนำผลงานทั้งหมดไปฉาย และนำเครือข่ายทางด้านโภชนาการ อาทิ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ หรือนักวิชาการที่เกี่ยวข้องไปให้ความรู้ที่ถูกต้องด้วย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป นอกจากนี้จะมีการนำไปออกอากาศเผยแพร่ต่อทั้งทางสถานีโทรทัศน์ หรือเคเบิ้ลทีวีต่อไป จากนั้นเพื่อเป็นการเน้นย้ำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้นจะมีการต่อยอดโครงการต่อไปด้วยการเปิดรับสมัครโครงการใหม่ด้วยการเขียนเป็นเรื่องสั้น การ์ตูนเล่ม และอาจจะนำมาพัฒนาเป็นบทเพื่อทำเป็นหนังสั้นต่อไปทั้งนี้สามารถติดตามได้ที่ www.PINGs.in.th หรือ www.artculture4health.com