“ต่าย อรทัย” มอบโชว์งานฉลอง ศิลปินแห่งชาติ แด่ “ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา”

ต่าย อรทัย พร้อมแด๊นซ์บางส่วน         เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นวันศิลปินแห่งชาติ พร้อมทั้งยังเป็นวันเฉลิมฉลองให้กับผู้ที่ได้แต่งตั้งให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2557 อีกด้วย ซึ่งแต่ละท่านแต่ละสาขาก็จะส่งการแสดงที่เกี่ยวกับสาขานั้นๆ มาให้ผู้มีเกียรติได้รับชม ซึ่งหนึ่งในศิลปินแห่งชาติ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ก็ได้ลูกศิษย์และลูกหลานเมืองอุบลฯ อย่าง ต่าย อรทัย ร่วมมอบโชว์สุดพิเศษอย่างเพลง มนต์รักแม่น้ำมูล และ สาวอุบลรอรัก ซึ่งเป็นบทเพลงที่ครูพงษ์ศัดิ์ จันทรุกขา ได้ประพันธ์ไว้ มาแสดงให้ครูพงษ์ศักดิ์ รวมไปถึงศิลปินแห่งชาติท่านอื่นๆ ได้ชมกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นโชว์ปิดท้ายของงานเลยก็ว่าได้ ต่าย อรทัย ก็ไม่ทำให้น้อยหน้า เพราะงานนี้จัดเต็มขนแด๊นเซอร์แบบเต็มโชว์ เรียกได้ว่าการแสดงโชว์ภายในเวลา 10 นาที ของสาวดอกหญ้า สามารถสะกดคนดูได้ทั้งหอประชุมใหญ่ ของศูนย์วัฒนธรรมกันเลยทีเดียว

         ก่อนที่จะถึงเวลาโชว์ ต่าย อรทัย ก็ได้เข้ามากราบสวัสดีครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา พร้อมยลโฉมโล่ห์ศิลปินแห่งชาติ และขอพร บอกกล่าวการที่นำเพลงของครูมาแสดงในวันนี้ เพื่อเป็นกำลังใจและเพื่อให้งานแสดงผ่านพ้นไปด้วยดีนั่นเอง

ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา         ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) ประจำปี 2557 ได้กล่าวถึงความรู้สึก “ศิลปินทุกท่านรวมถึงตัวครูกว่าจะได้มาถึงวันนี้ ทุกคนก็ล้วนภูมิใจและดีใจ สิ่งที่ครูทำบทเพลงที่ครูนำเสนอ มันคือความสุนทรีย์ของการเป็นลูกทุ่งอย่างแท้จริง ดีใจและภูมิใจที่ยังมีศิลปินรุ่นใหม่พร้อมที่จะถ่ายทอดงานเพลงของครูให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ซึบซับการวัฒนธรรมของคนภาคอีสาน

นอกจากนี้ ต่าย อรทัย ยังได้เผยความรู้สึกที่ครูพงษ์ศักดิ์ ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2557 ด้วยว่า “ในฐานะที่ต่ายเป็นคนอีสานเป็นลูกหลานของเมืองอุบลฯ ขอแสดงความยินดีและภูมิใจกับ “พ่อพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา” ซึ่งปีนี้ท่านได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ย้อนไปเมื่อประมาณปี 2540 โรงเรียนได้ส่งต่ายเป็นตัวแทนเข้าประกวดร้องเพลงในโครงการที่ มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับโรงเรียนศรีเมืองใหม่วิทยาคาร อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี ต่ายได้รู้จักชื่อ ครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ประสานงานของโครงการนี้ ต่ายเข้าแข่งขันในฐานะตัวแทนระดับชั้น ม.ปลายของโรงเรียน จำได้ว่าเพลงที่ใช้ประกวด มีเพลงที่ท่านแต่งขึ้นมาตามจุดประสงค์ของโครงการเป็นเพลงบังคับและให้ร้องเพลงตามความถนัดอีกเพลง วันนั้นคือหนึ่งวันของชีวิตที่ต่ายจำได้เสมอไม่เคยลืมเพราะวันนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ต่ายได้มาเป็น “ต่าย อรทัย” ในวันนี้ หลายปีต่อมาพี่บ่าวพี่สาวได้พามาพบ ครูสลา คุณวุฒิ และครูเปิดเส้นทางให้ต่ายเดินเข้าสู่ชายคาแกรมมี่

ต่าย อรทัย ชมโล่ห์ศิลปินแห่งชาติ         ชื่อครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา และการประกวดร้องเพลงในครั้งนั้น ได้ถูกพูดถึงจนรู้สึกในใจว่า วันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของชีวิตการเป็นนักร้องของตัวเอง ชื่อของพ่อพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา คือหนึ่งในชื่อของครูที่ต่ายรำลึกถึงในขณะยกมือไหว้ก่อนขึ้นเวทีทุกครั้ง ยิ่งได้ทราบจากคุณครูสลา คุณวุฒิ ว่าพ่อพงษ์ศักดิ์ คือครูเพลงของท่าน ก็ยิ่งทำให้ ต่ายศรัทธาในความเป็น ปูชนียบุคคล ของชาวอีสาน ศรัทธาในเพลงที่พ่อสร้าง และ ศรัทธาที่ท่านคือ “ครูของครู” ต่ายมีโอกาสได้ร้องเพลงพ่อ “คูนดอกสุดท้าย” และหลายเพลงต่อมา “ฟ้าสางที่ฝั่งโขง” รวมถึงเพลง “สาวอุบลรอรัก” ที่เป็นหนึ่งในเพลงที่ชื่นชอบมาตั้งแต่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนแต่ง และล่าสุดกับเพลง “มนต์รักแม่น้ำมูล” ต่ายมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรม “ลานบ้าน ลานธรรม” ที่พ่อจัดขึ้นเป็นประจำทุกต้นปีที่ อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี พ่อให้ความเมตตา ให้โอกาส ใครก็ตามที่ได้มีโอกาสได้พบได้พูดคุยกับพ่อรู้สึกได้ถึงความเย็น เรื่องยากจะกลายเป็นง่าย เรื่องหนักๆ จะกลายเป็นเบา พักหลังต่ายอาจจะห่างจากการไปร่วมกิจกรรมเพราะติดภาระหน้าที่ แต่ก็มีโอกาสได้กราบพ่อในงานที่จัดขึ้นในพื้นที่จังหวัดอุบลฯ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีใครให้พูดถึง พ่อพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ต่ายก็ยังยืนยันเสมอว่า “ถ้าบ่มีกิจกรรมการประกวดร้องเพลงที่พ่อครูจัดขึ้นที่ศรีเมืองใหม่ในปีนั้น ก็คงบ่มี ต่าย อรทัย ในวันนี้