สถาบันอาหารประเมินส่งออกอาหารปี 58 หดตัว 1.7% คาดปี 59 ฟื้นตัวแตะ 1 ล้านล้าบาท

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์สถาบันอาหาร ประเมินส่งออกอาหารของไทยปีนี้ มีแนวโน้มหดตัว 1.7% ด้วยมูลค่า 9 แสนล้านบาท  เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีมูลค่าส่งออก 9.15 แสนล้านบาท คาดปี 2559 มูลค่าจะฟื้นตัวด้วยอัตราเติบโตราว 8%  ขึ้นไปแตะ 1 ล้านล้านบาท ส่วนปริมาณจะเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 2558  พร้อมตั้งเป้าปี 2560 จะผลักดันยอดส่งออกให้ได้ 1.3 ล้านล้านบาท

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 2558 นี้ประเมินว่าจะมีมูลค่า 9 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.7% ที่มีมูลค่าส่งออก 9.15 แสนล้านบาท ส่วนในปี 2559 คาดว่ายอดส่งออกจะพุ่งขึ้นไปแตะ 1 ล้านล้านบาท โดยขยายตัวราว 8% ส่วนปริมาณจะเพิ่มขึ้น 10%  เนื่องจากประเทศผู้ผลิตอาหารทั่วโลกล้วนประสบภัยธรรมชาติ ทำให้มีปริมาณการผลิตลดลง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าส่งออกสินค้าอาหารให้ได้ 1.3 ล้านล้านบาท ในปี 2560

สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2558 พบว่ามีมูลค่า 424,900 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าหลักที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว    (-5.5%), น้ำตาล (-3.7%), ทูน่ากระป๋อง (-14.0%) และกุ้ง (-12.8%) ส่วนสินค้าหลักที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ไก่ (+11.4%), แป้งมันสำปะหลัง (+23.4%), สับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรด (+8.2%) และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส (+1.3%)

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ปริมาณวัตถุดิบทางการเกษตรลดลงจากภัยแล้ง โดยเฉพาะกลุ่มพืชผักผลไม้ (สับปะรด ผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ) ราคาสินค้าเกษตรอาหารอ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีนที่เป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าอาหารอ่อนตัวลง ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละสินค้า เช่น ราคาวัตถุดิบ (ปลาทูน่า) ที่ลดลงจากปริมาณปลาที่จับได้มาก รวมทั้งมีอุปทานส่วนเกินในตลาดกุ้ง ไก่ น้ำตาล เป็นต้น

นายยงวุฒิ เผยต่อว่า การส่งออกสินค้าอาหารในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีมูลค่า 475,100 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ผู้บริโภคจึงระมัดระวังการใช้จ่าย การอ่อนค่าของเงินสกุลประเทศคู่ค้าต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น ยูโร เยนญี่ปุ่น รวมทั้งเงินหยวนของจีน เป็นต้น ราคาสินค้าเกษตรอาหารยังอยู่ในระดับต่ำฉุดรายได้จากการส่งออกลดลง ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งยังไม่คลี่คลาย แม้เข้าสู่ฤดูฝนแต่ปริมาณน้ำฝนที่ตกยังน้อยมากโดยเฉพาะในเขตทุ่งราบเจ้าพระยา ทำให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้อย ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องไปจนถึงฤดูการผลิตหน้า

ส่วนปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยประคับประคองการส่งออก ได้แก่ การอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ การขยายตัวของการส่งออกไก่ไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมทั้งการส่งออกสินค้าอาหารประเภทต่างๆ ไปยังตลาดในอาเซียน ซึ่งยังมีความต้องการสินค้าอาหารจำเป็นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมการส่งออกอาหาร ณ สิ้นปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่า 900,000 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 1.7 จากปี 2557

นายยงวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สินค้าบางตัวก็มียอดส่งออกดีขึ้น บางตัวก็ลดลง มูลค่าการส่งออกจะเติบโตมากหรือน้อยไม่ได้มีเพียงปัจจัยการสนับสนุนของไทยอย่างเดียว ยังขึ้นกับนโยบาย มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี หรือเอ็นทีบีของประเทศอื่นๆด้วย ทั้งนี้สถาบันอาหารจะเร่งดำเนินการ 3 ด้าน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย 1.3 ล้านล้านบาทในปี 2560 ได้แก่ 1. สนับสนุนข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของสินค้าอาหารประเภทต่างๆเพื่อให้เอกชนไทยปรับตัวได้ทัน 2.ช่วยโปรโมทคุณค่าอาหารไทย ความปลอดภัย โภชนาการของสินค้าประเภทต่างๆ ในประเทศตลาดหลัก 3. ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ เพื่อผลักดันให้ยอดส่งออกเติบโต ตลาดหลักที่จะช่วยส่งเสริมยอดส่งออกได้แก่ ตลาดจีน ซึ่งเติบโตปีละ10% และในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวมากกว่า 20% รองลงมาเป็น ตลาดอาเซียน ซึ่งปัจจุบันนำเข้าอาหารจากไทยมากที่สุด ในปีหน้าจะขยายตัวมากว่า 10% หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยจะมีโอกาสเพิ่มขึ้น และมีศักยภาพแข่งขันกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสถาบันอาหารได้พยายามขยายตลาดส่งออกไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดสถาบันอาหารได้ลงนามความร่วมมือกับกลุ่มสหกรณ์นำเข้าสินเค้าอาหารของญี่ปุ่น(JCCU) ซึ่งสถาบันอาหารจะเป็นผู้ตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าที่จะส่งไปยังลูกค้ากลุ่มนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของต่างชาติในมาตรฐานการตรวจสอบของสถาบันอาหาร โดยสถาบันอาหารตั้งเป้าหมายในปีหน้าจะยกระดับมาตรฐานการตรวจรับรองสินค้าอาหารของไทยให้เป็นมาตรฐานที่ยอมรับในกลุ่มประเทศอาเซียน และในอีก 4 ปีข้างหน้าจะยกระดับจะยกระดับสู่มาตรฐานโลกให้นานาชาติทั่วโลกยอมรับในมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าอาหารของสถาบันอาหาร ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานอาหารของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล