[Review] ฟ.ฮีแลร์(F.Hilaire)

1

“ฟ.ฮีแลร์”???

เมื่อพูดชื่อเรื่องนี้ขึ้นมา ทุกคนจะต้องถามไปในทางเดียวกันว่า
“ห้ะ เรื่องอะไรนะ?” ,”หนังไทยหรือฝรั่ง?” ,”เกี่ยวกับอะไรวะนั่น?” ,”ทำไมกูไม่เคยได้ยินชื่อ” ฯลฯ …
มีแต่เสียงพ่อ ที่พูดว่า “บราเธอร์ฮีแลร์หรอ?.. อาจารย์ของปู่ ปู่เคยเล่าให้ฟัง..”

ก็เลยรู้แค่ว่าคงเป็นหนังเกี่ยวกับอาจารย์ฝรั่งคนนึง นอกจากนั้นก็ยังไม่มีความคาดหวังอะไรนะ ยิ่งพอรู้ว่าเป็นอัตชีวประวัติแล้วยิ่งรู้สึกเตรียมง่วงไว้ก่อนเลย.. ฮ่าๆ

/เข้าเรื่องเลยแล้วกัน

“สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย”

ฟ.ฮีแลร์

หนังเปิดเรื่องมาด้วยข้อความข้างต้นโดยโฟกัสการเขียนทีละตัวๆ ได้เห็นจังหวะที่เส้นหมึกสีดำเปียกลงบนกระดาษ และค่อยๆซึมแห้งตามปลายตวัดของปากกาคอแร้งไปในทีละตัวอักษร…

ใครจะไปคิดล่ะ ว่าไอ้เรื่องเล็กๆน้อยๆแบบนี้ ถ้ามองดีๆมันสวยนะ! งานภาพและการเก็บรายละเอียดจึงนำเด่นมาตั้งแต่ซีนแรกอย่างไม่มีที่ติ นั่นเป็นการเปิดตัวของตัวเอกในอดีต ซึ่งก็คือ “บราเธอร์ฮีแลร์” (ฟ.มาจากแฟลร์ ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึงบราเธอร์)

ต่อมาจะเล่าถึงชีวิตของ “พงศธร” นักศึกษาฝึกสอนปีสุดท้าย ตัวเอกในยุคปัจจุบันผู้ซึ่งมีปัญหากับการทำThesis เขาเลือกทำในหัวข้อ ฟ.ฮีแลร์ เพราะเห็นว่า “เจ๋งดี และมีอยู่คนเดียว” เพียงแค่นั้น.. เขานำรูปเล่มไปเสนออาจารย์หลายครั้งหลายหน แต่ก็ยังถูกตีกลับเนื่องด้วยความเป็นข้อมูลดิบจากอากู๋ ผ่านกระบวนการ copy>paste>copy>paste… ยังไงก็ได้ขอให้เล่มหนาๆ ไร้ซึ่งการ Analysis ใดๆ (นี่มันตีแผ่ชีวิตนักศึกษาในสภาพสังคมจริงชัดๆ) นั่นทำให้เขาต้องศึกษาลงลึกถึงอัตชีวประวัติในเชิงแนวคิดของครูฝรั่งผู้แต่งตำราภาษาไทยผู้นี้ให้มากขึ้น

จุดสนใจในงานภาพคือการเล่าเรื่องตัดสลับเหตุการณ์ในอดีตและปัจจุบัน ด้วยการเปลี่ยนฉากที่เรียกได้ว่าค่อนข้างนุ่มนวล เช่น

  • การเปลี่ยนฉากจากหน้าต่างเรือเดินสมุทรของคณะภราดาของ ฟ.ฮีแลร์ มายังหน้าต่างห้องทำงานของพงศธรในวันที่ฝนตก
  • พงศธรคุยกับนักเรียนที่มาส่งการบ้าน และหมุนกล้องเปลี่ยนมาเป็นนักเรียนของ ฟ.ฮีแลร์
  • ความพยายามในการหัดอ่านภาษาไทย ของ ฟ.ฮีแลร์ แม้จะง่วงเหงาแค่ไหนก็ตาม เปรียบเทียบกับการทำทีสิสของพงศธร ซึ่งพอง่วงแล้วก็นอนหลับอย่างสบายใจทันที

พงศธร และ ฟ.ฮีแลร์ นั้น เป็นเสมือนบุคคลในอาชีพเดียวกัน ที่มีบุคลิกตรงข้ามกันทุกอย่าง (อีกนัยหนึ่งคือความแตกต่างระหว่างครูสมัยก่อนและปัจจุบัน) สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ “การปฏิบัติต่อเด็ก” ฟ.ฮีแลร์นั้น จะปฏิบัติต่อเด็กทุกคนด้วยความเท่าเทียม และเห็นเป็นลูกศิษย์ที่รัก ส่วนพงศธรนั้น จะเป็นครูธรรมดากับนักเรียนทั่วไป และเป็นครูที่ใจดีโคตรๆ กับนักเรียนที่ผู้ปกครองจ่ายเงินมาเรียนพิเศษกับเขานอกรอบ แต่กลับเป็นหนุ่มเกรียนจอมแกล้งคนหนึ่งกับเด็กแถวบ้าน นั่นแสดงให้เห็นว่าเขา “ไม่ได้มีจิตใจรักเด็กอยู่ตลอดเวลา”

ในชีวิตครูฝึกสอนของพงศธรนั้น มีอยู่สามบุคคลที่มีอิทธิพลต่อเขา คือ

  1. อาจารย์ที่คอยขัดเกลากระบวนการคิด พยายามให้เขาศึกษาลึกซึ้งอย่างแท้จริง ทั้งที่เขาอาจมองว่าอาจารย์นั้น “กวนตีน” อยู่เสมอก็ตาม
  2. ฟ.ฮีแลร์ เสมือนครูคนที่สองในการทำวิทยานิพนธ์ ถึงแม้จะไม่ได้มาสอนเขาโดยตรง แต่เขาก็ได้ซึมซับข้อคิดต่างๆที่แอบแฝงจากตำราเรียนที่ท่านเคยเขียนไว้ และได้เห็นวิธีการสอน สะท้อนกลับไปยังตัวเขาเอง
  3. พี่เฟิร์น(เจ๊) ผู้หญิงเก่งและมั่น ผู้ดูแลตัวเองได้ และยังคอยช่วยเหลือเขาในบางครั้งผ่านการบอกให้ปฏิบัติ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขี้เกียจเดิมของเขา เจ๊นั้น เป็นตัวละครแฟนสาวที่แสดงถึงความห่างเหินอย่างชัดเจนได้ดี เนื่องจากเจ๊จะมาเป็นเสียงผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้น และในจุดตกต่ำสุดของชีวิตพงศธร เขาถูกทอดทิ้งโดยเพิ่งรู้ว่าเขานั้นคิดไปเองทั้งหมดว่าคบหากัน โดยที่เจ๊ไม่ได้คิดอะไรด้วยเลย (แสดงถึงความเป็นคนมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองคิดของพงศธร ที่มีมากเกินไป)

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็ยังมีจุดที่รู้สึกว่าอืดอาดยืดยาดอยู่ คือช่วงท้ายๆที่ ฟ.ฮีแลร์กลับไปยังฝรั่งเศส คอยดูอาการของทหารผ่านศึก และมีคำคม-คติสอนใจต่างๆมากมายไว้พูดกับทหารนายหนึ่งที่จิตใจมีแต่ความเคียดแค้นข้าศึก ในส่วนนี้กลับรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องลงละเอียดก็ได้ เพราะเนื้อเรื่องหลักควรอยู่ที่การสอนที่อัสสัมชัญมากกว่า จึงรู้สึกว่าค่อนข้างออกทะเล และไม่ได้มีผลเชื่อมโยงกลับมายังนักเรียนของเขาที่ประเทศไทยนัก

และยังมีบางฉากที่พยายามสอดแทรกมุขตลก แต่มันไม่ตลก(เงียบกันทั้งโรง) ที่เห็นว่าหนังสไตล์นี้ไม่จำเป็นต้องมีฉากเหล่านี้ก็ได้ เพราะมันไม่ได้ช่วยให้ผ่อนคลายขึ้น แต่กลับรู้สึกเครียดแทนผู้กำกับมากกว่า.. ฮ่าๆ

อีกฉากหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นทีเด็ดของหนังเรื่องนี้ คือฉาก “กลอนพระอาทิตย์” เป็นฉากที่ออกแบบมาได้ดี เล่าถึงความร้อนจากแสงแดดที่ทำให้คนแทบเป็นบ้า เข้ากับอารมณ์เดือดของพงศธร คลอไปกับเสียงท่องกลอนพระอาทิตย์ของอาจารย์ ทุกๆคนก็มีพฤติกรรมตามคำกลอน บอกตากผ้าคนข้างถนนก็ตากผ้า บอกจงหยุดรับฟัง พงศธรก็หยุดรถรอเด็กข้ามถนน เมื่อข้ามเสร็จเสียงอาจารย์จึงเล่าคำกลอนต่อ ฯลฯ คือเรียกได้ว่าเป็นฉากสร้างสรรค์ในหนังแบบที่หาตัวจับยาก

ท้ายเรื่อง-จบ ฟ.ฮีแลร์ใช้ชีวิตเป็นครูในประเทศไทย จนวาระสุดท้ายของชีวิต พงศธรเข้าใจถึงแก่นเรื่อง และยืนยันที่จะทำทีสิสเรื่อง ฟ.ฮีแลร์ ต่อไป เป็นการดำเนินมาเรื่องมาจนสุดทางแบบเรียบๆ ไม่หวือหวาหรือหักมุมใดๆ เพราะนั่นอาจไม่สำคัญและจำเป็นเท่ากับสิ่งที่สอดแทรกอยู่ภายในเวลาสองชั่วโมงของหนังเรื่องนี้

สรุปความ(เห็น) เป็นหนังอัตชีวประวัติที่ดำเนินเรื่องสนุกน่าติดตาม เนื่องจากมีการเปรียบเทียบตัดสลับระหว่างครูฝึกสอนธรรมดา และ ครูผู้เป็นตำนาน ไม่ต้องอัดดราม่าเยอะแต่มีสาระ และไม่ใช่หนังเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ถึงแม้ว่าตัวละครหลักจะเป็นบาทหลวงก็ตาม แต่กลับแฝงคำสอนกลางๆที่นำไปใช้ได้กับทุกศาสนา เป็นหนังคุณภาพดีที่ไม่จำเป็นต้องมีความดาร์ค อาจจะมียืดตอนท้ายไปบ้างแต่โดยรวมดูแล้วประทับใจมากครับ แนะนำเลยว่าเป็นหนังไทยเรื่องหนึ่งที่ต้องดู!

ปล.ภาพสวยสุดๆ การแต่งหน้าก็เนียนดีมาก ขนาดถ่ายมุม Close up ยังไม่ดูตลก แจ่ม!
….
“ห้ะ อะไรนะ?” “อ๋อ.. ฟ.ฮีแลร์” ตอนนี้ผมรู้จักท่านแล้ว : )

 

โดย พงษ์รักษ์ จุฬานนท์