สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ปั้นเว็บไซต์ซื้อขายสินค้าอาหารไทย www.thailandfoodmarket.com สร้างครัวไทยออนไลน์สู่ครัวโลก…ศูนย์กลาง AEC

press con4

ศูนย์อาหารอีทไทย เซ็นทรัล เอ็มบาสซี//สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวเว็บไซต์www.thailandfoodmarket.com รับนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี หวังเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าอาหารไทยผ่านระบบออนไลน์แห่งแรกในอาเซียนที่สามารถรองรับผู้ซื้อผู้ขายจากทั่วทุกมุมโลกด้วยจำนวนกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่มากที่สุด เพิ่มช่องทางการค้าใหม่ให้เอสเอ็มอี คาดเริ่มซื้อขายเต็มระบบในปลายปี 57 สร้างมูลค่าซื้อขายในโลกสมัยใหม่ ให้ทันยุคการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ตั้งเป้าปีแรกไม่ต่ำกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงอุตสาหกรรม  เดินหน้าหนุนไทยให้เป็นครัวคุณภาพของโลกตามเป้าหมายด้วยโปรเจ็คใหญ่ “ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย” หรือ “Thailand Food Heritage”

สรุปตลาดส่งออกอาหารของไทย 7 เดือนแรกปี 2557 อาเซียนนำโด่งด้วยสัดส่วน 22.54% แนะเร่งหาช่องทางใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มประเทศสู่เป้าหมายส่งออกตลาดอาเซียน 1 ล้านล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า ชี้แนวโน้มครึ่งปีหลังคาดมูลค่าส่งออกราว 481,815 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 และยังคงตัวเลขคาดการณ์ส่งออกอาหารไทยในภาพรวมปี 2557 ไว้ที่ 970,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในยุคดิจิทัลอีโคโนมี การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้ก้าวหน้า เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและคู่ค้าภายในประเทศและระดับนานาชาติ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสารสารสนเทศ และองค์ความรู้ อย่างรวดเร็ว ทันสมัย และครบวงจร ในลักษณะการใช้งานที่เป็นแบบสื่อปฏิสัมพันธ์ (Interactive Media) หรือโลกเสมือนจริง (Virtual World) ภายใต้ระบบออนไลน์ ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ที่อยู่ทั่วทุกมุมโลกได้ใช้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าอาหารไทย ก่อให้เกิดการขยายตัวทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นช่องทางการค้าใหม่สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเพิ่มมูลค่าทางการค้าของตนเองได้อย่างมีศักยภาพ

โดยก่อนหน้านี้สถาบันอาหารได้ยกระดับภารกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลกด้วยการให้บริการแบบ One Stop Services แก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอาหารทุกภาคส่วนให้สามารถเข้าถึงการบริการได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต การบริการ การวิจัย การค้า การส่งออกและการตลาดทั้งในและต่างประเทศแล้วที่ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นรูปธรรมคือการพัฒนาเว็บไซต์ระบบสารสนเทศธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ในศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะอุตสาหกรรมอาหาร เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร เป็นศูนย์กลางข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศ และความรู้ ตลอดจนกฎระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องในธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อพัฒนาเป็นตลาดเสมือนจริงที่ให้ข้อมูลสินค้าและการเจรจาธุรกิจ (Food Virtual Market)

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า “การจัดทำเว็บไซต์ www.thailandfoodmarket.com ขึ้นในครั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทย ให้เข้าถึงแหล่งซื้อขายทั่วทุกมุมโลกได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้าอาหารไทยออนไลน์แห่งแรกในอาเซียน

ที่ใหญ่ที่สุด เพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) โดยครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มทุกหมวดให้มากที่สุดและในปีแรกที่เริ่มดำเนินการนี้ คาดว่าจะเกิดมูลค่าการซื้อขายสินค้าอาหารไทยผ่านระบบออนไลน์และมีช่องทางใหม่ให้ผู้สนใจผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพของไทยได้ปรากฏในโลกดิจิทัล โดยในช่วงเริ่มต้นนี้จะมีจำนวนผู้ประกอบการนำสินค้าเข้าร่วมจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ 100 ราย ส่วนในระยะยาว คาดว่าจะมีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมมากขึ้น ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตรา100% ต่อปี โดยมีแผนจะประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศในโอกาสต่อไป

นอกจากจะมีการส่งเสริมการการจัดทำเว็บไซต์ www.thailandfoodmarket.com แล้ว สถาบันอาหารยังมีโครงการเชื่อมโยงกับกิจกรรมศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย Thailand Food Heritage ที่จะสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยให้มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นอันดับ 1 ของการเป็นครัวคุณภาพของโลกตามเป้าหมาย โดยโครงการ Thailand Food Heritage ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการสถาบันอาหารแล้วเมื่อ 11 กันยายน 2557 โดยจะเปิดตัวเป็นทางการในเดือนเมษายน 2558”

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อช่วงชิงโอกาสจากการเข้าสู่ AEC ในปี 2558 เพราะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหารของไทยใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1) อุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นและมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ทั้งนักลงทุนในและนอกภูมิภาคอาเซียน 2) อุตสาหกรรมอาหารไทยที่มีศักยภาพจะขยายการค้าการลงทุนไปสู่ประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น เพื่อเข้าถึงตลาด แหล่งวัตถุดิบ แรงงานต้นทุนต่ำ รวมทั้งสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP)ในกรณีที่ไทยไปลงทุนในกลุ่มประเทศCLMV ที่กลุ่มประเทศเหล่านี้ได้รับจากประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐฯ รวมถึงยุโรปอีกด้วย

ดังนั้น อุตสาหกรรมอาหารไทยจึงควรมีความพร้อมในด้านข้อมูล โดยการพัฒนาองค์ความรู้ในกลุ่มประเทศอาเซียน การเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุนการผลิต เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อลดต้นทุนการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พิจารณาย้ายฐานการผลิตไปประเทศในอาเซียนในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงวัตถุดิบและแรงงานต้นทุนต่ำ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคากับประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า การพัฒนาการตลาด เพื่อแสวงหาลู่ทางขยายตลาด เช่น การจับคู่ธุรกิจ สร้างเครือข่าย/พันธมิตรทางธุรกิจ สร้างตราสินค้าและขยายตราสินค้าไทยออกสู่อาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV

ทั้งนี้ในปี 2556 อาเซียนมีสัดส่วนมูลค่าการค้าอาหารในตลาดโลกอยู่ที่ร้อยละ 6.8 และคาดว่าในปี 2559 จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.3  ของมูลค่าตลาดประมาณ 827 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.7 และพบว่า อาเซียนมีบทบาทในการส่งออกอาหารสู่ตลาดโลกสูงถึงประมาณร้อยละ 9.6 ซึ่งเป็นลำดับ 3 รองจาก สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา

“เป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะขยายตลาดสินค้าอาหารเข้าสู่อาเซียนได้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 10  หรือในราว 200,000 ล้านบาท ของมูลค่านำเข้าอาหารทั้งหมดในอาเซียนที่มีอยู่ราว 2 ล้านล้านบาท หากมีเป้าหมายและแนวนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารจากทุกภาคส่วน ซึ่งสถาบันอาหารมองว่าเป้าหมายการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอาเซียนที่ร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี เป็นเป้าหมายที่   ท้าทาย โดยในปี 2020 จะมีรายได้จากการส่งออกอาหารไปอาเซียนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท จากมูลค่าตลาดอาเซียนที่คาดว่าจะสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท โดยสินค้าหลักๆ ที่ไทยส่งออกไปยังอาเซียน สามารถจำแนกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ 1)กลุ่มสินค้าเกษตรอาหาร มีสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 19 อัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7 ตลอดช่วง 10 ปีหลัง โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ ข้าว เนื้อสัตว์และสัตว์น้ำ สดและแช่เย็น 2)กลุ่มสินค้าแปรรูปขั้นต้น มีสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 34 อัตราการขยายตัวเฉลี่ย  ร้อยละ 12 ตลอดช่วง 10 ปีหลัง โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ น้ำตาลทราย แป้งและสตาร์ช และน้ำมันพืช 3) กลุ่มสินค้าพร้อมรับประทาน เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง ร้อยละ 47 และมีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 14 ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่เป็นส่งออกที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ เครื่องดื่ม ขนมปังกรอบ/เบเกอรี่ สัตว์น้ำแปรรูป ผักผลไม้แปรรูป และเครื่องปรุงรส

สำหรับมูลค่าส่งออกอาหารของไทยไปอาเซียน ช่วง 7 เดือนแรกปี 2557 มีมูลค่า 132,233.96 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปี 2556 ร้อยละ 9.61 โดยตลาดอินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วนร้อยละ 17.31 รองลงมาคือมาเลเซีย มีสัดส่วนร้อยละ 16.70 และเมียนมาร์กับเวียดนาม มีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 14,62 และ 14,38 ตามลำดับ”

นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมสถานการณ์การส่งออกอาหารของไทย 7 เดือนแรกปี 2557 มีมูลค่าส่งออกรวม 586,724 ล้านบาท  มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ร้อยละ 10.23  ปริมาณส่งออก 21.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 14.88 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญส่วนใหญ่ล้วนมีแนวโน้มดีขึ้นส่งสัญญาณเป็นบวก โดยเฉพาะจีน สหภาพยุโรป อาเซียน และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันการส่งออกอาหารไปอาเซียนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 22.54 ของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมด หรือเกือบ 1 ใน 4 ของมูลค่าส่งออก ขณะที่ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกามีความสำคัญใกล้เคียงกัน แสดงถึงการกระจายตลาดส่งออกที่มากขึ้นกว่าในอดีต

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีมูลค่า 481,815 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 และยังคงตัวเลขคาดการณ์ส่งออกอาหารไทยในภาพรวมปี 2557 ไว้ที่ 970,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 ไม่เปลี่ยนแปลงจากประมาณการในช่วงต้นปี อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกอาจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ภายในกรอบ 970,000 – 975,000 ล้านบาทได้ หากปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกคลายตัวลง ได้แก่ ผลผลิตกุ้งมีปริมาณเพิ่มขึ้น ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจโลกเติบโตต่อเนื่อง การเมืองโลกไม่มีความรุนแรงหรือขยายวงกว้างออกไปจนส่งผลกระทบต่อการค้า รวมทั้งเงินบาทไม่ผันผวนและแข็งค่าเร็วเกินไป