ศิลปินแกรมมี่ ร่วมแคมเปญ “ดินดี ชีวีมั่นคง” ส่งเสริมความรู้เรื่องดิน ให้กับเกษตรกร ประชาชนทั่วไปและคนรุ่นใหม่

ศิลปินแกรมมี่   พลพล  พลกองเส็ง ,  เปา  เปาวลี, เต๋า  ภูศิลป์ , นนน  กรภัทร์,  ตั้ม  วราวุธ  และฟรอยด์   ณัฏฐพงษ์  ร่วมถ่ายทอดสาระความรู้เรื่องพัฒนา  ปรับปรุงดิน  ในแคมเปญ “ ดินดี ชีวีมั่นคง ” เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร   ประชาชนทั่วไป   และคนรุ่นใหม่   ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องดิน   และการทำการเกษตร  สามารถนำเคล็ดลับความรู้ไปปรับใช้ให้เห็นผล   และเกิดประโยชน์    เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร  ช่วยรักษาคุณภาพของดิน  รวมถึงนำไปพัฒนาดินในพื้นที่ดินของตัวเองและชุมชนได้  โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมพัฒนาที่ดิน   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

พลพล   พลกองเส็ง  เปิดเผยว่า

“ ผมเป็นคนที่สนใจเรื่องการเกษตร  การทำไร่  ทำสวน  อยู่แล้ว   รู้สึกยินดีมากๆ ที่ได้มีโอกาสมาช่วยบอกแนะนำเคล็ดลับต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับเกษตรกรไทย   เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินให้เพียงพอ  ดีต่อดิน  ดีต่อพืช  เช่น  เราสามารถเติมอินทรียวัตถุลงไปในดินโดยตรง  ด้วยการใส่ปุ๋ยหมัก , ปุ๋ยคอก , ไถกลบพืชปุ๋ยสด  เพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ลงไปในดิน  โดยการใช้น้ำหมักชีวภาพ   หรือการปลูกแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับเกษตรกรอย่างมาก  รวมถึงคนรุ่นใหม่  ที่หันมาทำการเกษตร  สามารถนำไปปรับใช้ได้ดีเลยครับ  ”\

เปา  เปาวลี เปิดเผยว่า

“ ส่วนเปา  นำเสนอเคล็ดลับเกี่ยวกับแนวทางการทําเกษตรพื้นที่สูง  รวมถึงการจัดการดิน  เพราะที่สูงมักจะมีความลาดชัน  จึงต้องระวังการพังทลายของดิน  ดังนั้น  ควรปลูกพืชโดยใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำมาร่วมด้วย   โดยการปลูกพืชคลุมดิน  เช่น  การปลูกแถบหญ้าตามแนวระดับ  เป็นต้น  ด้วยการใช้พันธุ์หญ้าแฝกตามแนวพระราชดําริในหลวง ร.9   หากสนใจศึกษาและทดลองการทําเกษตรพื้นที่สูง  สามารถลองไปที่  โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง  ตามพระราชดําริฯ  ดอยม่อนล้าน  และโครงการพัฒนาตามพระราชดําริฯ  ในพื้นที่สูงอื่นๆ  ได้เช่นกัน  อยากทําเกษตรพื้นที่สูง  เราก็ต้องปรับตามนี้  ชีวีก็จะมีสุขนะคะ”

เต๋า  ภูศิลป์  เปิดเผยว่า

“ ผมว่าเป็นเรื่องดีมาก ๆ เลยครับ  เพราะเป็นคลิปวีดิโอที่ให้ทั้งความรู้แก่เกษตรกร  และเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนที่สนใจด้วย   เช่น  การให้ความรู้พื้นฐานเรื่อง  ดินเค็มคืออะไร  วิธีการแก้ไขทำอย่างไร  รวมถึงการให้ความรู้  เรื่องการพัฒนาการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิ  บนพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้  ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจ    พื้นที่นี้มีการพัฒนาสายพันธุ์จนได้ข้าวหอมมะลิที่มีความหอม  เกิดเป็นความภูมิใจของชาวไทยอีกด้วยครับ  ซึ่งเป็นผลประโยชน์จากการพัฒนาดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก”

นนน  กรภัทร์  เปิดเผยว่า

“ สำหรับผม นำเสนอเรื่องการสร้างรายได้จากหญ้าแฝก   ซึ่งคอนเทนต์นี้เหมาะมากๆ  กับการนำเสนอทางเลือกในการสร้างรายได้  ลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกร  และคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น   ด้วยการปลูกหญ้าแฝก  หญ้าแฝกมีประโยชน์มากมาย   นอกจากจะแก้ปัญหาต่างๆ  เกี่ยวกับดินได้ดี  ใบหญ้าแฝกสามารถนํามาสร้างรายได้  อีกหลายทาง   เช่น ใช้คลุมดินรักษาความชื้นในแปลงพืชผัก   ใช้หมักทําปุ๋ยใช้เองเพื่อลดต้นทุน   มุงหลังคาโรงนาด้วยตับแฝกก็แหวกแนวแถมทนทานอีกด้วย   และสามารถต่อยอดด้วยการนําใบมาสานทําผลิตภัณฑ์ได้มากมาย  สร้างอาชีพ  สร้างรายได้  ด้วยนะครับ”

ตั้ม  วราวุธ  เปิดเผยว่า

“ สำหรับผม  จะแนะนำวิธีการจัดการดินเปรี้ยว  ที่เกิดจากดินมีความเป็นกรดจัดมาก  ขาดความสมดุล  ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืช  โดยพื้นที่ดินเปรี้ยวส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ทํานาปลูกข้าว  วิธีแก้ดินเปรี้ยวมี  3 วิธีง่าย ๆ   คือใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด  ใช้วัสดุปูน  หรือหินปูนฝุ่น  และใช้ปุ๋ยพืชสด  ปุ๋ยอินทรีย์  เพื่อปรับปรุงบํารุงดิน โดยใช้เนื้อหาที่เข้าใจ   และทำตามได้ง่ายๆ  นอกจากจะแก้ดินเปรี้ยวแล้ว  การปรับปรุงดินยังช่วยเพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ ได้ด้วย  ดีมากๆ เลยครับ”

 

ฟรอยด์  ณัฏฐพงษ์  เปิดเผยว่า

“ สถานการณ์โควิด 19 แบบนี้ กักตัวอยู่บ้าน  ลองมาปรุงดินกันครับ  เป็นสูตรปรุงดิน  ฉบับเขาหินซ้อนฯ เพื่อปรับองค์ประกอบของดิน  ให้เอื้อต่อการเจริญเติบโตของรากพืชได้ดี  ทําง่ายเหมาะกับทุกบ้าน  สามารถปลูกพริก ปลูกผักได้  วัสดุที่ใช้  ได้แก่  แกลบแก่  ขุยมะพร้าว   ดิน มูลวัว  นําส่วนผสมทั้งหมดในอัตราส่วนที่เท่ากันมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน  รดด้วยน้ำหมักทิ้งไว้ 1-2 อาทิตย์  ก็จะได้ดินที่อุดมไปด้วยธาตุอาหาร   แถมไร้สารเคมี    เท่านี้   เราก็มีดินดีไว้ปลูกผัก  ปลูกพริกกินเองได้   ทั้งง่ายและปลอดภัย   ช่วงสถานการณ์แบบนี้   อยากเชิญชวนทุกคนหันมาพึ่งพาตนเอง   ดูแลตัวเอง   เพื่อจะผ่านพ้นวิกฤตเหล่านี้ไปด้วยกัน”

สำหรับผู้ที่สนใจคลิปวีดิโอสาระความรู้เรื่องดิน ในแคมเปญ “ ดินดี  ชีวีมั่นคง ”  สามารถติดตามชมได้ทาง YOUTUBE  กรมพัฒนาที่ดิน  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์