จากบทประพันธ์อิงประวัติศาสตร์อันเลื่องชื่อ นำมาสู่การตีความใหม่ในศาสตร์ภาพยนตร์ ที่จะสร้างความประทับใจกับตำนานความรักข้ามเชื้อชาติอีกครั้ง “คู่กรรม” ณเดชน์ คูกิมิยะ เป็น โกโบริ

จากบทประพันธ์อิงประวัติศาสตร์อันเลื่องชื่อ

นำมาสู่การตีความใหม่ในศาสตร์ภาพยนตร์

ที่จะสร้างความประทับใจกับตำนานความรักข้ามเชื้อชาติอีกครั้ง

คู่กรรม

ณเดชน์ คูกิมิยะ เป็น โกโบริ

“คุณมีเหตุผลของคุณ ผมมีหัวใจของผมก็พอแล้ว

สงครามจะเป็นอย่างไรก็คงเป็นเรื่องของสงคราม”

แม้เวลาอาจจะสายเกินไปที่จะเอ่ยคำนี้

แต่ความรู้สึกภายในนั้นไร้กาลเวลา

สัมผัสความรักท่ามกลางสงคราม

ที่จะทำให้เข้าใจคำว่า ‘รัก’ และ ‘อุปสรรค’ มากขึ้น

เปิดตำนานรักข้ามเชื้อชาติครั้งใหม่

โดย กิตติกร เลียวศิริกุล

4 เมษายน 56

 

ภาพแรกอันงดงาม 

“คุณมีเหตุผลของคุณ ผมมีหัวใจของผม”

ฝ่ายหนึ่ง…มากไปด้วยทิฐิและความเกลียดชัง

อีกฝ่ายหนึ่ง…ในความเกลียด ในความชิงชัง เขาได้ใช้ความรักเป็นเครื่องหักล้างตลอดมา และทะนงตัวพอที่จะรับความผิดหวังแต่เพียงเงียบๆ

“ชั่วชีวิตของคนเรา หากจะเลือกรักใครได้สักคน ด้วยหัวใจทั้งหมด ผมก็ได้เลือกแล้ว และถ้าผมจะต้องได้รับความทรมานเพราะรักใครสักคนหนึ่ง ผมก็ยินดี ผมรักคุณ…ถึงยังไงๆ ก็ยังรักอยู่นั่นเอง รักทั้งๆ ที่รู้ว่าคุณไม่ได้รู้สึกเช่นเดียวกับผมเลย”

กว่าจะรู้ว่าชีวิตของคนเรานั้น ไม่ได้ยืดยาวนักเลย

กว่าจะเข้าใจว่าเวลาสำหรับความรัก มักผ่านไปเร็วเสมอ

และดวงไฟแห่งรัก แท้จริงแล้วอบอุ่นในหัวใจเหลือเกิน

เวลาก็เหลือเพียงน้อยนิด ให้เราได้กระซิบความรู้สึกที่อยากเอ่ยมานาน…

“อนาตะ โอ อาอิชิ มาสุ…ผมรักคุณเสมอ”

จากบทประพันธ์ คู่กรรม โดย ทมยันตี

 คงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะถ่ายทอดเรื่องราวความรักสักเรื่องผ่านตัวอักษรให้ออกมางดงาม และตราตรึงเข้าไปในใจของผู้อ่าน เฉกเช่นเดียวกับสิ่งที่ ทมยันตี นักเขียนเจ้าของผลงานที่ครองใจแฟนๆอย่างมากมาย และ ยาวนานได้ถ่ายทอดไว้ในบทประพันธ์เรื่อง คู่กรรม ที่ได้ฉายภาพความรักอันตราตรึงของหนุ่มสาวที่ต่างเกิดมาเพื่อกันและกัน แต่กลับต้องห่างเหินกันเพียงเพราะสงคราม ซึ่งนั่นคือเสน่ห์ของการร้อยเรียงตัวอักษรให้เกิดสุนทรียะของเรื่องเล่าเมื่อมีการนำตัวอักษรเหล่านี้มาตีความและสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นภาพ ตามศาสตร์ศิลปะของภาพเคลื่อนไหว ก็จำเป็นต้องใช้สุนทรียะของภาพอีกแบบ คงจะได้เห็นกันผ่าน คู่กรรม ที่ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ละครเวที และภาพยนตร์มานับครั้งไม่ถ้วนซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการตีความที่เหมือนหรือแตกต่างกันออกไปตามทัศนะของผู้กำกับแต่ละคน และที่สำคัญทุกครั้ง ก็เป็นการทำให้บทประพันธ์เรื่องนี้มีแต่จะทรงคุณค่ายิ่งขึ้นไป

รักในความทรงจำ

ครั้งหนึ่ง…เหตุการณ์ต่อไปนี้ได้เคยเกิดขึ้นจริงๆ

ในปี พ.ศ. 2485 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มต้นขึ้น กองทัพญี่ปุ่นได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในเขตพระนครของกรุงเทพฯ เนื่องจากประเทศไทยได้เซ็นสัญญาร่วมรบกับกองทัพญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตร และประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ หากผู้ใดฝ่าฝืนจำต้องได้รับโทษ ซึ่งแน่นอนว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับกฎหมายข้อบังคับของรัฐบาล

ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2508 นักเขียนนามว่า ทมยันตี (1) ได้เดินทางไปเยือน สุสานทหารสัมพันธมิตร ดอนรัก ตั้งอยู่ริมถนนแสงชูโต จังหวัดกาญจนบุรี สุสานแห่งนี้เป็นสุสานของเชลยศึกสัมพันธมิตรที่เสียชีวิตในระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะ สุสานแห่งนี้บรรจุศพทหารเชลยศึกถึง 6,982 หลุม บรรยากาศความเงียบสงบบริเวณรอบๆ สู่สานได้ทำให้ทมยันตีจินตนาการไปถึงภาพความโหดร้ายของสงคราม ที่นำความทุกข์ใจมาสู่เหล่าทหาร ให้ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเพื่อมาทำหน้าที่ในสนามรบ กระทั่งตอนที่สิ้นลมหายใจ ร่างกายของพวกเขาก็ยังไม่ได้กลับบ้านเลย

ประกอบกับทมยันตีได้เห็นโปสการ์ดใบหนึ่งที่ผูกติดมากับช่อดอกไม้ ซึ่งวางอยู่บนหลุมฝังศพและบันทึกบทกวีบทหนึ่งไว้ มีใจความว่า

“เธอคือ…แสงสว่างแห่งชีวิตที่อุบัติขึ้น

และบัดนี้ แสงสว่างนั้นได้ดับลงแล้ว

ฝากรอบจูบและหยดน้ำตา มากับกลีบกุหลาบทุกกลีบ”

ทมยันตีจึงได้นำแรงบันดาลใจนี้ มาเนรมิตเรื่องราวความรักให้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ก่อเกิดเป็นนวนิยายเรื่องยาวที่ชื่อว่า คู่กรรม โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญว่า เมื่อเกิด ‘ความรัก’ ขึ้นท่ามกลางสงคราม ระหว่างหญิงสาวชาวไทยนามว่า อังศุมาลิน และทหารญี่ปุ่นนามว่า โกโบริ ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติและเหตุผลทางการเมือง ก็อาจผันเปลี่ยนเป็น ‘รักต้องห้าม’ ไปได้

            ผลงานวรรณกรรมเรื่อง คู่กรรม ได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารศรีสยาม (2) โดยได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้อ่าน เนื้อหาว่าด้วยความรักต้องห้ามระหว่างอังศุมาลินและโกโบริ อีกทั้งยังมีฉากหลังเป็นภาพสงครามที่อิงมาจากประวัติศาสตร์จริงๆ จึงไม่แปลกที่จะชวนให้ผู้อ่านติดตามอย่างเหนียวแน่นตลอดเวลาที่พิมพ์ในนิตยสาร ก่อนที่ในปีพ.ศ. 2512 คู่กรรม ได้รับการนำมารวมเล่มเป็นครั้งแรกและได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นกัน จนทมยันตีได้ประพันธ์ คู่กรรม 2 ซึ่งเป็นภาคต่อ ว่าด้วยเรื่องราวของลูกชายอังศุมาลินที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ โดย คู่กรรม ทั้งสองภาคได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

            ครั้งหนึ่งบทประพันธ์ คู่กรรม ก็ได้รับการตีความ เพื่อนำมาเล่าใหม่ในศาสตร์ภาพยนตร์ถึง 3 ครั้ง ในยุคสมัยที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละครั้งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

และในปี พ.ศ. 2556 เริ่มมีกระแสข่าวเป็นที่จับตามองจากทุกๆ สื่อ หลังจากมีการประกาศจากค่าย M๓๙ ว่าจะมีการสร้าง คู่กรรม ใหม่อีกครั้ง โดยมีพระเอกละครที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุด ณ เวลานี้อย่าง ณเดชน์ คูกิมิยะ (5) มารับบทเป็น โกโบริ สมทบกับนางเอกใหม่ รเณศ ดีคาบาเลส (6) สาวน้อยวัย 18 ปี เจ้าของแววตาใสซื่อ ที่มีดีกรีเป็นถึงนักกีฬาเหรียญทองแบดมินตันเยาวชนแห่งชาติ มารับบทเป็น อังศุมาลิน พร้อมด้วยการตีความจากบทประพันธ์ครั้งใหม่จากผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์ในการกำกับเฉพาะตัวอย่าง กิตติกร เลียวศิริกุล ส่งผลให้การสร้าง คู่กรรม ครั้งใหม่นี้อาจสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ให้ผู้ชมจดจำภาพตำนานรักข้ามชาติในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม

สัมผัสความรักครั้งใหม่

                บทประพันธ์ คู่กรรม ได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 3 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งการตีความจากตัวหนังสือออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวก็แตกต่างกันออกไป และครั้งนี้ทีมงานสร้างก็เลือกที่จะตีความการเล่าเรื่องเสียใหม่ ให้ไม่เหมือนการดูหนังที่ถอดมาจากบทประพันธ์ทุกรายละเอียด แต่เป็นการเล่าเรื่องใหม่โดยใช้มุมมองส่วนตัวผสมผสานกับความเข้าใจในบทประพันธ์เป็นอย่างดี เพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานภาพยนตร์ คู่กรรม ที่จะเผยแง่มุมอีกด้านของผู้กำกับเรียว กิตติกรที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

 

นิยามรักข้ามเชื้อชาติของ เรียว – กิตติกร เลียวศิริกุล

 “ผมไม่ดูหนังเวอร์ชันเก่า ก่อนจะลงมือสร้างเลย เพราะจะทำให้รู้สึกกดดันมาก”

คือประโยคแรกที่ เรียว – กิตติกร เลียวศิริกุล กล่าว เมื่อมีข่าวคราวว่า คู่กรรม จะได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้งโดยฝีมือกำกับของเขาเอง ซึ่งนั่นทำให้ใครก็ตามที่เคยสัมผัสกับบทประพันธ์เรื่องนี้มาก่อน ต่างจับตามองถึงการตีความครั้งใหม่นี้อย่างใจจดใจจ่อ

“ทำไมถึงเป็น คู่กรรม ผมว่าโครงสร้างของ คู่กรรม นั้นดีอยู่แล้ว เป็นเรื่องราวที่มีมุมหลายมุมให้เอามาทำอยู่เยอะมาก และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ผมคงไม่สามารถคิดหรือเขียนพล็อตเรื่องอะไรดีเท่านี้ได้อีกแล้ว” เขาอธิบายถึงเหตุผล ในการหยิบผลงานวรรณกรรมขึ้นหิ้งชิ้นนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ใหม่อีกครั้ง

คำถามที่ถามกันมากว่าในเมื่อการสร้างครั้งก่อนดีอยู่แล้ว จะสร้างอีกครั้งทำไม ผู้กำกับเรียวก็ให้คำตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “คนจะถามเสมอว่าของเก่ามันดีอยู่แล้วจะทำของใหม่ทำไม ผมว่ามันดีตามยุคสมัย คือให้มันเป็นไปตามยุคมากกว่า ของดีต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุค อย่างรำไทยยุคใหม่ ควรจะรำแบบประยุกต์รึเปล่า ต่างคนต่างความคิด แต่ส่วนตัวคิดว่าต้องทำ ถ้าไม่ทำมันจะหายไป คือยังไงลายเซ็นของทุกคนไม่เหมือนกัน ใครทำก็ไม่มีทางเหมือนกัน ภาวะสภาพบ้านเมือง สังคม และตัวแสดง ยังไงก็ไม่มีทางเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเราอาจจะทำง่ายกว่าด้วยซ้ำ เพราะว่ามีการบ้านที่คนอื่นทำแล้ว แต่ในอีกแง่ถ้าเราทำจากการบ้านของคนอื่นก็จะเป็นการกดดันตัวเอง เราก็ทำของเราไป”

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้กำกับหนุ่มลงมือสืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างหนักหลายเดือน เพื่อผลลัพธ์ที่จะนำมาใช้ในภาพยนตร์ ‘สมจริง’ มากที่สุด อีกทั้งสถานที่จริงและหลักฐานจริง ที่เขาต้องพิถีถันในการคัดกรองข้อมูลอย่างหนัก

“ตอนเป็นนิยายในนิตยสารรายสัปดาห์ จะมีเรื่องราวแต่งเติมต่อยอดมาเยอะ เพราะคุณทมยันตีใช้เวลาเขียนเรื่องนี้ หลายปี จึงมีความคิดเห็นและการพัฒนาของตัวละครเปลี่ยนไปตลอดเวลา และในความคิดของผม คู่กรรม เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทางด้านวรรณกรรมนะ ผมไปเจอบางคนที่มีอายุหน่อย เขาก็มาคุยกันว่าเรื่องราวของ คู่กรรม มีส่วนที่ เป็นความจริงอยู่”

“งานคู่กรรมมันเยอะ ส่วนตัวไม่รู้สึกว่างานมันยาก แต่งานมันเยอะรายละเอียดเยอะไปหมด ก็เดินหน้าทำเลย แค่บทพูดอย่างเดียวก็เหนื่อยแล้ว พูดญี่ปุ่นเป็นไทย พูดไทยเป็นญี่ปุ่น แล้วถ้าพูดญี่ปุ่นกับญี่ปุ่น คนไทยจะรู้เรื่องไหม ก็เลือกให้ผู้หญิงต้องพูดญี่ปุ่น พูดอังกฤษ พูดเยอรมัน ญี่ปุ่นสำเนียงไทย ญี่กับญี่ปุ่น สำเนียงไหน ภาษาไทยย้อนยุคหรือไม่ย้อนยุค 

 เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย โลเกชั่น บทภาพยนตร์ บทถ่ายทำ แล้วจะเล่นกันอย่างไร ที่สำคัญจะเล่นเป็นแบบไหน เรื่องนี้หนักที่งานสร้างตัวละคร กว่าจะสร้างให้เป็นตัวละคร โกโบริ – อังศุมาลิน ผมใช้เวลาไปกับการสร้างตัวละครเยอะ ซ้อมเยอะ ใช้เวลากับช่วงพรีโพลเยอะ มีเรื่องที่ต้องตัดสินใจเยอะ ช่วงถ่ายนิดเดียวแต่งานก่อนถ่ายเยอะมาก เช่นตกลงจะมีไฟฟ้าไหม จะนอนมุ้งหรือไม่นอนมุ้ง มียุงหรือไม่มี   ยุ่งนะเรื่องการสร้างความเชื่อเรื่องตัวละคร สร้างบรรยากาศ รีเสิร์ชข้อมูลจริงที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นสงคราม การเดินทาง จำนวนผู้คน รายละเอียนดมันเยอะ ซึ่งทั้งหมดก็ต้องรีเสิร์ชเอง เพราะใช้ใครก็ไม่มันต้องทำเอาถึงจะเข้าถึงข้อมูลที่เราอยากได้ “ไ

แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังไม่ทิ้งเสน่ห์ของความเป็น ‘หนังรักวัยรุ่น’ ซึ่งถอดใจความสำคัญมาจากนิยายในมุมมองของเขาเอง ก่อนจะเกิดเป็นคำถามว่า บุคลิกการกำกับหนังมาก่อนหน้าทุกเรื่องในนาม เรียว กิตติกร อย่าง เราสองสามคน, โกลด์คลับ เกมล้มโต๊ะ หรือแม้กระทั่ง เมล์นรก หมวยยกล้อ ทำให้เกิดคำถามว่าเขาจะสรรสร้าง คู่กรรม ออกมาเป็นอย่างไร

“ผมมองว่าญี่ปุ่นในสมัยนั้นเป็นเพื่่อนบ้านที่กำลังมีเรื่องเท่านั้น ไม่ได้เป็นศัตรูกับเรา ผมไม่อยากไปรื้อประเด็นในเรื่องประวัติศาสตร์ขึ้นมา เพียงแต่คิดว่า คนไทยเราในสมัยนั้นรักกันกับญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำ”

การตีความโดยอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ในมุมมองของเรียว จึงไม่ใช่การเน้นภาพของสงครามหรือความขัดแย้ง แต่ภาพที่เขาอยากให้คนดูได้เห็นคือ ‘ความรัก’ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงคราม โดยมีอุปสรรคจากเชื้อชาติและเหตุผลทางการเมือง

“คู่กรรม ของผมเป็นหนังรักวัยรุ่น ดังนั้นจะไม่มีอะไรที่เยิ่นเย้อยืดยาดแน่นอน โกโบริเจอกับอังศุมาลินก็จีบกันเลย งอนกันง้อกันเลย” ผู้กำกับเน้นย้ำให้เห็นภาพในหนังได้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นภาพจำที่คนดูเคยเห็นในความเป็น คู่กรรม จะไม่มีทางได้เห็นเลยในฉบับของเขา “ผมอยากให้คนดูได้เห็นถึงสังคมวัยรุ่นสมัยก่อน ว่าเขาเปรี้ยวกว่า กล้ากว่า เด็กสมัยนี้อีก ผมจะให้โกโบริและอังศุมาลินเป็นตัวบอกว่า วัยรุ่นในอดีตเขารักอย่างไร”

บางทีนี่อาจจะเป็นเพียงถ้อยคำเล็กๆ ที่ออกมาจากปากของผู้กำกับนามว่า เรียว – กิตติกร เลียวศิริกุล แต่กลับทำให้คนดูรู้สึกกับหนังเรื่อง คู่กรรม ในมุมมองที่ต่างไปจากเดิม

 

เอมี่ – จันทิมา เลียวศิริกุล กับการตัดสินใจสร้าง คู่กรรม ครั้งใหม่

“ตอนที่คุณเรียวชวนคุยเรื่องนี้ เขาตั้งโจทย์ว่าจะขยับมาตรฐานการทำงานของทีมงานทั้งหมดของเรา ทั้งเรื่องของการตีความตัวละคร นักแสดง ไปจนถึงแบ็คกราวด์ของหนัง” เอมี่ – จันทิมา เลียวศิริกุล โปรดิวเซอร์และผู้บริหารค่าย M๓๙ เริ่มต้นเล่าถึงการทำงานกับเรียว

เพียงแค่จุดเริ่มต้น ที่ว่าจะขยับมาตรฐานทีมงานสร้างของ M๓๙ ก็ทำให้แฟนๆ หนังไทยหลายคนเกิดความสนใจขึ้นมาทันที

“วิธีคิดการกำกับหนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบคุณเรียว บวกกับคำว่าวรรณกรรม คู่กรรม ที่มีความเป็นอมตะของนิยายรัก ทำให้เกิดการผสมผสาน และ อาจได้หนังอีกคาแรกเตอร์ของคุณเรียวที่น่าสนใจขึ้นมาใหม่ก็ได้ เขาอยากให้คู่กรรมเป็นหนังวัยรุ่น แต่พอมีความเป็นพีเรียดของ คู่กรรม อยู่ มันน่าจะกลายเป็นส่วนผสมที่ทำให้เกิดหนังรักมุมมองใหม่ขึ้นมา

เธอนิยามถึงความเป็น เรียว กิตติกร ที่รู้จัก ซึ่งสร้างชื่อในเรื่องการกำกับหนังที่มีเอกลักษณ์ความเป็นตัวเองอยู่สูง ทว่าความเป็น คู่กรรม กลับทำให้สิ่งที่เกิดขึ้น กลายเป็นความน่าสนใจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ประกอบกับประสบการณ์ในการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของ ท่านมุ้ย – หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ในกองถ่าย ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ทำให้เรียวเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการกำกับภาพยนตร์มาเต็มเปี่ยม

และอีกหนึ่งเหตุผลที่โปรดิวเซอร์สาวตัดสินใจสร้าง คู่กรรม ขึ้นมาอีกครั้ง ก็เพื่อตอบคำถามบางอย่าง

“เหตุผลที่ทำ คู่กรรม เพราะอยากรู้ว่าถ้าเราขยับทำหนังสเกลใหญ่ขึ้น เราก็ต้องขยับมาตรฐานการลงทุนให้ใหญ่ตามสเกล มันจะต้องใช้งบประมาณเท่าไร ซึ่งเรามองว่า คู่กรรม จะเป็นตัวตอบโจทย์ที่ดีอย่างยิ่ง” เอมี่กล่าวจริงจัง ก่อนจะเสริมสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่า “เราตั้งคำถามว่า ถ้าคนดูสมัยนี้ต้องการความคุ้ม การที่เขาไม่มาโรงภาพยนตร์เพราะเขามองว่าหนังไทยดูแล้วไม่คุ้มเท่าหนังฝรั่ง ยอดผู้ชมมันก็ลดลง ถ้าจะทำให้คนดูเพิ่มเพราะรู้สึกว่าคุ้ม  งบประมาณมันควรอยู่ที่เท่าไร หากเศรษฐกิจขาลง เราก็จะต้อลงทุนสวนกระแสขึ้นมากแค่ไหน และจะได้รู้ทิศทางว่าเราจะพาหนังเราไปไหน ถ้าเราได้คำตอบตรงนี้ การลงทุนใน คู่กรรม นี่ถือว่าคุ้มมาก”

คำตอบที่ได้จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป

 

ภายในใจของกันและกัน           

 

ทุกครั้งที่มีการสร้าง คู่กรรม ขึ้นใหม่ครั้งใด ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย นักแสดงผู้ที่มารับบทนำ จะต้องถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ และครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งการที่นักแสดงจะทำให้คนดูเชื่อว่าพวกเขาคือตัวละครที่ออกมาจากวรรณกรรมจริงๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การคัดเลือกนักแสดงที่มีคุณภาพจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

            และต่อไปนี้คือความรู้สึกของนักแสดงที่มีต่อบทบาทของพวกเขา

 

ณเดชน์ คูกิมิยะ เป็น โกโบริ

            เมื่อข่าวการสร้างภาพยนตร์ “คู่กรรม” ของ M๓๙ แพร่สะพัดออกไป พร้อมกับการควานหาตัวผู้ที่จะมารับบทสำคัญยิ่งยวดของเรื่องคือ “โกโบริ” ทุกเสียงที่ตอบกลับเข้ามาล้วนชี้ชัดเป็นเสียงเดียวกันว่านักแสดงที่เหมาะสมกับบท     “โกโบริ” มากที่สุด ณ เวลานี้ คือ ณเดชน์ คูกิมิยะ นักแสดงหนุ่มที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเขาคือ “ซูเปอร์สตาร์” ที่มีแฟนๆให้ความสนใจติดตามผลงานมากที่สุดของประเทศ

            ผมรู้สึกไม่กล้า ตื่นเต้น หวั่นๆ กลัวๆ เพราะ ด้วยคำว่า คู่กรรม และ ความเป็นหนังเรื่องแรกของผมด้วยทำให้ผม รู้สึกว่า เราจะทำมันได้ดีขนาดไหน มันจะเป็นแบบไหน มันจะเป็นอย่างไร เราจะทำได้ดีแบบถูกใจคนดูหรือเปล่า ” นักแสดงหนุ่มเอ่ยถึงความรู้สึกที่ได้รับบทนี้ในการแสดงภาพยนตร์ครั้งแรก

และการร่วมงานกันเป็นครั้งแรกกับผู้กำกับ “ พี่เรียวใจเย็นมาก จะกี่เทคก็ช่างขอให้เอาดีๆไว้ก่อน แต่ไม่ให้นักแสดงช้ำ และผมเพิ่งมารู้ว่าพี่เรียวกำกับโกล์ดคลับ ผมเป็นแฟนโกล์ดคลับ วัยรุ่นทุกคนรู้จักโกล์ดคลับ แล้วพอมารู้ว่าพี่เรียวกำกับ คู่กรรม ก็เลยดีใจมาก พี่เรียวมีมุมที่แปลกน่าสนใจ ผมอยากรู้มาก..ว่า อะไรคือ “คู่กรรม” ในสายตาพี่เรียว

ตามการตีความของผู้กำกับ โกโบริคือทหารวัยรุ่นที่อยู่ในกฎระเบียบ มีความยึดมั่นถือมั่นต่อหน้าที่ และที่สำคัญคือมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในความรัก

 “ตามคาแรกเตอร์แล้ว โกโบริเป็นวัยรุ่น เป็นหลานนายพล ผมรู้สึกว่าเขาไม่ได้มีความเป็นทหารเมื่อเจออังศุมาลินเลย เป็นคนไม่ท้อถอยต่อเรื่องใดทั้งปวง แต่ก็เป็นคนที่น่าสงสาร ขี้น้อยใจ ดื้อด้าน ตลก และมีความมั่นคงในความรักมาก” ณเดชน์ตีความบทโกโบริในแบบที่เขารู้สึก ซึ่งตรงกับสิ่งที่เรียวต้องการแทบทุกอย่าง “โกโบริเป็นแบบวัยรุ่นที่ห่างบ้านมาไกลมาก ทำให้ไม่ได้เจอผู้หญิงญี่ปุ่นเลย พอเจอผู้หญิงไทยและเป็นผู้หญิงคนเดียวที่บ้ากับการกล้าเข้ามาอู่ต่อเรือคนเดียว และยังกล้ามาต่อปากต่อคำกับทหารญี่ปุ่นอีก ก็เลยทำให้เขาหลงรัก

การสวมบทบาทเป็นนายทหารหนุ่มที่ต้องจากบ้านเกิดมาไกล ทำให้ณเดชน์ต้องทำการบ้านหนักพอสมควร แม้จะเคยผ่านงานแสดงมามากแล้วก็ตาม เพราะด้วยการเล่าเรื่องในแบบฉบับของผู้กำกับเรียว จะให้น้ำหนักกับตัวละคร      โกโบริมากกว่าอังศุมาลิน ตรงข้ามกับต้นฉบับบทประพันธ์ที่ใช้การเล่าเรื่องจากอังศุมาลินเป็นหลัก

ความน่าสนใจที่เกิดขึ้นใน คู่กรรม ฉบับนี้ คือคนดูจะได้เห็นณเดชน์ถ่ายทอดความรู้สึกของโกโบริออกมาอย่างหมดเปลือกแน่นอน   

 

อรเณศ ดีคาบาเลส เป็น อังศุมาลิน

ด้วยความที่ผู้กำกับได้วางภาพรวมของ คู่กรรม เป็นหนังรักวัยรุ่น คาร์แรกเตอร์ของตัวละครนำอย่าง โกโบริ และอังศุมาลิน จึงมีอายุน้อย คือประมาณ 19 – 20 ปีเท่านั้น ผู้ที่มารับบท อังศุมาลิน จึงเป็นนางเอกใหม่หน้าใสอย่าง ริชชี่ – รเณศ ดีคาบาเลส มารับบท ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงแชมป์แบดมินตันเหรียญทองกีฬาเขต เลยทีเดียว

อังศุมาลินมีหลายบุคลิกมาก มุมหนึ่งก็เป็นคนแข็งๆ ที่เจอโกโบริเมื่อไ เป็นต้องวางมาด อาจเพราะมีปัญหาอะไรหลายอย่างทั้งเรื่องครอบครัวและเรื่องการเมือง พออยู่กับวนัสก็เป็นอีกอย่าง รู้สึกว่าเขาเป็นคนสับสน โกโบริก็รักเขา แต่ก็ต้องทำเป็นไม่รักเพราะเขาเป็นคนญี่ปุ่น ริชชี่อธิบายถึงความเป็นอังศุมาลินในแบบที่เธอเข้าใจ

แม้อายุของเธอจะยังน้อยเมื่อเทียบกับนักแสดงคนอื่นๆ และยังเป็นนักแสดงหน้าใหม่ แต่ก็เป็นสิ่งที่เรียวต้องการนั่นคือความไร้เดียงสาของตัวละครตัวนี้

“ ตอนที่เจอพี่เรียวครั้งแรก พี่เรียวก็บอกว่าเรื่องนี้ ถ้ารับบทเป็นอังศุมาลิน จะต้อง เหยียบโคลน แต่พี่เรียวไม่ได้พูดถึงเรื่องว่าว่ายน้ำ เพราะหนูบอกพี่เรียวว่าหนูเป็นนักกีฬา พี่เรียวก็เข้าใจว่านักกีฬาต้องว่ายน้ำเป็น พายเรือ หนูก็บอกว่าพายเรือได้ เพราะน้ำท่วมที่เชียงใหม่หนูก็ไปพายเรือช่วยแจกของ และ ถามว่าหนูจะต้องโดนขี้โคลนหนูจะทนได้ไหม หนูก็บอกว่าได้ค่ะ เพราะบ้านหนูทำไร่ชา เวลาขึ้นดอย ขึ้นน้ำตกก็ต้องมีเหยียบโคลนแฉะๆ พอมาเวิร์คช็อบพี่เรียวถึงได้รู้ว่า อ้าว หนูว่ายน้ำไม่เป็นเหรอ หนุก็บอกว่า หนูว่ายน้ำไม่เป็นค่ะ ก็ตอนนั้นพี่เรียวไม่ได้ถามว่าหนูว่ายน้ำเป็นไหม” (หัวเราะ)

ตอนด็กๆ ได้ดูละคร คู่กรรม กับพี่สาว ตอนแรกแย่งกันเป็นอังศุมาลิน แต่พอดูต่อไปก็พากันร้องไห้สงสารโกโบริ ไม่อยากเป็นอังศุมาลินแล้ว รู้สึกว่านิสัยไม่ดี โกโบริพูดดีด้วยก็ไม่พูด พอรู้ตัวว่าต้องมาเล่นเป็น อังศุมาลิน ยังบอกคุณแม่เลยว่า แย่แล้ว ต้องมีคนเกลียดเราแน่ๆ เลย ริชชี่กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การแสดงก็คือการแสดง นักแสดงสาวก็ทุ่มเทเกินร้อยจนทำให้ทุกคนในกองถ่ายเชื่อว่า เธอคือ อังศุมาลิน ในยุค2013จริงๆ

 

นิธิศ วรายานนท์ เป็น วนัส

                เรียกได้ว่าเป็นการพลิกบทบาทอีกครั้งของหนุ่มเซอร์ โบท – นิธิศ วารายานนท์ หรือ โบท The Yers คนนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับบทเป็นรุ่นน้องที่แอบรักรุ่นพี่ใน 30 กำลังแจ๋ว หนังรักคอเมดี้ แต่การกลับมารับงานแสดงอีกครั้งเขากลับได้รับบทบาทที่หนักขึ้น กับบท วนัส หนุ่มเสรีไทยหัวนอก ผู้ที่เป็นอีกหนึ่งตัวแปรอยู่เบื้องหลังความรักต้องห้ามระหว่างโกโบริและอังศุมาลิน    

“แม้ผมจะเคยเล่นหนังมาแล้ว แต่การแสดงของผมใน คู่กรรม เหมือนเริ่มเรียนอนุบาลใหม่ เพราะผมไม่รู้จักเรื่องนี้มาก่อน เคยได้ยินแต่ชื่อคร่าวๆ ว่ามีโกโบริกับอังศุมาลิน” โบ๊ทออกตัวแบบเขินๆ

และด้วยความเป็นนักดนตรีหนุ่มเซอร์ที่รักและหวงแหนการไว้ผมยาว เกือบทำให้เขาพลาดการรับบทนี้แล้ว

“ผมติดภาพของวนัสในเวอร์ชั่นที่ผ่านๆมาว่า จะต้องเป็นแบบตัดผมสั้น ประมาณทหารเป๊ะ ผมก็ไม่เอาเลย แต่ พอได้มาคุยกับพี่เรียว ได้จูนกันว่า พี่เรียวมองวนัสแบบไหน ผมกับวนัสจะจูนกันลงตัวอย่างไร กลายเป็นว่าผมชอบมาก พี่เรียวมองขาดมาก   ”

แม้บทวนัสจะมีไม่มาก แต่ก็ถือเป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง ผู้เป็นรักแรกของอังศุมาลิน ศิลปินหนุ่มในมาดนักแสดงต้องศึกษาถึงความเป็นนักปฏิวัติที่รักชาติอยู่พอสมควร “บทไม่เยอะ แต่ต้องเล่นให้เปรี้ยง เป็นบทที่ดราม่าจัดมาก พี่เรียวให้โจทย์ผมไปศึกษาดูอินเนอร์และแววตาของนักปฏิวัติอย่าง เช กูวารา (7) เวลาที่เขากำลังคิดสีหน้าแววตาจะมีพลังยิ่งใหญ่มาก พี่เรียวจะบอกตลอดว่าวนัสคิดอะไรอยู่ คือจะใส่รายละเอียดที่เคลียร์มาก ทุกไดอาล็อกที่ต้องพูดออกไปมันเป็นแบบนี้จริงๆ”

ทุกครั้งที่มีการสร้าง คู่กรรม บท วนัส มักจะเป็นที่กล่าวถึงเสมอรองจากคู่พระนาง และครั้งนี้ก็จะเป็นอีกครั้งของบทบาทนี้เช่นกัน

 

กุลพงศ์ บุนนาค เป็น เรือโทหลวงชลาสินธุราช

  “ลูกสาวรู้ว่าได้มาเล่นกับณเดชน์ เลยบังคับบอกว่าถ้าไม่เล่น จะไม่รักพ่อแล้ว บทที่ได้รับ ไม่ได้มีบทพูดมากนัก เพราะยอมรับว่ากลัวจำไม่ได้ แต่พอได้มาร่วมงานแล้วก็รู้สึกประทับใจมาก ได้เห็นการทำงานที่ละเอียดมากของผู้กำกับ ทำให้เราได้รู้ว่า การถ่ายทำภาพยนตร์มันเป็นแบบนี้นี่เอง ยอมรับว่าติดใจ สนุกกับการอยู่กองถ่ายและทำให้ได้ความรู้มากมาย ผมโชคดีที่เล่นเรื่องแรกก็ได้ทำงานกับผู้กำกับอย่างเรียว”

 

เมรีนา มุ่งศิริ เป็น แม่อร

“การแสดงหนังเป็นอีกหนึ่งฝันที่อยากลองทำดู เคยดู คู่กรรม ตอนที่เป็นละครพี่เบิร์ดกับกวางเล่น ร้องไห้นานมาก พอได้มาเล่นเอง รู้สึกทุกอย่างไม่ง่าย พอแคสผ่าน ก็ต้องไปเรียนการแสดง พี่เรียวก็ให้โจทย์มาลองทำดู ขนาดลองชุดยังเหนื่อยเลย แม้บทจะไม่เยอะ แต่ก็ดีใจที่ได้มาร่วมงานด้วย ประทับใจมาก”

 

สุรชัย จันทิมาธร เป็น ตาผล

 

            “ส่วนตัวไม่เคยอ่านหรือดู คู่กรรม มาก่อนเลย แค่ผ่านหูผ่านตา พอได้มาทำความรู้จักจากการแสดงเรื่องนี้ ผมรู้สึกว่า คู่กรรม เป็นงานเชิงวรรณกรรมสวยงาม เป็นโศกนาฏกรรมของคนรักชาติ และมีสถานะของประวัติศาสตร์เข้ามาด้วย ในเรื่องการทำงาน ผมว่าเรียวเขามีมุมมองการกำกับที่น่าสนใจ โมเดิร์นมาก เล่าเรื่องด้วยภาพ ไม่ต้องพูดมาก เขาบอกให้ผมเล่นเป็นตัวเอง” 

มงคล อุทก เป็น ตาบัว

“ผมมามารับเชิญในบทเล็กๆ ใน คู่กรรม ซึ่งมีเรื่องของเสรีไทยเข้ามาด้วย ตาผลตาบัวเขาก็คล้ายๆ กัยเสรีไทยนะ เราไม่เคยอ่านหนังสือหรือดูหนังมาก่อน แต่ก็เข้าใจความเป็นเสรีไทยอยู่ เล่นหนังเรื่องนี้ที่ดีใจคือได้มาเจอณเดชน์ เขาเรียกเรากับพี่หงาว่าพ่อ รู้สึกว่าแค่ได้เล่นกับณเดชน์ก็สุดยอดแล้ว เวลามองตาเขานี่มีพลังมาก และเป็นเด็กที่มีอัธยาศัยดีมาก ส่วนการทำงานกับเรียว เขาเป็นคนที่ละเอียดมาก แม้บทผมจะไม่มาก แต่เขาก็เก็บทุกรายละเอียดจริงๆ

 

เบื้องหลังรักเรา

            ด้วยความที่ คู่กรรม เป็นหนังย้อนยุค โดยมีฉากหลังเป็นกรุงเทพฯ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในงานด้านโปรดักชันจึงต้องอาศัยทีมงานคุณภาพที่เข้าใจในบทประพันธ์ อีกทั้งยังต้องอ้างอิงประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง ทีมงานทุกคนจึงต้องทำงานหนักเป็นพิเศษใส่ใจในทุกรายละเอียด และต้องใช้เวลาในการเตรียมงานสร้างที่มากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ เพื่อให้ผลงานออกมาดีและถูกต้องสมจริงที่สุด

เพื่อนำคนดูไปสู่ คู่กรรม ที่ถ่ายทอดตำนานความรักข้ามเชื้อชาติอันสวยงามราวกับเกิดขึ้นจริง

 

สิ่งเล็กน้อยที่ไม่อาจมองข้าม (Research)

“เราพยายามทำให้คนดูทั้งกลุ่มที่รู้ประวัติศาสตร์และไม่รู้ประวัติศาสตร์เห็นว่าเราทำการบ้านกันมาพอสมควร โจทย์ของพี่เรียวคือหนังวัยรุ่นจีบกัน ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรมาก แต่มันยิ่งในบรรยากาศที่สำคัญของประวัติศาสตร์” ชาญศักดิ์ ลีลาเกษมสันต์ ฝ่ายข้อมูล เอ่ยถึงโจทย์ของหนังที่เขาได้รับมาจากผู้กำกับ

ด้วยความที่เป็นหนังอิงประวัติศาสตร์ รายละเอียดของสถานที่และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจึงมีส่วนสำคัญอย่างมาก การอ้างอิงจึงผิดไม่ได้แม้แต่นิดเดียว ฝ่ายข้อมูลจึงต้องทำงานหนักในการหาข้อมูลทั้งหมดกว่า 6 เดือนเลยทีเดียว

“วรรณกรรมเรื่องนี้อิงประวัติศาสตร์ เราจึงต้องเอาประวัติศาสตร์เป็นตัวตั้ง ดูว่าความเป็นจริงเกิดอะไรขึ้นบ้าง ต้องยืนยันความเป็นจริงมาก่อน ส่วนจะมาดัดแปลงในหนังยังไงค่อยว่ากันทีหลัง จะไม่อิงตามวรรณกรรม จึงมีการจัดไทม์ไลน์ของประวัติศาสตร์จริงและไทม์ไลน์ของวรรณกรรม”

“ผมเป็นลูกมือพี่เรียวในการพัฒนาบท ผมกับพี่เรียวก็ปูพื้นเรื่องสงครามในยุคนั้นจากบางโปรเจกต์ ด้วยข้อมูลที่สะสมกันมา มันเป็นข้อได้เปรียบของทีม แม้เราไม่สามารถทำตามที่เรารีเสิร์ชได้หมด แต่เราก็ทำได้ใกล้มาก เราไปคุยเรื่องลิขสิทธิ์จากคุณทมยันตีมาเสร็จแล้ว จึงหาข้อมูลเชิงลึกและมาวิเคราะห์ตัวละครว่ามันจะออกมาแบบไหน มีความคิดอย่างไรในแต่ละซีน”

แน่นอนว่าลำพังเพียงแค่วรรณกรรมที่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือเพียงไม่กี่ร้อยหน้า นั้นไม่สามารถทำให้ผู้สร้างสามารถวิเคราะห์แนวคิดของตัวละครออกมาได้หมด จึงต้องอาศัยการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและสิ่งที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการลงพื้นที่บางกอกน้อยเพื่อหาข้อมูลจริง เพื่อสร้างตัวละครที่มีชีวิตในโลกของภาพยนตร์ได้อย่างมีมิติ

“มีการลงพื้นที่ที่บางกอกน้อย ไปสัมภาษณ์คนในพื้นที่จริงๆ เพื่อดูว่าสถานีรถไฟเป็นยังไง ค่ายทหารญี่ปุ่นเป็นยังไง แต่ก็จะไม่เชื่อหมด เพราะจะเอามาเป็นแค่องค์ประกอบความรู้ เพื่อเอามาดัดแปลงให้เหมาะสมกับหนัง ซึ่งต้องรู้ข้อมูลให้หมดก่อน ต้องเอาความจริงมาดีไซน์ เพื่อดูว่าทิศทางของแต่ละซีนเป็นยังไง”

จึงเป็นโจทย์ยากของฝ่ายข้อมูลที่ต้องนำความจริงมาตีความให้เหมาะสมกับการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งอาจเกิดข้อถกเถียงในหมู่คนดูแน่นอน อย่างไรก็ตามก็จำเป็นต้องมีเหตุผลมารองรับ โดยเฉพาะข้อถกเถียงที่ว่า โกโบริ ในฉบับนี้เป็นทหารบก แทนที่จะเป็นทหารเรืออย่างฉบับก่อนๆ

“จากข้อมูลรีเสิร์ชมา ในกรุงเทพฯ ไม่มีทหารเรือญี่ปุ่น ซึ่งพวกเขาจะไปขึ้นบกที่กาญจนบุรีทันที ไม่เข้ามาที่กรุงเทพฯ แต่วรรณกรรมจะบอกว่าเป็นทหารเรือ ซึ่งทหารที่จะมาอยู่ที่บางกอกน้อยได้ต้องเป็นทหารบกเท่านั้น เราจึงเอาความเป็นจริงมาก่อน เรื่องนี้ก็มีการคุยกับคุณทมยันตีแล้ว”

ฝ่ายข้อมูลยังต้องทำการบ้านหนักในเรื่องของความคุ้นชินของคนดู ที่ติดภาพมาจากภาพยนตร์ฉบับก่อนๆ อีกหลายต่อหลายฉาก เรื่องการมีไฟฟ้าใช้ภายในเรื่องก็เป็นเรื่องประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายข้อมูลต้องหาหลักฐานมาอธิบาย

คู่กรรม ทุกเวอร์ชันจะไม่มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งจริงๆ จะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ เพราะบางกอกน้อยยุคนั้นเจริญ กรุงเทพฯ มีไฟฟ้าใช้ตั้งแต่สมัย ร.5 มีการเชื่อมต่อไฟฟ้าจากฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีแล้ว ซึ่งในความเป็นภาพยนตร์ ถ้าไม่มีแสงสว่างจากไฟฟ้าเราจะแต่งแสงให้ตัวละครไม่ได้ เพราะทำให้แสงตะเกียงสว่างหมดไม่ได้ ภาพจะไม่สมจริง เราต้องหาเหตุผลมารองรับ”

นอกจากในเรื่องของโปรดักชัjนต่างๆ ที่ต้องสมจริงแล้ว เรื่องตัวละครก็เป็นส่วนที่ผู้กำกับให้ความสำคัญอย่างมาก ฝ่ายข้อมูลยังต้องศึกษาความรู้สึกของตัวละครอีกด้วย การแสดงของนักแสดงในเรื่องจึงจะออกมาอย่างมีมิติ “เราอ่านวรรณกรรมแล้วก็มาคิดว่า ถ้าเกิดเราเป็นตัวละครนี้แล้วเราจะคิดอย่างไร โกโบริคิดอย่างไร อังศุมาลินคิดอย่างไร คือสร้างตัวละครให้มีชีวิตจริงๆ เวลาอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ เขาจะคิดอย่างไร ทำอย่างไร และเพื่ออะไร”

ที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดของการตีความของผู้กำกับ “เรียว กิตติกร”  จากวรรณกรรมใน คู่กรรม ฉบับนี้ คือโกโบริและอังศุมาลินมีอายุน้อยมากกว่าหนังฉบับอื่นๆ ที่ผ่านมา โดยอ้างอิงจากความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ ว่าทหารญี่ปุ่นที่ถูกส่งมาในยุคนั้นส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงวัยรุ่นตอนต้นเท่านั้น รวมไปถึงความเป็นนักศึกษาของอังศุมาลินก็คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงวัยที่อายุยังไม่มากนัก

“ผมชอบนักแสดงทั้งคู่มาก เป็นโจทย์ที่ทีมรีเสิร์ช ร่วมถกกับพี่เรียว มาตั้งแต่เริ่มงานกันแล้วว่าทหารที่ถูกเกณฑ์มาเนี่ย ต้องเป็นเด็กวัยรุ่นทั้งหมดนะ แต่ คู่กรรม ที่ทำมาทุกครั้ง เขาพยายามที่ทำให้เป็นคนที่มีอายุ มีประสบการณ์เสียส่วนใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้ว พี่เรียว ตีความว่า มันน่าจะเป็นเด็กที่เพิ่งออกมาจากบ้านเป็นครั้งแรก มาต่างประเทศครั้งแรก อย่างอังศุมาลินก็เรียนอยู่มหาวิทยาลัยนะ วัยรุ่นทุกยุคทุกสมัยจะมีมุมมมองที่ใกล้เคียงกัน ไม่น่าจะรู้จักโลกเยอะ” ชาญศักดิ์ให้ความเห็น “คู่กรรม ฉบับนี้น่าสนใจมากๆ แน่นอน คุณจะไม่เคยเห็นอังศุมาลินที่เป็นวัยรุ่น และคุณจะไม่เคยเห็นโกโบริที่แฝงความเป็นอาร์ตติสต์อยู่”

การที่ตัวละครอย่างโกโบริและอังศุมาลินจะมีภาพลักษณ์ที่ดูเด็กลง จึงช่วยขับความเป็นหนังรักวัยรุ่นได้มากขึ้น ถือเป็นรสชาติใหม่ที่คนดูจะได้สัมผัสจาก คู่กรรม ฉบับนี้

 

สิ่งที่ดวงตาเห็น แต่ใจรู้สึกได้ (Production Design)

“พี่เรียวจะให้โจทย์ว่า คู่กรรม ฉบับนี้คือ หนังแฟชั่นสงคราม ไม่ใช่หนังมหากาพย์” บุญชัย อภินทนาพงศ์ ผู้ออกแบบงานสร้างกล่าวที่โจทย์ที่ได้รับจากผู้กำกับเรียว

“ส่วนตัวผมเป็นคนที่ชอบเรื่อง คู่กรรม อยู่แล้ว พอได้มาเจอทัศนะคติในการมองในแบบของพี่เรียว รู้สึกว่าน่าสนใจมาก มันเข้าถึงความเป็นมนุษย์ในตัวละครมากขึ้น”

ด้วยความที่เป็นหนังย้อนยุค การออกแบบงานสร้างทั้งหมดจึงต้องอาศัยความเข้าใจในเรื่องประวัติศาสตร์มากพอสมควร

“พี่เรียวเขาไปเทียบประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและญี่ปุ่นในช่วงสงครามว่า เป็นแบบผัวเมียกัน เดี๋ยวก็รักกัน เดี๋ยวก็เกลียดกัน ทำสงครามกัน แล้วก็กลับมารักกันใหม่ เขาจึงก็เอาตัวพระเอกนางเอกมาเป็นตัวแทนของประเทศ อังศุมาลินคือตัวแทนประเทศไทย โกโบริคือตัวแทนประเทศญี่ปุ่น ที่บางทีโกรธกันทะเลาะกันงอนกัน แต่ความจริงแล้วคนไทยกับญี่ปุ่นนั้นรักกัน”

 

โดยแนวคิดในการออกแบบฉากแต่ละฉากก็ต้องออกแบบให้ใกล้เคียงกับประวัติศาสตร์มากที่สุด อย่างเช่นบ้านริมน้ำของอังศุมาลินก็เป็นโจทย์ตั้งแต่แรก ที่ต้องไม่ใช่บ้านเรือนไทย เพราะคนทั่วไปมักเข้าใจว่ากรุงเทพฯในยุคนั้นมีแต่บ้านเรือนไทย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6-7 บ้านสมัยนิยมจะเป็นแบบเรือนปั้นหยา ไม้ผสมปูนหรือไม้ทั้งหลัง ไม่ใช่แบบเรือนไทย วังก็เป็นทรงยุโรปแล้ว ซึ่งการตีความของผู้กำกับเรียวนั้น ทำให้ภาพงานสร้างออกแบบมาเห็นภาพได้ชัดเจนมาก แต่ด้วยความที่หนังมีรายละเอียดสูง บางครั้งก็อาจเกิดอุปสรรคที่ไม่คาดคิด

“งานสร้างที่ออกแบบไว้ก็ได้ดังใจตามที่สเก็ตช์ไว้ส่วนหนึ่ง บรรยากาศในหนังทั้งหมดจะเป็นอารมณ์แบบยุคฟาสซิสต์หรือบรรยากาศแบบทหารครองเมือง อาจจะได้ไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีทิศทางที่ใกล้เคียง อย่างฉากบางกอกน้อยถูกระเบิดถล่มจะยุ่งยาก ส่วนที่ไปรษณีย์กลาง ในฉากกองบัญชาการของญี่ปุ่นนั้นไม่ยุ่งยาก เพราะโลเกชั่นตรงกับยุคสมัยที่เราคิดไว้ ที่มีปัญหาคือของที่หาไม่ได้ แต่ก็มีการทำให้ใกล้เคียงมากที่สุด อย่างฉากห้องนอน มีการถกเถียงว่าโกโบริและอังศุมาลินจะนอนเตียงแบบไหน ต้องมีการศึกษาว่าทหารญี่ปุ่นนอนยังไง พับผ้ายังไง”

ถึงจะเป็นงานสร้างที่ไม่ได้ออกมาร้อยเปอร์เซ็นต์ตามที่บุญชัยออกแบบไว้ แต่ก็นับว่าเป็นความใกล้เคียงอันน่าพอใจแล้ว โดยเฉพาะฉากระเบิด มีการขนเอาเศษเหล็กถึง 3 ตัน เพื่อทำให้เป็นเหมือนซากรถไฟที่ถูกระเบิดจริงๆ หรือการใช้ระเบิดที่ลูกใหญ่มากลูกหนึ่งในวงการหนังไทย ให้ภาพแรงระเบิดสูงที่กว่า 30 เมตร รวมไปถึงการออกแบบสถานีรถไฟบางกอกน้อย ทีมงานต้องหาข้อมูลกันอยู่ 5 เดือนเต็ม ซึ่งมีเพียงสเก็ตร่างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และภาพถ่ายที่ได้มาจากชาวญี่ปุ่นเท่านั้น

ซึ่งถ้าไม่นับเรื่องการออกแบบฉากต่างๆ โดยทีมงามที่ต้องทำให้สมจริงมากที่สุด สิ่งที่ผู้กำกับให้ความสำคัญคือเรื่องของแสงที่ใช้ในภาพยนตร์

“สิ่งที่น่าสนใจของการสร้างหนังเรื่องนี้ คือการรอใช้แสงธรรมชาติให้เป็นประโยชน์จริงๆ จึงมีเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ จะเน้นความสมจริงในบรรยากาศ คนดูจะได้เห็นแสงเช้าแสงเย็นจริงๆ ไม่ใช่แสงที่เซ็ตขึ้น” บุญชัยกล่าวจริงจัง ด้วยความที่ทีมงานให้ความสำคัญกับเรื่องช่วงเวลาถ่ายทำ จึงทำให้เกิดอุปสรรคในการยกกองถ่ายข้ามวันเสมอ  

ถึงแม้รายละเอียดของงานสร้างจะมีมากเพียงใด แต่โดยรวมสิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการนำเสนอคือความรู้สึกของตัวละครมากกว่า ซึ่งรายละเอียดต่างๆ จะเป็นเหตุผลที่ทำให้ตัวละครคิดหรือตัดสินใจทำอะไร โดยคงความเป็นหนังรักที่มีฉากหลังเป็นสงครามนั่นเอง

 

ร่องรอยชีวิตที่ปรากฏบนใบหน้า (Makeup Design)

ถือเป็นเกียรติอย่างสูงของ คู่กรรม ฉบับนี้ที่ได้ช่างแต่งหน้ารุ่นใหญ่ ที่เคยผ่านการทำงานใน คู่กรรม ฉบับก่อนหน้ามาแล้วถึง 4 ครั้ง อย่าง มนตรี วัดละเอียด ที่เคยคว้ารางวัลด้านแต่งหน้ายอดเยี่ยมมาแล้วหลายรางวัล

“เหตุผลที่เข้ามาร่วมงานนี้ ก็ด้วยความรู้สึกรักใน คู่กรรม และอยากเห็นว่าเรียวจะทำออกมาเป็นแบบไหน เพราะเขาเป็นผู้กำกับที่ละเอียดมาก”

แม้จะเคยผ่านงานมานับไม่ถ้วน แต่พอมาถึงเรื่องนี้มนตรีกลับยอมรับว่าเป็นงานที่ยาก เพราะเป็นการแต่งหน้าที่ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม แต่เป็นการแต่งหน้าเพื่อความสมจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอยถลอก ผิวไหม้ คราบเขม่าจากดินปืนระเบิด ก็ล้วนแล้วแต่เป็นงานที่หินมาก

“เป็นงานที่ท้าทายและยากมาก เพราะทุกอย่างเขาเน้นความสมจริง การแต่งหน้าให้เหมือนไม่แต่งนี่ยากนะ เคยแอบเติมแอร์แชร์โดว์ให้ณเดชน์แบบเบามาก เขายังแอบเห็น” ช่างแต่งหน้ารุ่นใหญ่เล่าขำๆ

โกโบริและอังศุมาลินที่เห็นในครั้งนี้ จึงไม่ได้เผยความหล่อหรือความสวยให้เห็น แต่เป็นการเผยภาพความเป็นคนที่อยู่ท่ามกลางสงครามจริงๆ

 

มากกว่าสิ่งที่ใช้ปกปิดร่างกาย (Costume Design)

“ความยากของการทำงานในเรื่องนี้ คือการเอาเสื้อผ้าในยุคนั้นมาทำให้ดูวัยรุ่นและมีความเป็นแฟชั่นนิดๆ”       วรธน กฤษณะกลิน ฝ่ายออกแบบเสื้อผ้า เล่าถึงการทำงานด้านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของกองถ่าย ทั้งชุดกิโมโนและชุดวัยรุ่นของอังศุมาลิน ชุดทหารของโกโบริ รวมไปถึงนักแสดงสมทบ ทั้งทหารไทย ทหารต่างชาติอีกมากมาย

คู่กรรม มีความเป็นหนังย้อนยุคอยู่สูง แต่ผู้กำกับก็เลือกที่จะทำเสื้อผ้าของตัวละครไม่ดูเก่าหรือเชยจนเกินไป งานหนักจึงตกอยู่ที่ฝ่ายออกแบบเสื้อผ้า ที่ต้องหาข้อมูลและพิถีพิถันในการเลือกผ้ามาตัดเย็บชุดให้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์

ตอนที่ได้รับการทาบทามมาให้มาดูแลคอสตูมในเรื่อง ก็นึกว่าจะทำได้ไหม เพราะมันเป็นงานพีเรียด ยังไม่เคยมีโอกาสได้ทำ แต่ก็ร่วมงานมากับพี่เรียวหลายเรื่อง ต้องทำการบ้านต้องรีเสิร์ชเยอะมาก อย่างชุดทหาร รูปที่อ้างอิงมาก็มีแต่สีแบบซีเปีย ไม่รู้อันไหนจริงอันไหนปลอมบ้าง เราก็เลยตีความว่าสมัยสงคราม ผ้าที่เขาจะเอามาตัดจะมาเป็นล็อตๆ สีมันก็เลยจะไม่เหมือนกัน และก็ต้องเอาไปฟอกทำสีให้เก่า ให้เหมือนอยู่ในสงคราม แล้วก็ต้องไปตัดร้านที่รับตัดชุดทหาร เพราะเค้าจะมีความคุ้นเคยกับการตัดชุดออกมาให้ดูเนี้ยบ วัดกันเป็นมิลเลยต้องให้เนี้ยบ ให้เป๊ะ  พอใส่แล้วบ่งบอกถึงความมีอำนาจในตำแหน่งนั้นๆ พวกป้ายยศ ตำแหน่ง ก็ต้องให้ถูกต้องตรงที่สุด กระดุมก็ต้องไปหล่อขึ้นใหม่ เรียกว่าพี่เรียว พิถีพิถันในเรื่องความละเอียด และ ความถูกต้องของพวกเครื่องแต่งตัวมาก”

ด้วยความที่เป็นหนังรักวัยรุ่น เสื้อผ้าที่โกโบริและอังศุมาลินใส่จึงเป็นเสื้อผ้าที่ดูทันสมัยตามแบบฉบับวัยรุ่นในยุคนั้น

“หลังจากหนังออกไป คิดว่าก็คงมีคนวิจารณ์มาก เพราะจะไม่เหมือน คู่กรรม ฉบับอื่นๆ เลย แต่ทุกสิ่งที่ทำอยู่บนฐานความจริง แบบเสื้อผ้าก็เป็นในสมัยนั้น เพียงแต่เรามาปรับให้ดูเป็นวัยรุ่นมากขึ้น”

แต่ชุดสำคัญอย่าง “ชุดแต่งงาน” วรธร กล่าวว่าเป็นชุดที่จะต้องให้ถูกต้องตรงเป๊ะตามที่ชาวญี่ปุ่นใส่กันจริงๆ อย่างไม่มีการผิดเพื้ยน

“ ชุดแต่งงานเป็นชุดจากสถานทูต อยากให้ถูกหมดในเรื่องวิธีใส่ ถึงมีเสื้อคลุมก็จริง แต่ว่าเขาก็มีวิธีใส่ก็ได้คุณเซเซ ที่เขาเคยทำให้อังศุมาลินมา 3 ยุคแล้วมาช่วยทำให้ เขารีดแต่ละชั้นๆจนมือเขียวเลย ยุคสงครามช่วงนั้นเป็นศาสนาชินโตหรืออะไรสักอย่างก็ใช้สีขาว การใส่ของเขาพิถีพิถันมาก แม้จะไม่เห็นชุดข้างในแต่ว่าเขาก็ค่อยๆใส่ทีละชั้นๆจนเสร็จใช้เวลาหลายชั่วโมงเหมือนกันในการแต่งชุดแต่งงาน ใส่ชุดเสร็จแล้วนี่ห้ามนั่งห้ามเข้าห้องน้ำเลย “ วรธนกล่าวอย่างติดตลก  

งบประมาณในเรื่องเครื่องแต่งกายของเรื่องนี้ จึงสูงถึงหลักล้านเลยทีเดียว เนื่องจากการใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แม้กระทั่งเครื่องประดับหรือยศต่างๆ ของทหาร ซึ่งมากพอที่จะทำให้เห็นว่าเครื่องแต่งกายมีความหมายมากมายเพียงใด

 

ณ ที่แห่งนั้น เรื่องราวได้เคยเกิดขึ้นจริง (Location)

สถานที่ถ่ายทำของ คู่กรรม ฉบับนี้ เรียกได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ของการสร้างเลยทีเดียว เพราะเป็นการบ่งบอกถึงบรรยากาศของบ้านเมืองในช่วงสงคราม ให้คนดูได้รู้สึกราวกับไปอยู่ในเหตุการณ์จริงๆ ก่อนที่ตัวละครจะช่วยส่งเสริมในเรื่องความรู้สึกต่อไป

ผมเคยดู คู่กรรม ตอนเด็กๆ และก็มีสะสมหนัสือนิยายไว้ พอได้มาทำงานตรงนี้ก็ต้องศึกษาใหม่ ด้วยเนื้อหาของบท ต้องมาดูว่ายุคสมัยของจอมพล.. (8) บ้านเมืองเป็นอย่างไร ยุคนั้นเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลง ทั้งในเรื่องภาษาและวัฒนธรรม จนมาถึงทุกวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากแล้ว” กลธัช วทานิยสกุลเล่าถึงการทำงานที่วัดผลด้วยภาพ

“ผมต้องหาโลเกชั่นมาให้ทีมงานเลือกเยอะมาก ทำงานกันทุกวันแบบไม่ได้หยุด ตระเวนออกไปหากันเป็นวันๆ บางทีผ่านไปเห็นโลเกชั่นที่คิดว่าใช่แล้วก็ถ่ายรูปส่งให้ทีมงาน และ พี่เรียวดู ถ้าทีมชอบเขาก็จะออกมาดูที่โลเกชั่นจริงกันเดี๋ยวนั้นเลย เป็นการทำงานที่เร็วมาก”   

 

หลังจากที่ได้สถานที่ถ่ายที่ถูกใจแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการขออนุญาตเพื่อถ่ายทำ ซึ่งก็เต็มไปด้วยอุปสรรคอีกมากมาย

การเลือกสถานที่ถ่ายในฉากกองบัญชาการทหารญี่ปุ่น ฝ่ายสถานที่ได้เลือกที่ทำการไปรษณีย์กลาง บางรัก ที่มีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมแบบศิลปะสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีความใกล้เคียงกับสถานที่ในประวัติศาสตร์จริงๆ

โลเกชั่นอย่างที่ไปรษณีย์กลาง ซึ่งใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำฉากกองบัญชาการทหารญี่ปุ่นนั้น อยู่ในระหว่างการรื้อ เพื่อตกแต่งใหม่พอดี เราก็ทำเรื่องเข้าไปทางไปรษณีย์ไทย เขาก็ให้การช่วยเหลือ ไปพูดกับทางผู้รับเหมาให้ ซึ่งในยุคนั้นญี่ปุ่นเข้ามายึดสถานที่สำคัญต่างๆ ของบ้านเรา อย่างสถานที่ราชการ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ ด้วย”

ส่วนการเลือกสะพานพุทธมาใช้ถ่ายทำ เป็นสิ่งที่ผู้กำกับตั้งใจเลือกสถานที่ให้ต่างจากวรรณกรรม ซึ่งตามวรรณกรรมฉากนี้จะเป็นฉากที่โกโบริเดินทางเข้าไปในเมืองเพื่อหาอังศุมาลิน ก่อนที่ระเบิดจะลงถล่มเมือง แต่ด้วยงบประมาณที่สูงมากจึงทำไม่ได้ขนาดนั้น จึงเลือกสิ่งที่ดูยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันและทำงานได้จริง โดยที่ความหมายของเรื่องไม่ได้เปลี่ยน

 โลเกชั่นที่สพานพุทธ พี่เรียวเลือกใช้สำหรับการถ่ายทำฉากระเบิดฉากใหญ่ บ่งบอกถึงความเป็น   พีเรียดของเรื่องที่ชัดเจนที่สุด ที่นี่กว่าจะได้มาก็หินมาก เพราะเราต้องขอปิดสะพาน ตั้งแต่ตีห้าถึงเก้าโมงเช้า เราต้องเข้าไปเตรียมงานตั้งแต่เที่ยงคืน นอกจากการใช้บนสะพานแล้วเรายังต้องไปตั้งกล้องที่การไฟฟ้าฝั่งตรงข้าม เราก็ต้องเข้าไปขอเขา 

นอกจากนั้นยังมีเหตุผลว่าสะพานคือสัญลักษณ์ของการข้ามฝั่ง จึงเลือกให้สะพานมีแผลด้วยการทิ้งระเบิดลงและตอบโจทย์ได้ทั้งหมดของเรื่อง ซึ่งตามประวัติศาสตร์จริงสะพานพุทธก็ถูกระเบิดเช่นกัน

เพราะสถานที่ถ่ายทำ หากไม่สมจริงตามยุคสมัยของบท ก็อาจทำให้คนดูไม่เชื่อ แม้จะมีนักแสดงที่ดีก็ตาม

 

ความสมจริงอันร่วมสมัย (Line Producer)

เวลาเอ่ยชื่อโปรเจต์นี้ไปในตอนแรกตอนที่จะต้องไปติดต่อส่วนงานต่างๆ ใครๆ ก็ชอบถามว่า ไม่คิดจะทำเรื่องอื่นเหรอ ทำซ้ำๆ อีกแล้ว พูดแค่ชื่อทุกคนก็เบื่อแล้ว เราก็ต้องบอกไปว่าไม่ใช่นะ มันเป็นการตีความแบบใหม่ของผู้กำกับ คือพี่เรียว  มีมุมมองใหม่ที่ทำให้ร่วมสมัย ไม่ใช่ คู่กรรม แบบเดิมๆทีมงานก็ยังไม่เข้าใจหรอก  แต่ พอเปิดกล้องปุ๊บพี่เรียวจับนางเอกมัดจุกปั๊บ ใช้สรรพนามที่อังศุมาลินเรียกโกโบริเรากับนาย ทุกคนอ๋อเลย เห็นชัดเลยว่านี่ !! เป็นลายเซ็นเฉพาะตัวของพี่เรียว เป็นหนังวัยรุ่นกึ่งสงคราม ”  อัครเดช มณีพลอยเพ็ชร ผู้ช่วยควบคุมการผลิตที่เคยผ่านผลงานมากมายในวงการภาพยนตร์ กล่าวแทนทีมงานทั้งหมด

สิ่งที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอและสนใจถ่ายทำฉากนี้มาตั้งแต่แรกคือฉากงานแต่งงาน เพราะเป็นฉากที่สามารถเล่าบรรยากาศสัมพันธภาพระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในยุคนั้นได้ชัดเจนมาก ภาพคนร่วมงานก็อิงมาจากบุคคลจริงๆ ในประวัติศาสตร์ การแต่งกายก็ดูมาจากภาพจริง ทั้งนายพลนากามูระ (9) หรือแม้กระทั่งจอมพล ป. จึงมีการหานักแสดงหน้าเหมือนบุคคลในประวัติศาสตร์จริงมากที่สุดมาเข้าฉาก ที่สำคัญคือกองทัพทหารญี่ปุ่นใช้นักแสดงที่เป็นชาวญี่ปุ่นจริงๆ ทั้งหมด

นอกจากทีมงานวัยรุ่นของพี่เรียวแล้ว ยังต้องไปพึ่งความช่วยเหลือจากตำรว ทหาร ครบสี่เหล่าเลยทีเดียว เริ่มจากทหารอากาศ เรามีนักเรียนนายเรืออากาศเป็นฑูตแลกเปลี่ยนนักเรียนญี่ปุ่นมาสอนภาษาและฝึกแอ็คติ้งแบบทหารให้ ณเดชน์ รวมไปถึงเล่นเป็นตัวประกอบทหารชาวญี่ปุ่น ด้านกองทัพบกก็ขอทหารมาเข้าฉากเป็นร้อย มีม้าด้วย กองทัพเรือก็ขอเรือมาใช้ ตำรวจก็ประสานงานกับจราจรในการปิดสะพานพุทธ ทำหนังเรื่องนี้รู้สึกใกล้คุกมากเลยอัครเดช หัวเราะ เมื่อเล่าถึงความยากลำบากในการประสานงานกับทหารและตำรวจเพื่อให้เกิดภาพการทำงานตามที่ผู้กำกับออเดอร์มา

ภาพรวมของ คู่กรรม ฉบับนี้คือเป็นหนังรักวัยรุ่นกึ่งสงคราม จึงต้องอาศัยการทำความเข้าใจกันทุกฝ่าย เพื่อจะได้เห็นภาพตรงกันมากที่สุด ก่อนที่ผลลัพธ์ทั้งหมดจะไปปรากฏอยู่ในโรงภาพยนตร์อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

 

การสื่อสารแทนความรู้สึก

ตามท้องเรื่อง โกโบริ เป็นชาวญี่ปุ่นที่สามารถพูดภาษาไทยได้ ซึ่งการที่คนต่างชาติพูดภาษาไทยได้ ก็อาจไม่ได้ชัดมาก จึงจำเป็นต้องสอนให้ณเดชน์พูดภาษาญี่ปุ่น รวมไปถึงการฝึกพูดภาษาไทยให้เป็นสำเนียงญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งอาจจะฟังดูแปลก แต่คือสำเนียงจริงๆ จากคนญี่ปุ่นนั่นเอง

ณเดชน์สอนไม่ยาก สำเนียงญี่ปุ่นดีมาก คำที่เขาออกเสียงชัดมากคือคำว่า ซาโยนาระ เวลาที่เขาแสดงสำเนียงพูดจะไม่เพี้ยนเลย จะมีที่ติดนิสัย ร.เรือมาก แต่ก็แก้ได้ Yasuhiko Miyauchi กล่าวถึงณเดชน์อย่างเป็นกันเอง

 “ส่วน ริชชี่ ก็ตั้งใจมากมาก พูดภาษาญี่ปุ่นชัด และ สำเนียงก็เป็นชาวญี่ปุ่นด้วย”                

เขาคือนักแสดงหนุ่มชาวอาทิตย์อุทัยที่เป็นทั้งครูสอนภาษาญี่ปุ่น และร่วมแสดงในบท อาสึมะ เพื่อนของโกโบริ ที่สำคัญเขาคือที่ปรึกษาทีมงานเรื่องข้อมูลของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ผมเคยอ่าน คู่กรรม ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นมาก่อน รู้สึกว่าทำไมอังศุมาลินใจแข็งเกินไป ปากอย่างใจอย่าง แต่พอมาดูเหตุผลในเรื่องก็โอเค ส่วนโกโบริก็ใจอ่อนเกินไป แต่สุดท้ายทั้งสองก็เปลี่ยนแปลงมารักกันได้ เพราะความรักก็คือสิ่งสวยงาม

ด้วยความที่อยู่เมืองไทยมานานและรักในการแสดง ทำให้ Yasuhiko Miyauchi คือส่วนสำคัญที่ช่วยให้ คู่กรรม ฉบับนี้สมบูรณ์แบบขึ้น

รักของเราจะคงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์

 

“ทำไมต้องสร้าง คู่กรรม อีกครั้ง?”

คือประโยคแรกที่ใครหลายคนพอได้ยินข่าวว่าจะมีการสร้าง คู่กรรม อีกครั้ง เป็นต้องเอ่ยถาม

และยังจะมีคำถามอีกว่า

เพราะเหตุใด?

‘สงคราม’ จึงก่อให้เกิด ‘ความรัก’ ของพวกเขาทั้งสองขึ้น

และเพราะเหตุใด?  ‘สงคราม’ จึงได้ทำลาย ‘ความรัก’ ของพวกเขาทั้งสองลง

คำตอบทั้งหมดอยู่ในโรงภาพยนตร์เรียบร้อยแล้ว

4 เมษายน 56

ความรักของพวกเขาทั้งสองจะคงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์

เชิงอรรถ 

(1)     ทมยันตี เป็นนามปากกาของ คุณหญิงวิมล เจียมเจริญ ผู้สร้างสรรค์ผลงานนวนิยายมานับร้อยเรื่อง อย่าง คู่กรรม, ทวิภพ, อตีตา, แก้วกลางดง แต่ละเรื่องมีผู้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายยุคหลายสมัย

(2)     นิตยสารศรีสยาม เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ในเครือนิตยสารขวัญเรือน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2509 โดยตีพิมพ์นวนิยายจากนักเขียนชื่อดัง เช่น พนมเทียน, ทมยันตี, เศก ดุสิต

(3)     ขณะที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม อยู่นั้น วรุฒ วรธรรม มีอายุเพียง 19 ปี ซึ่งน้อยกว่า ณเดชน์ คูกิมิยะ ที่ปัจจุบันอายุ 21 ปี

(4)     ก่อนที่ ธงไชย แมคอินไตย์ จะมารับบท โกโบริ ในภาพยนตร์เมื่อปีพ.ศ. 2538 ก่อนหน้านั้นเขาเคยรับบทโกโบริในละครเมื่อปีพ.ศ. 2533 มาแล้ว

(5)     ความจริงแล้ว ณเดชน์ คูกิมิยะ มีเชื้อสายไทย – ออสเตรีย ไม่ได้มีเชื้อสายญี่ปุ่น ซึ่งนามสกุล คูกิมิยะ นั้นได้มาจากบิดาบุญธรรมที่รับอุปการะ

(6)     ริชชี่ – อรเณศ ดีคาบาเลส นอกจากจะเป็นนักกีฬาแบดมินตันเยาวชนแล้ว เธอยังเคยร่วมประกวดมิสทีนไทยแลนด์ 2011 อีกด้วย การได้มารับบท อังศุมาลิน มาจากการแคสติ้งของทางค่าย M๓๙ โดยตรง ซึ่งต้องการนางเอกที่สามารถพายเรือได้ และริชชี่ก็สามารถแคสติ้งผ่านมาได้

(7)     เช กูวารา นักปฏิวัติลัทธิมากซ์ชาวอาร์เจนตินา และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม 26 กรกฎาคมของฟีเดล กัสโตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปฏิวัติประเทศคิวบาเมื่อปีพ.ศ. 2502 เขาถูกจับและสังหาร ขณะที่กำลังสร้างความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศโบลิเวีย ทำให้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติของหนุ่มสาวทั่วโลกมาจนถึงทุกวันนี้

(8)     จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีเวลาดำรงตำแหน่งรวมกันมากที่สุดของไทย คือ 14 ปี 11 เดือน 18 วัน รวม 8 สมัย เป็นที่จดจำจากนโยบายที่ให้ประชาชนรักชาติผ่านการปลุกระดม และเป็นผู้เปลี่ยนชื่อจาก ‘ประเทศสยาม’ มาเป็น ‘ประเทศไทย’ คำขวัญที่รู้จักกันดีของนายกรัฐมนตรีผู้นี้คือ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” เขาคือนักเผด็จการทางทหารที่มีบทบาททางการเมืองสูง และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยอย่างมากในยุคนั้น

(9)     พลเอก อาเคโตะ นากามูระ เป็นผู้บัญชาการกองกำลังญี่ปุ่นในประเทศไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ถือเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทยในช่วงนั้น นายพลนากามูระได้ใช้ความเป็นชาวพุทธแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างกองกำลังญี่ปุ่นกับชาวไทย และสามารถปกครองทหารญี่ปุ่นนับแสนคนที่พ่ายแพ้สงคราม และต้องรอคอยการขนส่งกลับบ้านอีกหลายเดือนให้อยู่ในระเบียบวินัยได้

CAST นักแสดงนำ
KOBORI NADECH KUGIMIYA
โกโบริ ณเดชน์ คูกิมิยะ
ANGSUMALIN ORANATE D.CABALLES
อังศุมาลิน อรเณศ ดีคาบาเลส
WANAS NITHIT VARAYANONT
วนัส นิธิศ วารายานนท์

SPECIAL APPEARANCE นักแสดงรับเชิญ
ANGSUMALIN’S FATHER KULPONG BUNNAG
หลวงชลาสินธุ์ กุลพงศ์ บุญนาค
PHOL SURACHAI JUNTIMATORN
ตาผล สุรชัย จันทิมาธร
BUA MONGKOL UTOG
ตาบัว มงคล อุทก

SUPPORTING ACTOR นักแสดงสมทบ
Dr. AZUMA PERON YASU
หมออาซูมะ แปะร้อน ยาซึ
MRS. AORN MAYREEYA MUNGSIRI
แม่อร เมรียา มุ่งศิริ
YAI JAM-NIAN CHARERNSUB
ยาย เนียร เจริญทรัพย์
Dr. YOSHI TETSUNOBU TANIKAWA
หมอโยชิ ทัตสึโนบุ ทานิกาว่า
JAPANESE ARMY COMMANDER NORIO SUZUKI
ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่น โนริโอะ ซึซึกิ
THE COMMANDER IN CHIEF KIRADEJ KETAKINTA
ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่น กิรเดช เกตกินทะ
TOBI TOSHIYUKI GOTO
โทบิ โตชิยูกิ โกโต
MICHAEL DARREN FOX
ไมเคิล ดาเรน ฟ๊อกส์
GERMAN SOLDIERS #1 ULRICH KLUG
ทหารเยอรมัน 1 อัวริช คลูก
GERMAN SOLDIERS #2 ULRICH GOTTLIEB
ทหารเยอรมัน 2 อัวริช ก็อดลีบ
ANGSUMALIN’S FATHER’S FOLLOWER NIPON JITKERT
ผู้ติดตามหลวงชลาสินธุ์ นิพนธ์ จิตเกิด