บางกอกกล๊าสฯ ปรับภาพลักษณ์ใหญ่ ทุ่มงบกว่า 5,000 ล้านบาท เดินหน้าขยายกำลังการผลิต ผนึกยักษ์สวิตฯ ผุดรง.ในไทยรับการเติบโต พร้อมก้าวสู่ความเป็น TOTAL GLASS SOLUTIONS

บางกอกกล๊าส หรือบีจี  ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ เดินหน้าต่อยอดธุรกิจครั้งใหญ่หลังการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ขององค์กรทั้งภายนอกและภายในเพื่อรองรับเป้าหมายการเติบโตของอุตสาหกรรมกระจกอย่างเต็มตัว ตามแผนระยะสั้น 3-5 ปี สู่วิชั่นการดำเนินธุรกิจแก้วอย่างครบวงจร พร้อมร่วมต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่  จับมือผู้ผลิตกระจกรายใหญ่จากสวิตฯ ขยายกำลังการผลิตทั้งในส่วนกระจกแผ่น รวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท มั่นใจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำผู้นำผลิตภัณฑ์แก้วที่คลอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างเต็มรูปแบบ

นายปวิณ  ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BG  ผู้นำทางด้านบรรจุภัณฑ์แก้วครบวงจร ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า “บริษัท บางกอกกล๊าสฯ ได้พัฒนาศักยภาพการเติบโตในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยประสบการณ์ที่มีมายาวนานกว่า 40 ปี ประกอบกับการพัฒนากระบวนการผลิตอย่างไม่หยุดนิ่ง สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้อย่างหลากหลาย จนก้าวขึ้นสู่ผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แก้วในแถบ AEC และเพื่อยืนยันในเจตนารมย์ ในการก้าวขึ้นสู่ความเป็น TOTAL GLASS  SOLUTIONS โดยในปี 2560 หลังบริษัทฯ ได้ดำเนินนโยบายการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตและตอบสนองการขยายการลงทุนใหม่ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ พร้อมดำเนินนโยบายเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายและสาธารณะชนทั่วไป  ซึ่งเป้าหมายการรีแบรนด์ในครั้งนี้ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแค่เพิ่มหน่วยธุรกิจ (BU) ใหม่  แต่ต้องเปลี่ยนทั้งโครงสร้างขององค์กรและนโยบายขององค์กร จากการมุ่งเน้นการผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ มาเป็นการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก้วครบวงจร โดยเริ่มต่อยอดสู่ธุรกิจกระจกแผ่น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะขยายไปสู่กลุ่มวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีกด้วย และที่สำคัญการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในส่วนต่าง ๆ ขององค์กรที่มีมากว่า 40 ปี และพนักงานที่มีกว่า 4,500 คนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

“โดยในระยะแรก เราเริ่มปรับเปลี่ยนตำแหน่งคนตั้งแต่ 4-5 ปี ที่แล้ว จากการเพิ่มโรงงานการผลิต มีการสลับสับเปลี่ยนคนไปอยู่โรงงานอื่น ๆ โดยใช้วิธีค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เรียนรู้งานในส่วนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ส่วนด้านเทคนิคนั้น ไม่มีปัญหา ด้วยโรงงานการผลิตที่มีกว่า 5-6 โรงงาน พร้อมผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยให้การผลิตเป็นไปอย่างราบรื่น และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของการปรับภาพลักษณ์ในครั้งนี้ ด้วยสโลแกนที่ว่า  Invent to Inspire พลังสร้างสรรค์ไม่มีวันหมด ผมอยากจะทำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับแก้วให้ครอบคลุมตลาดทุกประเภท จากที่ก่อนหน้านั้น เรามอง บีจี เป็น Packaging Company ที่สามารถส่งออก ให้ลูกค้าอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยศักยภาพ และความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งหลังจากที่ธุรกิจเติบโตไปถึงจุด ๆ หนึ่งเรากลับพบว่า ถ้าเราหันไปดูผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์แก้วแต่เป็นแก้ว
จะเห็นชัดว่า แค่เราตื่นมาทุกเช้าตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งกลับไปนอนอีกครั้งหนึ่ง เราจะต้องเห็นสิ่งของ
ต่าง ๆ ที่มีชิ้นส่วนทำมาจากแก้ว ไม่ว่าจะเป็น แว่นตา โทรศัพท์มือถือ นาฬิกา เป็นต้น เราเลยมองว่านี่อาจจะเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะขยายไปสู่ธุรกิจอื่นที่ต่อยอดมาจากแก้ว โดยเฉพาะตัวกระจกแผ่น เพราะว่าประเทศไทยยังมีผู้ผลิตกระจกแผ่นอยู่ไม่มาก ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศ และเรายังมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดในส่วนนี้ ซึ่งการที่เราเป็นผู้ผลิตกระจกเองนั้น จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และสามารถเพิ่มมูลค่ากระจกโดยที่ไม่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับลูกค้า ดังนั้นโจทย์ก็เลยหันไปทาง glass solution ซึ่งเราก็คิดว่า step แรกของเราคือตัว basic glass หรือ กระจกแผ่น ที่จะตอบโจทย์ในการสร้างมูลค่าต่อไปในอนาคต

โดยปีนี้เราจะ Concentrate กับกระจกแผ่นก่อน เพราะมันเป็นโปรเจกต์ใหญ่มาก และเราคิดว่าเราต้องปรับให้ได้ตามกลยุทธ์ที่เราวางไว้ เพราะฉะนั้นตรงนี้คือตัวที่ตอบโจทย์ในธุรกิจ สามารถที่จะขยายออกไปโดยที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด สเต็ปต่อไปเราก็คงเริ่มที่จะไปวางโรงงานที่จะเพิ่มมูลค่าให้กระจกแผ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ลามิเนท แทมเปอร์ หรืออื่น ๆ ที่เราคิดว่าเป็นที่ต้องการของตลาดยุคนี้ รวมไปถึงการพัฒนาตัว Low Energy Glass ให้มันสมดุลกับราคาที่ไม่แพงเหมือนกับการนำเข้า แล้วก็เซ็ตมาตรฐานให้เป็นรูปธรรมในระดับสากล ซึ่งเราได้นำความรู้และเทคโนโลยีมาจาก บริษัท กลาส เทรอช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกระจกรายใหญ่จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือได้ว่าผลประโยชน์อยู่กับคนใช้จริง ๆ ไม่ใช่เซ็ตขึ้นมาว่านี่เป็น Low Energy แต่คุณภาพไม่ได้ตามที่หวังไว้ เพราะหัวใจการขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบัน คือ System ซึ่งระบบการบริหารจัดการเราค่อนข้างดี มีทีมงานเข้ามาเลือกด้วย ไม่ใช่แค่คนเดียวที่สามารถบอกได้ว่าต้องเดินแบบนี้ ” นายปวิณกล่าว และเพิ่มเติมว่า

“ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์แล้ว บุคลากรเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะตรงนั้นเราเน้นมาตลอด โดยปีนี้เราจะเปิด Glass Academy ขึ้นมา ซึ่งได้เทคโนโลยีและความรู้ จากพันธมิตรจากต่างประเทศ ในความร่วมมือเพื่อพัฒนาตัวบุคลากรของบริษัทฯ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ จุดประสงค์หลัก ของบริษัทฯ คือต้องการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้ทันการเติบโตของธุรกิจ “การที่ไปซื้อบุคลากรจากข้างนอกเข้ามานั้นไม่ได้เป็นการตอบโจทย์ในระยะยาว สุดท้ายเรามองว่าถ้าเราต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรภายในองค์กร โดยเริ่มจากการพัฒนาศักยภาพ ความรู้ด้านต่าง ๆ ของบุคลากรให้เติบโตไปพร้อม ๆ กับบริษัทฯ หากไม่เริ่มตอนนี้จะเริ่มเมื่อไหร่ ซึ่งคิดว่าการเริ่มตรงนี้จะเห็นผลใน 5 ปีข้างหน้า และต่อไปในระยะยาว”

บีจี มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ส่งมอบประสบการณ์ดีๆ ในธุรกิจแก้วแบบครบวงจร นำเสนอผลิตภัณฑ์แก้วที่ครอบคลุมทุกวิถีการดำเนินชีวิต (Lifestyle) โดยตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้า ทั้งในเรื่องของการประหยัดพลังงาน ประโยชน์ใช้สอย ความสวยงาม และราคาที่เหมาะสม ด้วยมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจร่วมกับคู่ค้าบนพื้นฐานของความไว้วางใจ สร้างความสัมพันธ์อันดี เพื่อต่อยอดธุรกิจไปด้วยกันในระยะยาว ไม่เพียงแต่นโยบายการดำเนินงานทางธุรกิจอย่างโปร่งใส บริษัทฯ ยังเป็นองค์กรที่ดีของสังคม มีการบริหารจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและชุมชน

“ภาพรวมความสำเร็จที่ผ่านมาเป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดและกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ด้วยกำลังการผลิต 3,335 ตันต่อวัน กำลังการผลิตประมาณ 4,500 ล้านขวดต่อปี โดยในส่วนบรรจุภัณฑ์ขวด ประมาณ 50 % ผลิตให้กับเครือบุญรอด อีก 50 % ให้ลูกค้าภายนอก หลักๆ เป็น อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขวดยา และอีก 6-7% จะเป็นตลาดส่งออก ”

สำหรับเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้า การเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์แก้วครบวงจร ทางบริษัทฯ จึงได้เดินหน้าขยายฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์ รองรับการเติบโตของธุรกิจ และต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี ขอนแก่น ระยอง ปราจีนบุรี และอยุธยา รวมกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วปัจจุบัน 3,335 ตันต่อวัน โดยบริษัทฯ เดินหน้าขยายโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วเพิ่มอีก 1 แห่ง ที่จังหวัดราชบุรี กำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วเพิ่มขึ้น 320 ตันต่อวัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,655 ตันต่อวัน พร้อมขยายและต่อยอดธุรกิจกระจก BGF โดยจับมือกับพันธมิตร บริษัท กลาส เทรอช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกระจกรายใหญ่จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จัดตั้งโรงงานผลิตกระจกแห่งแรกที่จังหวัดปราจีนบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี พ.ศ. 2560 มีกำลังการผลิต 219,000 ตันต่อปี งบประมาณก่อตั้งโรงงานกระจก ประมาณ 5,000 ล้านบาท และบริษัท ฯ ยังมุ่งมั่นในการพัฒนาเพื่อให้สอดรับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ประกอบด้วย การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพ  สร้างความพึงพอใจผ่านการบริการและส่งมอบประสบการณ์ใหม่ ๆ ไปสู่ลูกค้าต่อไป “นายปวิณ กล่าวสรุป