ปลุกกระแสผู้ประกอบการสู่อุตสาหกรรมอาหาร 4.0 ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยี

นักวิชาการชี้ผู้ประกอบการต้องเร่งเตรียมพร้อมรับมืออุตสาหกรรม 4.0 ทำความเข้าใจเรื่องการเชื่อมโยงเทคโนโลยีดิจิทัลแบบเรียลไทม์เข้ากับระบบการผลิต พัฒนาบุคลากร และให้ความสำคัญกับระบบการจัดเก็บข้อมูล ขณะที่ภาครัฐควรสนับสนุนให้โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า และไอซีที มีความเสถียรและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เผยผลการศึกษาเฉพาะอุตสาหกรรมปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน สับปะรด และข้าวโพดหวานกระป๋อง พบเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ในระดับอุตสาหกรรมยุค 2.5 คาดอุตสาหกรรมอาหารอาจต้องรับศึกหนัก เพราะวัตถุดิบทางการเกษตรไม่ได้มาตรฐานเหมือนอุตสาหกรรมอื่น ใช้ระบบอัตโนมัติไม่ได้ทุกขั้นตอน การแปรรูปยังต้องอาศัยความชำนาญจากแรงงานคน หากจะก้าวกระโดดไปสู่ยุค 4.0 ต้องปรับปรุงหลายด้าน แนะให้ทยอยทำทีละส่วน ใช้วิธีพัฒนาและต่อยอด พร้อมแปลงร่างเป็น Smart Factory หากคุ้มค่าแก่การลงทุน วอนภาครัฐสนับสนุนมาตรการด้านภาษี แหล่งเงินทุน อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนที่จูงใจ

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “เปิดแนวคิด Industry 4.0 เรียนรู้ รับ รุก อุตสาหกรรมอาหารไทย” ที่สถาบันอาหารจัดขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาศูนย์สารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมอาหารปี2559 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมว่า อุตสาหกรรม 4.0 จะมีส่วนช่วยยกระดับผลิตภาพให้กับภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้พบว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเข้าสู่ 4.0 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ราว 3-5% ขณะที่ต้นทุนการซ่อมบำรุงเครื่องจักรจะลดลง 10-40% การพยากรณ์การผลิตมีความแม่นยำมากขึ้นมากกว่า 85% ระยะเวลาในการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดลดลง 20-50% ต้นทุนในการถือครองสต็อคลดลง 20-50% ประสิทธิภาพแรงงานทักษะเพิ่มขึ้น 45-55% อัตราการหยุดทำงานของเครื่องจักรลดลง 30-50% และต้นทุนในการประกันคุณภาพลดลง 10-20%

ดร.กมลพรรณ แสงมหาชัย ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการพลังงานและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แนวคิดอุตสาหกรรม 4.0 คือการทำให้กระบวนการผลิตสินค้าเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล หรือแม้กระทั่งทำให้ตัวสินค้าเองเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล ในรูปแบบ “Internet of Things” (IoT) นั้น คาดกันว่าในปี 2568 Internet of Things ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมทุกประเภททั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 1.2 – 3.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสัดส่วน 60% อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว และอีก 40% ในประเทศกำลังพัฒนา เฉพาะในอาเซียนจะมีการนำ Internet of things และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้

ซึ่งจะสามารถทำกำไรให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ราว 25 – 45 พันล้านเหรียญ เนื่องจากสามารถนำข้อมูลที่เป็นความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าในแบบเรียลไทม์(real time)มาวิเคราะห์ และวางแผนการผลิตให้เหมาะสม เป็นการลดต้นทุน และลดความสูญเสียจากการผลิตได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการใช้พลังงานได้ 10 – 20% และลดการใช้แรงงานคนได้ 10 – 25%

“ยืนยันว่าอุตสาหกรรม 4.0 ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน ในหลายๆ ประเทศทำแล้ว ทำได้จริง แม้จะยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็น Smart Factory ในทุกขั้นตอนการผลิต 100% แต่เป้าหมายของการเป็นโรงงานในยุค 4.0 ก็คือมีการผลิตแบบอัตโนมัติอย่างชาญฉลาด โดยมีข้อมูลเป็นฐานรองรับ มีการส่งข้อมูลเชื่อมต่อกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อทราบเป้าหมายการผลิตที่ชัดเจน ขณะนี้จีนประกาศจะทำ Smart Factory ให้ได้ 30,000 โรง ภายใน 5 ปี หวังเป็นแหล่งผลิตสินค้าต้นทุนต่ำและมีสินค้าหลากหลายมากที่สุดในโลก ขณะที่เกาหลีใต้ กำลังเดินหน้าทำ Smart Factory ให้ได้เป้าหมาย 10,000 โรงภายใน 5 ปี เช่นกัน”

ดร.กมลพรรณ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการนำอุตสาหกรรมของไทยเข้าสู่ยุค 4.0 นั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าที่มีความเสถียร โรงงานต้องมีพลังงานไฟฟ้าสำรองเพียงพอ หากมีปัญหาไฟฟ้ากระตุกหรือดับจะกลายเป็นอุปสรรคทันที นอกจากนี้ต้องมีการเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมและรองรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โรงงานต้องมีการจัดการศูนย์ข้อมูล ประมวลผล วิเคราะห์ และมีระบบรักษาความปลอดภัยสูง จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการออกแบบโรงงาน การใช้เครื่องจักร และระบบการผลิตอันชาญฉลาดต่อไป

นายจีระศักดิ์ คำสุริย์ ผู้เชี่ยวชาญ ฝ่ายวิจัยและข้อมูล สถาบันอาหาร เผยผลการศึกษาวิจัย “เตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมอาหารสู่ Industry 4.0” เพื่อทราบระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยว่าอยู่ในยุคใด และเพื่อประเมินความพร้อมในการก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยศึกษาเฉพาะอุตสาหกรรมปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน สับปะรด และข้าวโพดหวานกระป๋อง จากองค์ประกอบในการชี้วัดคุณลักษณะด้านการผลิต อาทิ ประเภทเครื่องจักร/ระบบการผลิต, ระบบการควบคุมและสั่งงาน,พลังงานที่ใช้,ลักษณะการควบคุม, จำนวนแรงงาน, ของเสียจากการผลิต เป็นต้น และคุณลักษณะของสินค้า อาทิ รูปแบบสินค้า,ปริมาณ, ความหลากหลาย,คุณภาพ,กลุ่มผู้บริโภค เป็นต้น พบว่า มีเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ในระดับอุตสาหกรรมยุค 2.5

“อุตสาหกรรมอาหารมีความแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะโรงงานแปรรูปอาหาร ที่ต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตรซึ่งมักอยู่นอกเหนือการควบคุม ทั้งขนาด สี กลิ่น รสชาติ มีรูปร่างลักษณะไม่สม่ำเสมอ เราไม่สามารถใช้ระบบอัตโนมัติได้ทุกขั้นตอน การแปรรูปวัตถุดิบบางประเภทยังต้องอาศัยความชำนาญพึ่งพาแรงงานคน การก้าวกระโดดจากยุค 2.5 ไปสู่ 4.0 จำเป็นต้องศึกษาความคุ้มค่าในการ
ลงทุนเพื่อเข้าถึงเครื่องจักรและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามอาจต้องพิจารณาระบบการผลิตในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ ซึ่งเท่าที่ทราบปัจจุบันโรงงานผลิตเครื่องดื่มขนาดใหญ่ของไทยส่วนใหญ่มีระบบการผลิตอยู่ในยุค 3.0 ซึ่งมีศักยภาพและความพร้อมจะก้าวเข้าสู่ยุค4.0 ได้ทันที หากสามารถเข้าถึงข้อมูลจากผู้บริโภคแบบเรียลไทม์”

จากการศึกษาพบว่า ปัญหาของผู้ประกอบการในการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 แบ่งเป็น 5 ด้านได้แก่ ด้านเทคโนโลยี พบว่าเครื่องจักรเก่าและล้าสมัย, การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี/เครื่องจักร ด้านบุคลากรพบว่าบุคลากรในสายงานการผลิตขาดความรู้/ความชำนาญด้านเทคนิค, ขาดแคลนบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีด้านการผลิต ด้านองค์ความรู้ พบว่าผู้บริหารโรงงานไม่มีองค์ความรู้ในระบบ ทำให้เป็นอุปสรรคในการต่อยอดเทคโนโลยี ด้านเงินทุน พบว่าขาดแคลนเงินทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงาน ด้านการจัดการ พบว่าผู้บริหารมองไม่เห็นถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการพัฒนาไปเป็น 4.0 และการผลิตในบางขั้นตอนไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้

นายพรชัย พูลสุขสมบัติ ประธานกรรมการ บมจ.สยามอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร กล่าวว่า “ผู้บริหารภาคเอกชนต้องเข้าใจเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 จึงจะพัฒนาไปได้ จะให้ทำ Smart Factory ก็ทำได้ แต่ประเด็นอยู่ที่เรามีเงินลงทุนขนาดไหน และถึงเวลาหรือยัง อุตสาหกรรมอาหารกำไรต่อหน่วยค่อนข้างน้อย แต่ก็ยอมรับและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง คิดว่ายังไงเราก็ต้องไปสู่ 4.0 ถ้าเราไม่ตามกระแส หมายถึงเราตกขบวน และเราก็ต้องออกจากอุตสาหกรรม สุดท้ายถ้าไม่มีแรงงานต่างชาติจะทำอย่างไร เครื่องจักรก็ต้องมาแทนที่ เพราะมีความแม่นยำ เชื่อถือได้ หากดูแลรักษาให้ดีก็จะลดต้นทุนได้มาก อุตสาหกรรมอาหารจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเพื่อซื้ออนาคต แต่ขอให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนทั้งมาตรการด้านภาษี แหล่งเงินทุน อัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนที่จูงใจ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในระดับผู้เชี่ยวชาญแก่บุคลากรในองค์กรเพื่อลดต้นทุนการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ”