สถาบันอาหาร – สภาหอการค้าฯ – สภาอุตสาหกรรม ชี้สิ้นปี 57 ไทยส่งออกอาหารแตะ 1 ล้านล้านเป็นครั้งแรก

03การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหาร โดย สถาบันอาหาร สภาหอการค้าฯ และ สภาอุตสาหกรรมฯ เผยส่งออกอาหาร 10 เดือนแรกปี 57 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.5 ด้วยมูลค่า 851,223  ล้านบาท ผลจากเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคขยายตัว โดยเฉพาะอาเซียน และจีน   มั่นใจสิ้นปี 57 มูลค่าส่งออกจะขึ้นสูงถึง 1.01 ล้านล้านบาท  ขยายตัวร้อยละ 15.4  สินค้าข้าว มันสำปะหลัง ไก่ เครื่องปรุงรส และสับปะรดกระป๋อง มีแนวโน้มเติบโตดี ขณะที่ น้ำตาลทราย ปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้งยังทรงตัว คาดส่งออกปี 58 จะมีมูลค่าราว 1.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9  เหตุเศรษฐกิจโลกขยายตัว เงินบาทอ่อนค่า ราคาน้ำมันลดลง แต่อาจต้องเผชิญปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แนะตลาดส่งออกไปจีน เวียดนาม สหรัฐอาหรับ   เอมิเรตส์ และรัสเซีย ยังคงเนื้อหอม กำลังซื้อสูง และเติบโตดี

การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดย สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย   และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เรื่อง สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2557  และคาดการณ์แนวโน้มส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2558 มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายสัตวแพทย์บุญเพ็ง สันติวัฒนธรรม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร         สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมให้รายละเอียดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

               นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center โดยพบว่า การส่งออกสินค้าอาหารไทย 10 เดือนแรกปี 2557 มีมูลค่า 851,223 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 เทียบจากช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคขยายตัว โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน และจีน ทำให้ความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าเพื่อการบริโภคขยายตัว ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ราคาสินค้าเกษตร และวัตถุดิบอ่อนตัว ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงสินค้าแข่งขันได้ดีขึ้น ประกอบกับตลาดใหม่อย่างรัสเซียเริ่มนำเข้าอาหารจากไทยมากขึ้น

หากพิจารณาสินค้าส่งออกหลัก 8 สินค้า พบว่า สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นประกอบด้วย 5 สินค้า ได้แก่ ข้าว มูลค่า 139,819 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 27.0  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 76,056 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.5 ไก่ มูลค่า 66,314 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.3 เครื่องปรุงรส มูลค่า 15,876 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.0 และสับปะรดกระป๋อง มูลค่า 13,915 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.0 ส่วนอีก 3 สินค้า มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ น้ำตาลทราย มูลค่า 73,123 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.5 ปลาทูน่ากระป๋อง มูลค่า 64,073 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.6 และกุ้ง  มูลค่า 52,968 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.5
   
นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า ตลาดส่งออกอาหารของไทยในช่วง 10 เดือนแรกปี 2557  พบว่า 5 อันดับแรกที่ไทยส่งออกสูงสุด ได้แก่ อันดับ 1 คือ อาเซียน สัดส่วนส่งออกร้อยละ 22.1 รองลงมา คือ ญี่ปุ่น ร้อยละ 12.9  จีน  ร้อยละ11.7 สหภาพยุโรป ร้อยละ 11.0 และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 10.6 โดยการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนและจีนขยายตัวสูง

ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ขยายตัวต่ำ ทั้งนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า   การส่งออกอาหารของไทยมีแนวโน้มพึ่งพิงตลาดในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะอาเซียนและจีน และลดการพึ่งพิงตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นลง

“สำหรับภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยตลอดปี 2557 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.01 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าอาหารแตะระดับมูลค่าล้านล้านบาทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยแนวโน้มส่งออกอาหารไทยไตรมาสสุดท้าย คาดว่าจะขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องเพราะเข้าสู่ช่วงฤดูการส่งมอบสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มอาหารแปรรูปที่ผู้นำเข้าจะเริ่มสต็อกสินค้าไว้จำหน่ายในช่วงฤดูหนาวและเทศกาลปลายปี ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าลงเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนการส่งออก
กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 5 สินค้า ได้แก่ ข้าว ปริมาณการส่งออก 10.28 ล้านตัน มูลค่า 166,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 มันสำปะหลัง(ไม่รวมแป้ง) ปริมาณการส่งออก 10.36 ล้านตัน มูลค่า 92,537 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 ไก่ ปริมาณการส่งออก 6.14 แสนตัน มูลค่า 81,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 เครื่องปรุงรส ปริมาณ 2.82 แสนตัน มูลค่า 18,945 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 และสับปะรดกระป๋อง ปริมาณการส่งออก 5.80 แสนตัน มูลค่า 17,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ขณะที่มี 3 สินค้าที่มูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ น้ำตาลทราย ปริมาณการส่งออก 5.70 ล้านตัน มูลค่า 79,781 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.7 ปลาทูน่ากระป๋อง ปริมาณการส่งออก 5.96 แสนตัน มูลค่า 77,431 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.3 และกุ้งปริมาณการส่งออก 1.64 แสนตัน มูลค่า 64,798 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.5
นายเพ็ชร กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกอาหารของไทยปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่าราว 1.08 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกขยายตัว เงินบาทอ่อนค่า ราคาน้ำมันลดลง ส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตและขนส่ง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งอานิสงส์จากตลาดใหม่อย่างรัสเซียที่หันมานำเข้าสินค้าไทยมากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้รายได้จากการส่งออกสินค้าอาหารลดลง อาทิ ข้าว น้ำตาลทราย ภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ไทยถูกสหภาพยุโรปตัด GSP ทุกสินค้าตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป

สินค้าส่งออกส่วนใหญ่มีมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 6 สินค้า ได้แก่ ข้าว (+2.4%),  ผลิตภัณฑ์      มันสำปะหลัง (+9.4%), ไก่ (+7.1%), กุ้ง (+20.4%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+0.7%) และเครื่องปรุงรส (+7.4%) มีเพียงการส่งออกสับปะรดกระป๋อง (-3.0%)และน้ำตาลทราย (-5.4%)เท่านั้นที่คาดว่าจะหดตัวลง เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนด้านวัตถุดิบ และภัยแล้ง  ตลาดส่งออกอาหารที่น่าสนใจและคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตดีในปี 2558 ได้แก่ จีน เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย

“จีนถือเป็นตลาดใหญ่  กำลังซื้อเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนมีแนวโน้มขาดดุลการค้าอาหารเพิ่มขึ้นทุกปี โดยสินค้าหลักที่มีแนวโน้มเติบโตดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว น้ำตาลทราย ผลไม้สดผลไม้แห้งปลากระป๋อง/   แปรรูป Snack/ขนมปังกรอบ ถั่วลิสงอบกรอบ เครื่องปรุงรส เส้นหมี่เส้นก๋วยเตี๋ยว และผลไม้กวน ส่วนเวียดนาม เป็นตลาดขนาดใหญ่ ผู้บริโภคมีหลายระดับ นิยมสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทย รวมทั้งเป็นฐานการแปรรูปสินค้าอาหารสำคัญของภูมิภาค สินค้าหลักที่มีแนวโน้มเติบโตดี ได้แก่ Energy Drink ผลไม้สด ผลไม้แห้ง อาหารสำหรับทารก อาหารทะเลแช่แข็ง ซุปไก่สกัด มอลต์สกัด Snack/ขนมปังกรอบ
           
 
             ด้านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเมืองท่ากระจายสินค้าอาหารฮาลาลสู่ประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกา รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานจากเอเชียใต้และอาเซียน  สินค้าหลักที่มีแนวโน้มเติบโตดี ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าว น้ำตาลทราย สับปะรดกระป๋อง กาแฟพร้อมดื่ม ไก่ปรุงสุก ข้าวโพดหวานปรุงแต่ง เครื่องปรุงรส

             สำหรับรัสเซีย ซึ่งเป็นตลาดอาหารขนาดใหญ่ และมีกำลังซื้อสูงเช่นกัน โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่านำเข้าสูงกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดรัสเซียมีน้อยมากประมาณ 0.6% ของการนำเข้ารวม ประกอบกับปัจจุบันรัสเซียหาแหล่งนำเข้าสินค้าอาหารใหม่ๆ ทดแทนแหล่งนำเข้าเดิมจึงเป็นโอกาสของสินค้าอาหารไทย โดยพบว่าการส่งออกอาหารไทยไปรัสเซียในช่วงเดือนส.ค.-ต.ค. 2557 มีมูลค่าเฉลี่ยกว่า 700 ล้านบาทต่อเดือน หรือขยายตัวเฉลี่ย 3 เดือน เท่ากับ 38% สินค้าหลักที่มีแนวโน้มเติบโตดี ได้แก่ อาหารทะเลสด ข้าว ข้าวโพดหวานปรุงแต่ง ปลาทูน่ากระป๋อง ไก่แช่แข็งและไก่ปรุงสุก”  นายเพ็ชร กล่าว